MGR Online - ผอ.กองกฎหมาย ปปง.เดินทางเข้าร้องทุกข์ดีเอสไอ ดำเนินคดีฐานฟอกเงินกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ทุจริตโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านเสียหายกว่า 3 หมื่นล้านบาท
วันนี้ (8 ก.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น.ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ พร้อมด้วย พ.ต.ท.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.ศูนย์บริหารคดีพิเศษ ดีเอสไอ นายวิทยา นีติธรรม ผอ.กองกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้าร้องทุกข์ดำเนินคดีกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ มูลค่าความเสียหายทั้งสิ้นกว่า 3 หมื่นล้านบาท
พ.ต.อ.ไพสิฐเปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวประชาชนให้ความสนใจจำนวนมากเนื่องจากเป็นการทุจริตที่มีเจ้าหน้าที่รัฐร่วมกับบริษัทเอกชน โดยเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิดได้ถูกศาลตัดสินลงโทษเรียบร้อยแล้ว ส่วนของบริษัทเอกชนนั้น คำพิพากษาของศาล เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2558 กล่าวชัดเจนว่าร่วมกันกระทำความผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐด้วย ทาง ปปง.ได้มายื่นหนังสือเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษต่อดีเอสไอเพื่อดำเนินคดีฐานฟอกเงินกับบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องแล้ว ทั้งนี้ ทางรัฐได้มีการจ่ายเงินบางส่วนให้แก่บริษัทเอกชนไปบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม ในส่วนคดีอาญานั้นดีเอสไอได้รับดำเนินคดีในฐานฟอกเงิน ส่วนคดีแพ่งทาง ปปง.ก็ดำเนินการไป
ด้านนายวิทยากล่าวว่า สืบเนื่องจากศาลอาญาได้มีคำพิพากษาเมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา ว่าข้าราชการของรัฐร่วมกับบริษัทเอกชนทุจริตโครงการดังกล่าวและทรัพย์สินต่างๆ ที่ได้มาจากโครงการนี้เท่ากับเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำผิด โดยในทางแพ่งนั้น ปปง.ต้องติดตามยึดอายัดเพื่อนำทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต่อไป แต่ขณะเดียวกันทรัพย์สินดังกล่าวหากไปอยู่ในการครอบครองของผู้ใด บุคคลที่ได้รับการครอบครองทรัพย์สินส่วนนี้อาจเข้าข่ายเป็นความผิดทางอาญาฐานฟอกเงิน ซึ่ง ปปง.มีอำนาจในการสืบสวน รวบรวมพยานหลักฐานเพราะว่ามีกลุ่มนิติบุคคลบางกลุ่มมีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อจะมาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนดีเอสไอ
“ส่วนทางแพ่ง ปปง.ดำเนินการไป 2 เรื่อง คือ 1. เมื่อเดือน พ.ค. 2559 คณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติอายัดทรัพย์ที่ต้องจ่ายให้กับกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ในงวดที่ 2 และงวดที่ 3 ซึ่งจะต้องจ่ายให้กว่า 6 พันล้านบาท และล่าสุดเมื่อวานนี้ (7 ก.ค. 2559) คณะกรรมการธุรกรรมมีมติในการอายัดเงินในบัญชีส่วนที่ทาง กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG เคยได้รับเงินไปในงวดแรก 3 พันกว่าล้านบาท และต้องติดตามว่าตรวจสอบว่าใครเป็นคนรับไป สำหรับทรัพย์สินอื่นๆ เนื่องจากว่าโครงการนี้มีความเสียหายกว่า 3 หมื่นล้านบาท โดยทาง ปปง.จะไปติดตามเพราะเป็นนโยบายของ พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการ ปปง.ว่าทรัพย์สินใดเป็นของแผ่นดินต้องกลับคืนแผ่นดินอย่างไม่มีเงื่อนไข
“นอกจากนี้ ได้ให้เวลาบริษัทเอกชน 30 วันเพื่อยื่นคำร้องเข้ามาว่าทรัพย์สินที่ถูกอายัดไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำผิ ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาของ ปปง.” นายวิทยากล่าว