xs
xsm
sm
md
lg

ไทยพ้นเทียร์ 3 กับพ่ายโหวตสมาชิกคณะมนตรียูเอ็น อย่างไหนน่าดีใจกว่ากัน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา


แน่นอนว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน สำหรับประเทศไทยและคนไทยที่ติดตามข่าวสารต่างประเทศคงจะรู้สึกดีสลับกับความผิดหวังเล็กๆ กับการที่เราพ่ายโหวตเลือกสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งในโควตาประเภทนี้มีอีก 5 ประเทศ ต้องมีการโหวตคัดเลือกกันทุก 2 ปี ซึ่งในโควตาของทวีปเอเชีย มี 1 ประเทศ และเราต้องแข่งขันกับประเทศคาซัคสถานจากประเทศในเอเชียกลาง และเราก็พ่ายไปจากการลงคะแนนลับถึงสองรอบ เนื่องจากรอบแรกคาซัคฯชนะด้วยคะแนน 113 ต่อ 77 ไม่ถึงสองในสาม ต้องลงคะแนนกันในรอบสองโดยรอบนี้คาซัคฯได้คะแนนถึง 138 เสียง ก็เป็นอันว่าพ่ายไปอย่างขาดลอย ก็อาจสร้างความผิดหวังบ้าง เพราะทำให้การขยายบทบาทในเวทีโลกยังไม่เต็มที่นัก

แต่นั่นก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่ประเภทที่ว่าต้องมานั่งฟูมฟายเอาเป็นเอาตาย จนราวกับว่าการพ่ายแพ้คราวนี้จะทำให้เราต้องเสียหาย เสียหน้าอย่างใหญ่หลวง เหมือนกับที่ฝ่ายพรรคเพื่อไทยกำลังพยายามขยายวง ให้ความสำคัญด้วยต้องการดิสเครดิตคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าสาเหตุที่แพ้เพราะเรามีปัญหาในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง พยายามกระทบชิ่งเคลมแบบเหมารวมมั่ว ๆ นี่ไงที่แพ้เพราะละเมิดสิทธิ์ของพวกเขา อะไรประมาณนี้

แต่สำหรับคนไทยทั่วไปเชื่อว่า มีไม่กี่คนที่สนใจและต้องการรับรู้เรื่องแบบนี้ มีแต่เฉพาะพวกที่ติดตามข่าวสารระหว่างประเทศในวงแคบๆ เท่านั้น และเมื่อเราไม่ได้เป็นสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในวาระ 2 ปี ทุกอย่างก็คงค่อยๆ เงียบไป และรัฐบาลก็คงไม่อยากจะพูดอะไรมากนัก เพราะถ้าเราได้เป็นก็คงได้หน้าได้ตา ได้เพิ่มบทบาทในเวทีโลกมากขึ้น หลังจากในระยะหลังเราเสื่อมถอยมานานนับตั้งแต่หมดยุครัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในปี 2523 เป็นต้นมา เพราะในยุคของรัฐบาลพวกนักการเมืองบทบาทในยูเอ็น แทบไม่มีเลย อย่างมากก็เป็นแค่ปลายแถวคอยเป็นลูกมือส่งกองกำลังไปช่วยรักษาสันติภาพในพื้นที่ขัดแย้งทั้งในติมอร์ตะวันออก หรือในแอฟริกา เป็นต้น แต่เป็นไปตามคำร้องขอของประเทศสมาชิกมหาอำนาจเท่านั้น

อย่างไรก็ดี หากเทียบกับข่าวที่รายงานว่า สหรัฐอเมริกาได้ถอดประเทศไทยพ้นจากบัญชีเฝ้าระวังด้านการค้ามนุษย์ จากประเทศที่มีประวัติการค้ามนุษย์ขั้นเลวร้าย หรือที่เรียกว่า “เทียร์ 3” มาสู่ระดับ “เทียร์ 2” หรือ บัญชีประเทศที่ถูกจับตามอง แม้ว่านี่ยังไม่ใช่การแถลงออกมาอย่างเป็นทางการ เป็นเพียงการรายงานข่าวล่วงหน้าของสำนักข่าวต่างประเทศ เนื่องจากต้องรอในวันที่ 30 มิถุนายน ที่ฝ่ายสหรัฐฯจะแถลงออกมา

