xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ปรับลดพม่าอยู่กลุ่ม "เทียร์ 3" ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ภาพแฟ้มเอเอฟพีวันที่ 18 ม.ค. 2557 อดีตทหารเด็ก (ซ้าย) หอบหิ้วสัมภาระขณะเดินออกจากค่ายทหารแห่งหนึ่งในนครย่างกุ้ง หลังพิธีปลดประจำการกลุ่มทหารเด็กกลับคืนสู่ครอบครัว สำนักข่าวรอยเตอร์เผยว่าสหรัฐฯ จะปรับลดระดับพม่าไปอยู่ในระดับต่ำสุดในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ เนื่องจากพม่ายังไม่พยายามมากพอที่จะยุติการเกณฑ์ทหารเด็กเข้าประจำการในกองทัพ. -- Agence France-Presse/Soe Than Win.</font></b>

รอยเตอร์ - สหรัฐฯ ได้ตัดสินใจที่จะจัดพม่าให้อยู่ในกลุ่มรายชื่อประเทศที่มีสถานการณ์การค้ามนุษย์ในระดับที่เลวร้ายที่สุด ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ ในความเคลื่อนไหวที่มีเป้าหมายจะกระตุ้นรัฐบาลใหม่ของพม่าและกองทัพที่ยังคงอำนาจ ดำเนินการให้มากยิ่งขึ้นในการควบคุมการใช้ทหารเด็กและการบังคับใช้แรงงาน

การปรับลดพม่ามีขึ้นแม้สหรัฐฯ พยายามที่จะจีบพม่า ประเทศที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ให้ช่วยรับมือกับการเพิ่มอิทธิพลของจีนในภูมิภาค และเป็นแนวต้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อการรุกรานของปักกิ่งในการอ้างกรรมสิทธิ์ดินแดนในทะเลจีนใต้

การลดชั้นพม่าเป็นส่วนหนึ่งของรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี (TIP) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่มีกำหนดเผยแพร่ในวันพฤหัสบดี (30) ซึ่งตั้งใจที่จะส่งสารถึงความวิตกของสหรัฐฯ เกี่ยวกับการกดขี่ข่มเหงที่มีอยู่อย่างกว้างขวางต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญาในประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ

อองซานซูจี ผู้นำคนใหม่ของพม่า ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการเพิกเฉยต่อประเด็นชาวโรฮิงญา นับตั้งแต่ฝ่ายบริหารของซูจีเข้าปกครองประเทศในปีนี้

การเปิดกว้างทางการทูตต่อพม่าของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ถูกมองว่าเป็นความสำเร็จในนโยบายต่างประเทศขณะที่ผู้นำสหรัฐฯ เข้าสู่ช่วง 7 เดือนสุดท้ายในตำแหน่ง แต่แม้ว่าโอบามาได้คลายมาตรการคว่ำบาตรบางประการกับพม่า แต่ยังคงรักษามาตรการบางอย่างไว้ เพื่อรักษาอำนาจถ่วงดุลให้พม่าดำเนินการปฏิรูปต่อเนื่อง ขณะเดียวกันวอชิงตันก็ต้องการที่จะให้พม่าออกห่างจากวงโคจรของจีน

การตัดสินใจของสหรัฐฯ ที่จะปรับลดพม่าลงไปอยู่ในกลุ่มเทียร์ 3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับอิหร่าน เกาหลีเหนือ และซีเรีย ได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ในวอชิงตัน และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานระหว่างประเทศที่ประจำสำนักงานในไทยซึ่งได้รับแจ้งถึงความเคลื่อนไหวนี้

สำหรับกลุ่มเทียร์ 3 นั้น สามารถนำไปสู่การพิจารณามาตรการจำกัดการเข้าถึงสหรัฐฯ และความช่วยเหลือระหว่างประเทศ แต่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มักยกเลิกการกระทำดังกล่าว

การตัดสินใจต่อพม่าเป็นหนึ่งในการโต้แย้งที่ดุเดือดมากที่สุดในรายงานปีนี้ หลังมีความวิตกว่าการประเมินผลบางอย่างในรายงานการค้ามนุษย์ปีก่อนถูกลดความเข้มข้นลงด้วยเหตุผลทางการเมือง

