xs
xsm
sm
md
lg

“กฤษฎีกา”รูดซิปปาก ผลตีความ กม.สงฆ์ “ธัมมี่”เช็คเงื่อนไขมอบตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน 360 - “กฤษฎีกา” ตีความ ม.7 ของ พ.ร.บ.สงฆ์ ปมตั้ง “สังฆราช” เสร็จแล้ว แต่กรรมการรูดซิปปากทุกคน “สุวพันธุ์” ระบุยังไม่รับรายงาน เชื่อหากยึดตามกฤษฎีกาเรื่องจบ “ไพบูลย์” ยังไม่รู้ "ธัมมชโย" เจรจาขอมอบตัว พร้อมถามเงื่อนไขประกันตัว ชี้อำนาจอยู่ที่อัยการ-ศาล “ดีเอสไอ” นัดเจรจา “เจ้าคณะปทุมฯ” วันนี้

วานนี้ (7 ก.ค.) ที่ห้องประชุมเรอเน่ กียอง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ถ.พระอาทิตย์ ได้มีการประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 8 เพื่อพิจารณากรณีที่นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความมาตรา7 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 หลังผู้ตรวจการแผ่นดินมีหนังสือถึงรัฐบาลว่า มติมหาเถรสมาคม (มส.) ที่เสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นสมเด็จพระสังฆราชผิดขั้นตอน โดยมี นายเกษม สุวรรณกุล เป็นประธาน พร้อมด้วยกรรมการกฤษฎีกาคณะดังกล่าวที่ที่มาร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง อาทิ นายธงทอง จันทรางศุ นายนรนิติ เศรษฐบุตร นางกาญจนรัตน์ ลีวิโรจน์ และคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นผู้เข้าร่วมประชุมได้ทยอยออกจากห้อง โดย นายเกษมปฏิเสธที่จะตอบคำถามว่า ผลการตีความเสร็จสิ้นแล้วหรือไม่ เช่นเดียวกับนายธงทอง ที่ให้ไปถาม นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา แทน

** เตรียมส่งเรื่องให้ รบ.สัปดาห์หน้า

ด้าน นายดิสทัต เปิดเผยว่า ทุกอย่างน่าจะเรียบร้อยแล้ว เพราะได้ตรวจบันทึกการประชุมแล้ว ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้จะต้องดำเนินการให้เร็วที่สุด โดยจะส่งความเห็นกลับมายังรัฐบาลในต้นสัปดาห์หน้า ส่วนรัฐบาลจะต้องปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือไม่นั้น อยู่ที่ดุลพินิจของรัฐบาล

“จริงๆ จะไม่ถือตามก็ได้ หากมีเหตุผล แต่โดยหลักแล้วตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ยึดถือปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่วนเนื้อหายังเปิดเผยไม่ได้ เพราะใครขอหารือต้องเป็นผู้เปิดเผย” นายดิสทัต ระบุ

** “สุวพันธุ์” แย้มทำตามผลตีความ

ขณะที่ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงานผลการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าจะออกมาอย่างไร แต่ทราบว่ามีการประชุมและพิจารณากันหลายครั้ง ซึ่งมีการขอข้อมูลจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องครบทุกมิติ ทั้งเรื่องข้อกฎหมาย เรื่องโบราณราชประเพณี วิธีการปฏิบัติในอดีต อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นข้อกฎหมาย ต้องอ่านข้อตีความข้อวินิจฉัยของกฤษฎีกา เพราะมีคำอธิบาย หากตนพูดอะไรไปตอนนี้อาจจะไม่ตรงและผิดพลาดได้ ขอเวลาตนได้ทำความเข้าใจกับเอกสารก่อน ซึ่งพร้อมจะชี้แจงและอธิบายให้สังคมเข้าใจ ทั้งนี้เรื่องดังกล่าว สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำเรื่องถึงรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาให้ตนพิจารณาเรื่องดังกล่าว ซึ่งตนเห็นว่าควรให้กฤษฎีกาพิจารณา ซึ่งเมื่อกฤษฎีกาได้ตอบตนมาแล้ว ก็ต้องดูรายละเอียด ความเห็นทุกอย่างทั้งหมดก่อนว่า มีความกระจ่างชัดหรือไม่ ยังมีประเด็นที่เป็นข้อสงสัยหรือไม่ เพื่อที่จะต้องเสนอนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

“ไม่ว่าจะตีความว่าอย่างไรก็แล้วแต่ ในความเห็นชั้นต้น ผมเห็นว่าได้สร้างความชัดเจนขึ้นมาแล้ว ฉะนั้นถ้าตีความมาอย่างไร เราก็ทำให้เป็นไปนั้นก็จบ เพราะการที่มีข้อสงสัยในเรื่องข้อกฎหมาย ถ้าให้ผู้เชี่ยวชาญโดยตรงได้ตีความ ก็จะทำให้ข้อกฎหมายนั้นมีความชัดเจน" นายสุวพันธุ์ กล่าว

