“ศาลรัฐธรรมนูญ” มีมติเอกฉันท์ มาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ประชามติ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญชั่วคราว ม.4 ด้านเลขาฯ สำนักงานศาลฯ ชี้กฎหมายออกเพื่อให้โหวตเรียบร้อย ระบุรัฐธรรมนูญฉบับอื่นก็มีจำกัดสิทธิเพื่อรักษาความมั่นคง แนะรอดูคำวินิจฉัยกลางในประเด็น “ปลุกระดม ก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย” ขณะที่ประธาน กกต.ระบุควรอ่านทั้งมาตรา ไม่ใช่ทีละตัว ส่วน “สมชัย” ขู่งัดใช้เคร่งครัด ทางฝั่งเลขาฯ ผู้ตรวจฯ เคารพคำวินิจฉัย
วันนี้ (29 มิ.ย.) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่ข่าวการพิจารณาคดี โดยระบุถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 45 ว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 วรรสอง มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 4 หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า มาตรา 61 วรรคสองของ พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 4
โดยนายนายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ในการพิจารณาของคณะตุลาการฯ เห็นว่า ตัว พ.ร.บ.ดังกล่าวออกมาเพื่อการดำเนินการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย คุ้มครองการแสดงความคิดเห็นของประชาชนให้เป็นไปโดยอิสระ และรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาในอดีตก็มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อรักษาความมั่นคงแห่งรัฐ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าในกฎหมายอาญาทั่วไปไม่มีการกำหนดถ้อยคำ “ปลุกระดม ก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย” ว่าอย่างไรที่ถือเป็นความผิด นายพิมลกล่าวว่า เรื่องนี้ตุลาการได้มีการอภิปรายกันซึ่งเชื่อว่าจะมีการเขียนเหตุผลไว้ชัดเจนในคำวินิจฉัยที่จะออกมา ในส่วนของคำวินิจฉัยกลางคาดว่าจะมีการเผยแพร่ได้ในสัปดาห์หน้า จากนั้นจะมีคำวินิจฉัยส่วนตนตามมา
ด้านนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.กล่าวว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวว่าขัดหรือไม่ขัด ก็ไม่มีผลต่อ กกต. ส่วนตัวเห็นด้วยแต่แรกว่าไม่เกี่ยวกับกระบวนการออกเสียงการทำประชามติ หากพบว่ามีคนกระทำผิด พ.ร.บ.ดังกล่าว ประชาชนสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องผ่าน กกต. เพราะเป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย ดังนั้น การอ่านกฎหมายไม่ควรอ่านทีละตัว ควรอ่านทั้งมาตราเพื่อให้เกิดความเข้าใจ และต้องดูเจตนาผู้อ่านกฎหมายด้วยว่ามีเจตนารมณ์แบบไหน
ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ระบุว่าหลังจากนี้ กกต.จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยวันที่ 30 มิ.ย.เวลา 10.00 น.บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์และนายอรุณ วัชรสวัสดิ์ ผู้เขียนการ์ตูน จะเข้าพบเพื่อชี้กรณีนำเสนอภาพการ์ตูนตัดต่อที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำประชามติ
ส่วนนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ผู้ตรวจการฯเคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะถือว่ามีผลผูกพันกับทุกองค์กร จากนี้เป็นหน้าที่ กกต.ในฐานะผู้รักษากฎหมายที่จะตีความว่าการกระทำใดเข้าข่ายผิดตามกฎหมายดังกล่าว