รอยเตอร์/เอเอฟพี/MGR Online - สหรัฐฯเผยแพร่รายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์อย่างเป็นทางการ ในวันพฤหัสบดี (30 มิ.ย.) โดยใส่ เมียนมา เข้าไปในบัญชีประเทศที่มีการกระทำผิดด้านการค้ามนุษย์ขั้นเลวร้าย ฐานล้มเหลวควบคุมการล่วงละเมิดต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง และยกระดับไทยขึ้นมาอยู่ “เทียร์ 2 วอตช์ลิสต์” หลังพบมีความพยายามบางส่วนในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์
จิบูติ, เฮติ, ปาปัวนิวกินี, ซูดาน, ซูรินาเม และ เติร์กเมนิสถาน ต่างก็ถูกเพิ่มเติมเข้าไปในบัญชีดำ ที่ตอนนี้มีอยู่ 26 ประเทศ ที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เชื่อว่า เพิกเฉยต่อการต่อสู้กับการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน หรือความเป็นทาส
คูเวตและไทย ได้รับการปรับขึ้นจาก “เทียร์ 3” บัญชีผู้ละเมิดขั้นเลวร้าย สู่ “เทียร์ 2 วอตช์ลิสต์” ประเทศที่มีรูปแบบความพยายามบางส่วนในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ แต่ยังคงอยู่ภายใต้การตรวจสอบอย่างละเอียด
รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP) 2016 ทางกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เลือกคง มาเลเซียไว้ที่ระดับ “เทียร์ 2” เหมือนกับปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นถูกมองว่าเพื่อขจัดอุปสรรคในการดึงกัวลาลัมเปอร์เข้าเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา เป็นผู้ผลักดัน ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากนักสิทธิมนุษยชน ที่ชี้ว่า รัฐบาลเสือเหลืองแทบไม่ได้แก้ไขปรับปรุงปัญหาการค้ามนุษย์เลย
กลุ่มสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ แสดงความยินดี โดยเฉพาะอย่างยิ่่งต่อการปรับลดอันดับพม่า และ อุซเบกิสถาน พันธมิตรทางยุทธศาสตร์สำคัญของสหรัฐฯ และบอกว่า ความเคลื่อนไหวนี้จะช่วยกอบกู้ความน่าเชื่อถือของรายงานดังกล่าว แต่แสดงความผิดหวังที่ไทยและมาเลเซียไม่ได้อยู่ในบัญชีดำนี้
อย่างไรก็ตาม นายจอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยืนยันว่า การตัดสินใจของการจัดอันดับยึดมั่นพื้นฐานด้านการค้ามนุษย์ และไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางการเมือง หรืออื่น ๆ
การปรับลดอันดับของพม่า ดูเหมือนมีเป้าหมายกระตุ้นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยของประเทศ และกองทัพที่ยังคงมีอำนาจ ให้ดำเนินการมากกว่าที่เป็นอยู่ในการกำจัดการใช้ทหารเด็กและแรงงานบังคับ
นอกจากนี้แล้ว มันยังมีเจตนาส่งสารความกังวลของสหรัฐฯต่อกรณีที่ยังคงมีการตามประหัตประหารชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮีนจาในประเทศ ที่มีชาวพุทธเป็นชนกลุ่มใหญ่ ทั้งนี้ นางอองซาน ซูจี ผู้นำคนใหม่ของพม่า และเจ้าของรางวัลโนเบล ถูกนานาชาติวิพากษ์วิจารณ์ที่เพิกเฉยต่อประเด็นโรฮีนจา นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในปีนี้
ในส่วนเพื่อนบ้านของพม่า อย่างไทย รอยเตอร์ระบุว่า การถูกถอดพ้นจากบัญชีดำจะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และรัฐบาลทหารของไทย ราบรื่นขึ้น แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนบางส่วน โต้แย้งว่า ไทยไม่ควรถูกปรับอันดับขึ้น เพราะว่ายังคงมีการล่วงละเมิดต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมประมงของประเทศที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์
รายงาน TIP แบ่งเกณฑ์การประเมินประเทศต่าง ๆ ออกเป็น 4 ขั้น ได้แก่ เทียร์ 1 คือ ประเทศที่ถึงมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐฯ เทียร์ 2 คือ ประเทศที่มีความพยายามอย่างเห็นได้ชัดที่จะพัฒนาให้ถึงระดับมาตรฐาน ส่วนเทียร์ 3 เฝ้าระวัง คือ ประเทศที่ควรตรวจสอบเป็นพิเศษ และ เทียร์ 4 คือ ประเทศที่ไม่มีความก้าวหน้าและความพยายามใดที่ชัดเจน