อย่างไรก็ดี นี่ถือว่าเป็น “ข่าวดี” สำหรับประเทศไทยและคนไทยซึ่งน่าจะเป็นเนื้อเป็นหนังมากกว่าการได้รับเลือกเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเสียอีก เพราะการที่ไทยหลุดพ้นจากบัญชีเทียร์ 3 นั้น ย่อมส่งผลดีต่อสินค้าส่งออก โดยเฉพาะสินค้าจำพวกอาหารทะเลที่แต่ละปีมีมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปนับแสนล้านบาท

แม้ว่าการขึ้นบัญชีหรือถอดออกจากบัญชีดำดังกล่าว บางครั้งอาจมองในเรื่องการเมือง และผลประโยชน์ระหว่างประเทศของสหรัฐฯก็ตาม แต่ตราบใดที่เรายังต้องพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศนี้พวกนี้เราก็ยังต้องแคร์ และนอกเหนือจากนั้นยังเป็นการแสดงให้เห็นทางอ้อมอีกว่าการแก้ปัญหาในด้านการค้ามนุษย์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็น “กลุ่มเผด็จการ” ที่สหรัฐเคยรังเกียจก็ดูเหมือนจะได้รับการยอมรับกลายๆ เหมือนกัน

เพราะในปีที่ผ่านมาสหรัฐฯได้ขึ้นบัญชีดำไทยให้อยู่ในระดับเทียร์ 3 ขณะเดียวกัน ได้ปลดมาเลเซียพ้นจากบัญชีดังกล่าว จนถูกเสียงวิจารณ์ว่ามีเรื่องผลประโยชน์แอบแฝงที่ต้องการดึงให้มาเลเซียเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิก หรือทีพีพี ขณะที่ไทยยังไม่ได้ตัดสินใจเข้าร่วม ทำให้ต้องจับตามองกันต่อไปว่านี่อาจเป็นสาเหตุที่ยกระดับไทยขึ้นมาหรือไม่ เพราะหากยังติดอยู่ในบัญชีสามก็จะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าร่วมเจรจาเป็นสมาชิกในเขตการค้าเสรีที่สหรัฐฯ เป็นหัวเรือใหญ่อยู่ในเวลานี้หรือไม่ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องอนาคต

แต่สำหรับเฉพาะหน้า ผลดีจากการถูกปลดพ้นบัญชีสาม ก็ย่อมทำให้ไทยมีเครดิตในสายตานานาชาติมากขึ้นกว่าเดิม อย่างน้อยก็ไม่ใช่เป็นประเทศป่าเถื่อน ด้อยพัฒนา ขณะเดียวกัน สำหรับรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นาทีนี้คงยิ้มหน้าบาน เพราะนี่คือชัยชนะครั้งสำคัญหลังจากที่ผ่านมาได้พยายามแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างเต็มที่ มีการใช้มาตรา 44 เข้ามาแก้ปัญหาให้รวดเร็ว ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.ได้ให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ก็เพิ่งออกคำสั่งพิเศษย้ายข้าราชการระดับสูงในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นแหล่งแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก ซึ่งมีเสียงวิจารณ์ว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการร้องเรียนเรื่องการค้ามนุษย์รวมอยู่ด้วย

ขณะเดียวกัน อย่าได้แปลกใจที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะหัวหน้าทีมในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์จะมีความยินดีจนออกนอกหน้า โดยกล่าวขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมมือกันจนพ้นจากบัญชีดำในที่สุด

ดังนั้น หากพิจารณาผลประโยชน์ที่ได้รับ ทั้งในเรื่องสินค้าส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารทะเล รวมไปถึงสินค้าอื่นๆ จะไม่ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขเรื่องการค้ามนุษย์เหมือนในอดีตแล้ว จะมีผลดีต่อตลาดส่งออก และสำหรับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มันก็เหมือนกับการได้รับการยอมรับกลายๆ ในเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งสวนทางกับภาพลักษณ์เผด็จการทหาร แต่ขณะเดียวกันก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า นี่คือ เงื่อนไขใหม่ที่ต้องการเปิดทางให้ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มทีพีพีที่สหรัฐฯ เป็นหัวเรือใหญ่เหมือนกับกรณีของมาเลเซียหรือไม่!
กำลังโหลดความคิดเห็น