ยังมีการอภิปรายภายในที่ตึงเครียดระหว่างนักการทูตอาวุโสสหรัฐฯ ที่ต้องการให้รางวัลพม่าจากความก้าวหน้าในการปฏิรูปการเมืองและผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนสหรัฐฯ ที่โต้เถียงว่าพม่ายังดำเนินการไม่มากพอในการควบคุมการค้ามนุษย์ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าว

สำนักงานเพื่อตรวจสอบและต่อสู้กับการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศตั้งขึ้นเพื่อจัดระดับความพยายามของประเทศต่างๆ ในการป้องกันการค้าทาสสมัยใหม่ เช่น การค้ามนุษย์เพื่อบังคับใช้แรงงาน หรือค้าประเวณี ซึ่งเดิมนั้นพม่าอยู่ในกลุ่ม "เทียร์ 2 ซึ่งต้องจับตามอง" ติดต่อกันเป็นเวลาสูงสุด 4 ปี ตามกฎหมายอนุญาต และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ต้องปรับลดโดยอัตโนมัติ เนื่องจากพม่ายังไม่พยายามมากพอที่จะต่อต้านการค้ามนุษย์ให้เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำ

การพิจารณาพม่ามุ่งเน้นไปที่ความพยายามที่จะยุติการเกณฑ์และการใช้ทหารเด็กของกองทัพ รวมทั้งบังคับใช้แรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านในท้องถิ่นเพื่อให้ทำงานบางอย่าง ซึ่งการกระทำเหล่านี้ถูกบันทึกไว้โดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และยังมีระบุอยู่ในรายงานของกระทรวงการต่างประเทศเมื่อปีก่อน

ประเด็นสำคัญที่ฝ่ายบริหารสหรัฐฯ พิจารณาก่อนปรับลดระดับพม่าคือข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลร่วมทำผิดในการค้ามนุษย์ ที่รวมทั้งความล้มเหลวที่จะดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

แม้กองทัพพม่าจะได้รับความเชื่อถือจากความคืบหน้าในการควบคุมการใช้ทหารเด็ก เช่นการอนุญาตให้ตรวจสอบฐานทัพทหาร แต่ก็ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าปัญหาถูกกำจัดไปหมดสิ้นตามที่สำนักงานต่อต้านการค้ามนุษย์สหรัฐฯ ได้ร้องขอ

กลุ่มสิทธิมนุษยชนได้ล็อบบี้จอห์น แคร์รี่ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้คัดค้านการปรับเพิ่มระดับต่อพม่า โดยระบุว่ายังไม่สมควรที่จะได้รับ

อย่างไรก็ตามรายงาน TIP นั้นครอบคลุมความพยายามในช่วงปีที่สิ้นสุดลงเมื่อเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลเต็งเส่งชุดก่อนหน้า

แม้ซูจีจะเข้าบริหารรัฐบาลในเดือนเม.ย. หลังพรรคชนะการเลือกตั้ง แต่บรรดานายพลยังคงควบคุมกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง 3 กระทรวง และยังครองที่นั่ง 25% ของรัฐสภา ซึ่งเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ วิตกว่าการปรับลดระดับอาจบ่อนทำลายความร่วมมือจากกองทัพต่อการค้ามนุษย์

ส่วนซูจีเพิ่งสร้างความไม่สบายใจต่อเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ด้วยการเรียกร้องไม่ให้ใช้คำว่า โรฮิงญา ในการเรียกชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในภาคเหนือของประเทศ ซึ่งหลายคนในพม่าเรียกคนกลุ่มนี้ว่าเบงกาลี ที่หมายถึงผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ และสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้พม่าปฏิบัติต่อคนเหล่านี้ดังเช่นพลเมืองของประเทศ

รายงาน TIP ปี 2558 เน้นย้ำว่าการปฏิเสธของรัฐบาลต่อสิทธิในการเป็นพลเมืองของชาย หญิง และเด็กกว่า 800,000 คน ในพม่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา ทำให้ประชากรกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะถูกค้ามนุษย์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ.
กำลังโหลดความคิดเห็น