xs
xsm
sm
md
lg

“สุวพันธุ์” ชี้หากกฤษฎีกาตีความตั้งสังฆราช พร้อมยึดตาม ถือว่าข้อ กม.ชัดเจน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(แฟ้มภาพ)
รมต.สำนักนายกฯ เผยยังไม่ได้รับรายงานกฤษฎีกาตีความตั้งสังฆราช ทราบประชุมกันหลายครั้ง ขอเวลาดูรายละเอียดก่อน ชี้ตีความแล้วถือว่าข้อกฎหมายชัดเจน ไม่ตอบหาก มส.ไม่รับผล

วันนี้ (7 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความตามมาตรา 7 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2535 เรื่องขั้นตอนการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ว่าตนยังไม่เห็นและยังไม่ได้รับรายงานผลการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าจะออกมาอย่างไร แต่ทราบว่าคณะกรรมการกฤษฎีกามีการประชุมและพิจารณากันหลายครั้งซึ่งมีการขอข้อมูลจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องครบทุกมิติ ทั้งเรื่องข้อกฎหมาย เรื่องโบราณราชประเพณี วิธีการปฏิบัติในอดีต

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นข้อกฎหมาย เราต้องอ่านข้อตีความ ข้อวินิจฉัย ของกฤษฎีกา เพราะมีคำอธิบาย หากตนพูดอะไรไปตอนนี้อาจจะไม่ตรงและผิดพลาดได้ ขอเวลาตนได้อ่านและทำความเข้าใจกับเอกสารก่อนซึ่งพร้อมจะชี้แจงและอธิบายให้สังคมเข้าใจ ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินทำเรื่องถึงรัฐบาล โดยนายกฯ ได้มีบัญชาให้ตนพิจารณาเรื่องดังกล่าว ตนเห็นว่าควรให้กฤษฎีกาพิจารณา เมื่อกฤษฎีกาได้ตอบตนมาแล้วก็จะต้องดูรายละเอียด ความเห็นทุกอย่างทั้งหมดก่อนว่ามีความกระจ่างชัดหรือไม่ ยังมีประเด็นที่เป็นข้อสงสังหรือไม่ เพื่อที่ตนจะต้องเสนอนายกฯ อีกครั้ง

“เมื่อตีความมาแล้ว ไม่ว่าจะตีความว่าอย่างไรก็แล้วแต่ ในความเห็นชั้นต้น ผมเห็นว่าได้สร้างความชัดเจนขึ้นมาแล้ว ฉะนั้นถ้าตีความมาอย่างไร เราก็ทำให้เป็นไปตามการตีความ มันก็จบ เพราะการที่มีข้อสงสัยในเรื่องข้อกฎหมาย ถ้าให้ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ได้ตีความก็จะทำให้ข้อกฎหมายนั้นมีความชัดเจน” นายสุวพันธุ์กล่าว และว่าตนจะต้องปรึกษานายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ที่กำกับดูแลกิจการสำนักงานพุทธศาสนา เหนือตนขึ้นไปอีกชั้น

เมื่อถามว่า ความเห็นของกฤษฎีกาจำเป็นต้องไปหารือกับมหาเถระสมาคม (มส.) อีกหรือไม่ นายสุวพันธุ์กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ก็ต้องคุยกับคณะสงฆ์โดยตรง เมื่อซักว่า ถ้า มส.ไม่ยอมรับความเห็นของกฤษฎีกา นายสุวพันธุ์กล่าวว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะพูดเรื่องนี้ เพราะตนยังไม่เห็นผลการตีความ


กำลังโหลดความคิดเห็น