** เตรียมนำผลตีความปรึกษา “วิษณุ”

นายสุวพันธุ์ กล่าวด้วยว่า จะนำเรื่องนี้ไปปรึกษา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย ที่กำกับดูแลกิจการสำนักงานพุทธศาสนา ซึ่งเหนือตนขึ้นไปอีกชั้นด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า จำเป็นต้องนำความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปหารือกับมหาเถรสมาคม (มส.) หรือไม่ นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ก็ต้องคุยกับคณะสงฆ์ โดยตรง

เมื่อถามว่า หาก มส.ไม่ยอมรับผลการตีความดังกล่าวจะเกิดปัฯหาหรือไม่ นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะพูดเรื่องนี้ เพราะตนยังไม่เห็นผลการตีความ.

** เผย “ธัมมชโย” ต่อรองมอบตัวอีกรอบ

ที่กระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่ พระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ผู้ต้องหาตามหมายจับในข้อหาสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร ในคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นจำกัด ได้ติดต่อมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อสอบถามถึงการเข้ามอบตัว รวมถึงเงื่อนไขในการขอประกันตัวหลังเข้ามอบตัวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดในส่วนนี้ เนื่องจากยังไม่ได้รับรายงานจาก พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ ส่วนประเด็นการเจรจาที่จะเข้าขอมอบตัวดังกล่าวนั้น น่าจะเป็นในส่วนของการเจรจาทางคณะสงฆ์ ซึ่งผู้ที่ดูแลเรื่องนี้ก็คือ นายสุวพันธุ์ ที่กำกับดูแล พศ. โดยมองว่าหากวิธีทางไหนที่จะทำให้เรื่องนี้ได้ข้อยุติ ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรถือว่าเป็นเรื่องดี

“แต่ทั้งหมดจะต้องอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย หากการเจรจายังไม่ได้ข้อสรุป ก็อาจจะนำไปสู่การขอหมายค้นอีกครั้ง ซึ่งก็จะทำให้มีปัญหาความวุ่นวายตามมาเหมือนเช่นครั้งที่แล้ว ที่มีกลุ่มศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายออกมาขัดขวางเจ้าหน้าที่อีก” พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ขอยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ยึดตามกฎหมายในส่วนของการที่พระธัมมชโย จะขอเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน ตนไม่ทราบว่าในเรื่องนี้จะมีแนวทางการดำเนินการอย่างไร เนื่องจากสำนวนคดีดังกล่าวอยู่ในชั้นอัยการแล้ว ขึ้นอยู่กับอัยการว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่ เนื่องจากพระธัมมชโยมีหมายจับด้วย หากเป็นไปได้ที่ควรไปที่อัยการ แต่เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนประกันตัว ก็ต้องใช้อำนาจศาล ส่วนตัวไม่ชัดเจนในข้อกฎหมายว่าอัยการสามารถให้ประกันตัวได้เองหรือไม่

** นัดเจรจาผ่าน “เจ้าคณะปทุมฯ” วันนี้

ขณะที่ พ.ต.อ.ไพสิฐ เปิดเผยว่า พระเทพรัตนสุธี เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต ในฐานะเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ได้ติดต่อมายังดีเอสไอขอให้พนักงานสอบสวนเข้าหารือและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเข้ามอบตัวของพระธัมมชโย รวมถึงการวางหลักทรัพย์ประกันตัวและการปล่อยตัวชั่วคราวภายหลังการมอบตัว ตนจึงมอบหมายให้พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ รองอธิบดีดีเอสไอ พร้อม พ.ต.ท.พงศ์พร พราหณ์เสน่ห์ ผบ.สำนักคดีภาษีอากร ซึ่งเป็นชุดเจรจาเดินทางเข้าหารือกับฝ่ายสงฆ์ในวันที่ 8 ก.ค.นี้ ที่วัดเขียนเขต ส่วนเงื่อนไขในเรื่องการให้ประกันตัวนั้น ดีเอสไอต้องชี้แจงให้รับทราบว่า เลยจุดนั้นไปแล้ว เพราะคดีไม่อยู่ในอำนาจของดีเอสไอแล้ว เมื่อได้ตัวผู้ต้องหาพนักงานสอบสวนจะต้องนำตัวส่งอัยการหรือศาลให้ใช้ดุลพินิจสั่งคดีว่าจะให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่.
กำลังโหลดความคิดเห็น