เลขาผู้ตรวจฯ มอง รบ. จะทำหรือไม่ทำตามกฤษฎีกาก็ได้ หลังชี้เสนอตั้งสังฆราชไม่ผิด พ.ร.บ. สงฆ์ แจงเสนอให้นายกฯชงชื่อเอง ก่อนให้ มส. พิจารณา จะได้สะเด็ดน้ำเป็นมาตรฐานทาง กม. เตรียมประชุม 12 ก.ค.
วันนี้ (11 ก.ค.) นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นว่า ขั้นตอนการเสนอชื่อสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ของมหาเถรสมาคม ไม่ขัดมาตรา 7 พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินยังไม่เห็นหนังสือชี้แจงอย่างเป็นทางการ ทราบแต่เพียงจากการนำเสนอของสื่อมวลชนว่า คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นในลักษณะดังกล่าวที่ให้ข้อมูลในเชิงที่ว่ากระบวนการการเสนอชื่อสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ไม่ต้องเริ่มจากนายกรัฐมนตรีก็ได้ ซึ่งต่างจากที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีมติเสนอไปยังรัฐบาล ว่า การดำเนินการของมหาเถรสมาคมนั้นผิดขั้นตอน และยังได้ให้ความเห็นว่า การเสนอชื่อควรจะเริ่มจากนายกรัฐมนตรี และแม้กฎหมายจะไม่ได้ระบุว่า หน่วยงานของรัฐต้องทำตามข้อเสนอของผู้ตรวจฯ ดังนั้น ในกรณีนี้รัฐบาลจะทำตามหรือไม่ก็ได้ แต่ยืนยันว่า มติและความเห็นของผู้ตรวจฯนั้น มีเหตุผล และในลักษณะเดียวกัน ความคิดเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ไม่ได้มีผลผูกพันกับผู้ตรวจฯ เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายของรัฐบาลที่รัฐบาลจะทำตามหรือไม่ก็ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ นายรักษเกชา ยังอธิบายถึงกาณีที่ผู้ตรวจฯมีมติในกรณีดังกล่าว ว่า การเสนอชื่อต้องเริ่มจากนายกรัฐมนตรี จากนั้นก็นำรายชื่อเข้าที่ประชุมมหาเถรสมาคมพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนที่จะนำเรื่องกลับมาที่นายกฯ เพื่อลงนามนำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป การมีมติเช่นนี้เพื่อให้เกิดความความชัดเจน และสะเด็ดน้ำ ทำให้เป็นมาตรฐานทางกฎหมาย และยังเห็นว่า ผู้ที่ลงนามคือ นายกฯ จึงควรที่จะมีสิทธิพิจารณาในกระบวนการดังกล่าวด้วย เพราะไม่ว่าอย่างไร ขั้นตอนนี้ได้มีหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ชัดเจนทั้งในเรื่องความอาวุโสสูงสุด หรือต้องปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงต้องรอฟังความเห็นว่า หากกระบวนนี้เริ่มจากมหาเถรสมาคมได้แล้วส่งเรื่องมายังรัฐบาล รัฐบาลสามารถเห็นต่างได้หรือไม่ และถ้ารัฐบาลเห็นต่างจากมหาเถรสมาคมต้องดำเนินการอย่างไรต่อ อย่างไรก็ตาม ผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมในวันที่ 12 ก.ค. นี้