เอเอฟพี/รอยเตอร์/MGR Online - ไทยอดเป็นสมาชิกไม่ถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในวันอังคาร (28 มิ.ย.) หลังแพ้โหวตต่อคาซัคสถานในการลงคะแนนที่ต้องตัดสินกันถึง 2 รอบ ส่วนชาติอื่นๆ ที่ได้นั่งเก้าอี้นี้ซึ่งมีระยะเวลา 2 ปี ประกอบด้วย โบลิเวีย, เอธิโอเปีย และสวีเดน ขณะที่เนเธอร์แลนด์ต้องไปชี้ชะตากับอิตาลีในการเบียดแย่งกันในอีก 1 ที่นั่งที่เหลือ
สมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 5 ที่นั่งจะเลือกผ่านการลงคะแนนโหวตของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ซึ่ง โบลิเวีย, เอธิโอเปีย และสวีเดน ได้รับเลือกตั้งแต่รอบแรกของการลงคะแนนแบบลับ
ในรอบแรก คาซัคสถานได้คะแนนโหวตเหนือไทย ที่ 113 ต่อ 77 เสียง แต่ด้วยชาติเอเชียกลางมีคะแนนสนับสนุนไม่ถึง 2 ใน 3 ตามที่กำหนด ทำให้ต้องเข้าสู่การลงคะแนนรอบสอง ซึ่งผลที่ออกมาคือ 193 ชาติสมาชิกที่ของประชุมสหประชาชาติ โหวตเลือกคาซัคสถาน 138 เสียง
ผลดังกล่าวทำให้คาซัคสถานคว้าเก้าอี้สมาชิกไม่ถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติร่วมกับ โบลิเวีย, เอธิโอเปีย และสวีเดน ส่วนเนเธอร์แลนด์ต้องไปชี้ชะตากับอิตาลีในการเบียดแย่งกันในอีก 1 ที่นั่งที่เหลือในรอบที่ 3 หลังจากรอบ 2 เนเธอร์แลนด์เอาชนะไป 125 เสียงต่อ 113 เสียง แต่คะแนนไม่ถึง 2 ใน 3
5 สมาชิกไม่ถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ได้รับเลือกใหม่ จะเข้ามาทำงานร่วมกับ 5 ชาติสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ประกอบด้วย อังกฤษ, ฝรั่งเศส, จีน, รัสเซีย และสหรัฐฯ ส่วนอีก 5 สมาชิกไม่ถาวรที่เหลือ ได้แก่ อียิปต์, ญี่ปุ่น, เซเนกัล, ยูเครน และอุรุกวัย
เอธิโอเปียได้รับการโหวตถึง 185 คะแนนแบบไม่มีเสียงคัดค้านในโควตาของกลุ่มประเทศจากแอฟริกา ทั้งนี้ด้วยที่เอธิโอเปียส่งทหารราว 8,100 นายเข้าร่วมภารกิจต่างๆ ของสหประชาชาติ ทำให้พวกเขาคือผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่สุดของกองกำลังรักษาสันติภาพของยูเอ็น และเป็นผู้ดำเนินการอย่างกระตือรือร้นในความพยายามยุติสงครามในซูดานใต้
ส่วน โบลิเวีย ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากละตินอมริกาและเหล่าประเทศในแถบแคริบเบียน ได้รับคะแนนโหวต 183 เสียง
ก่อนหน้าการโหวต องค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรต์วอชต์ เรียกร้องเหล่ารัฐสมาชิกยูเอ็นพินิจพิเคราะห์ประวัติทางสิทธิมนุษยชนในคาซัคสถานและไทย
ฮิวแมนไรต์วอชต์ระบุว่า คณะรัฐประหารของไทย ซึ่งยึดอำนาจในเดือนพฤษภาคม 2014 ห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและยกระดับการดำเนินคดีภายใต้กฎหมายป้องกันการปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครองและกฎหมายหมิ่นสถาบัน
ส่วนคาซัคสถานที่เสนอตัวชิงเก้าอี้สมาชิกไม่ถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่แยกตัวจากสหภาพโซเวียตในปี 1991 เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการปราบปรามผู้สื่อข่าวและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง