xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ปัดแก้ ม.7 พ.ร.บ.สงฆ์ แค่ตีความแปลว่า แย้ม รบ.มีทั้งไม่ทำตามกฤษฎีกา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี(แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ ยังไม่ทราบผลกฤษฎีกาตีความปมตั้งสังฆราช แจงตีความเฉพาะ ม.7 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ วรรคสองแปลว่าอะไร ไม่เกี่ยวแก้มาตรา ย้ำ รบ.ไม่ได้สงสัยแค่ทำให้ถูกต้อง ยังไม่ตอบหากความเห็นแต่งตั้งให้เริ่มที่นายกฯ แย้ม รบ.มีทั้งไม่ทำตามกฤษฎีกา ยัน รบ.รู้จังหวะเวลา เมินตอบยังไม่ทูลเกล้าฯ ถวายชื่อ “สมเด็จช่วง” จนกว่าคดีรถหรูจะจบ

วันนี้ (8 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความมาตรา 7 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 เสร็จเรียบร้อยแล้วว่า ขณะนี้ตนยังไม่ทราบว่าผลเป็นอย่างไร เพราะหลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกามีมติแล้วจะทำบันทึกส่งมาที่นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เป็นผู้ขอความเห็นไป หลังจากนั้นจะรายงานมาที่ตน รวมถึงแจ้งผลไปยังมหาเถรสมาคม (มส.) แต่ไม่ต้องนำเข้า ครม. อย่างไรก็ตาม ขอชี้แจงว่าประเด็นที่ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความในครั้งนี้ คือ มาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ วรรคสอง ว่าแปลว่าอะไร การที่จะริเริ่มเอาเรื่องแต่งตั้งพระสังฆราชขึ้นมา มส.สามารถริเริ่มเอง หรือต้องรอให้รัฐบาลขอไปก่อน ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความมาเฉพาะประเด็นนี้ ไม่ได้มีเรื่องที่ให้แก้มาตรา 7 แต่อย่างใด ตนจึงรู้สึกประหลาดใจกับผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการแก้ไขมาตรา 7 เพราะรัฐบาลไม่มีความคิดในการแก้ไข

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าบรรยากาศยังไม่เหมาะสมในการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช รัฐบาลสามารถขยายเวลาออกไปได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า รัฐบาลมีอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบ ที่จะตรวจสอบและดูจังหวะเวลา ขอชี้แจงว่าก่อนที่จะส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา รัฐบาลไม่ได้มีความสงสัยอะไรในเรื่องนี้ แต่มีอำนาจในการที่จะดูให้ถูกต้องเรียบร้อยเท่านั้น ซึ่งคำถามดังกล่าวมาจากการที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ไปยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัย ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งมาที่รัฐบาล

เมื่อถามว่า หากคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าเรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชต้องเริ่มต้นที่นายกฯ การเสนอชื่อสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่จะต้องเริ่มใหม่ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า คงไม่ตอบ เอาไว้ให้ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาออกมาเสียก่อนว่าเป็นอย่างไร รัฐบาลทราบว่าต้องทำอย่างไร

ต่อข้อถามว่า ที่ผ่านมาหลักปฏิบัติของรัฐบาลคือต้องปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาใช่หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า มติ ครม.มีว่าโดยทั่วไปให้ส่วนราชการนั้นปฏิบัติตาม ถ้าจะไม่ปฏิบัติตามเคยเห็นเหมือนกันคือ ในสมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน เคยหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องการแต่งตั้งประธานศาลฎีกา เมื่อมีความเห็นตอบมา แต่รัฐบาลมองว่าการทำตามอาจทำให้เกิดปัญหาอย่างอื่น จึงนำเข้าที่ประชุม ครม.และมีมติว่ายังไม่ต้องดำเนินการตาม

เมื่อถามอีกว่า หากไม่มีการร้องให้ตีความมาตรา 7 รัฐบาลพร้อมเดินหน้าแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชใช่หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่มีคำตอบว่าพร้อมหรือไม่พร้อม แต่เอาเป็นว่าขณะนี้ชื่อมาอยู่ที่รัฐบาล จะอย่างไรรัฐบาลรู้จังหวะเวลาตรงนี้ แต่เมื่อเกิดความสงสัยจากผู้ตรวจการแผ่นดินก็ต้องตอบให้เขา

เมื่อถามย้ำว่า การที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ มีคดีเรื่องรถหรูในกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อยู่ เป็นไปได้หรือไม่ว่าจะยังไม่ทูลเกล้าฯ จนกว่าคดีจะจบ รองนายกฯ กล่าวว่า ขอไม่ตอบในส่วนนี้ เพราะตนไม่ทราบว่ารัฐบาลจะเอาหลักเกณฑ์อะไรขึ้นมาพิจารณา


กำลังโหลดความคิดเห็น