xs
xsm
sm
md
lg

ศาล รธน.ยันคำวินิจฉัย ม.61 ไม่มีผลต่อกฎหมายทั้งฉบับ - “สมชัย" แขวะ "สดศรี" คืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (แฟ้มภาพ)
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ชัดจะแถลงข่าวมติวินิจฉัย พ.ร.บ.ประชามติ ม.61 วรรคสอง พุธนี้หรือไม่ ยันไม่มีผลกระทบต่อกฎหมายทั้งฉบับ แค่เฉพาะวรรคที่มีปัญหาเท่านั้น ยกกรณี พ.ร.บ.ฮั้ว ตัวอย่าง ด้าน “สมชัย” แขวะอดีต กกต.ชูมาตรฐานพิมพ์บัตรถูกกว่าสมัยโน้นตั้ง 30 ล้าน แถมยังมาตรฐานสูงกว่า

วันนี้ (27 มิ.ย.) ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มีรายงานว่าในการลงมติกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอความเห็นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มาตรา 61 วรรคสองของ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ขัดต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 4 หรือไม่ ในวันที่ 29 มิถุนายนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการแถลงข่าวด้วยหรือไม่ โดยต้องรอมติในที่ประชุมวันดังกล่าวว่าจะให้โฆษกแถลงหรือไม่ แต่ปกติจะมีเอกสารข่าวแจกให้สื่อมวลชนอยู่แล้ว

ส่วนที่มีข้อสงสัยว่าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่ามาตรา 61 วรรคสองของ พ.ร.บ.ดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 4 จะส่งผลให้กฎหมายทั้งฉบับใช้ไม่ได้ด้วยหรือไม่นั้น โดยหลักการแล้วกรณีที่จะทำให้กฎหมายทั้งฉบับต้องเสียไปหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ามีเนื้อหาในมาตราใดมาตราหนึ่งขัดรัฐธรรมนูญจะเป็นกรณีที่กฎหมายฉบับนั้นอยู่ในระหว่างการยกร่างยังไม่ประกาศใช้ แต่กรณีของ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามตินั้นเป็นกฎหมายที่ประกาศใช้แล้ว ดังนั้น การวินิจฉัยเฉพาะวรรคของมาตราว่าขัดรัฐธรรมนูญจะไม่มีผลกระทบต่อกฎหมายทั้งฉบับ แต่มีผลเฉพาะวรรคของมาตราที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญเท่านั้น ที่จะไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้ เช่นเดียวกับกรณี พ.ร.บ.ฮั้ว ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2559 ด้วยคะแนนเสียง 8:1 ว่า มาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ฮั้ว ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตรา 4 เนื่องจากเป็นการนำการกระทำความผิดของบุคคลอื่นมาเป็นเงื่อนไขของการสันนิษฐานให้จำเลย ซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคลและต้องรับโทษทางอาญาด้วย อันเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรม และจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตรา 4 ซึ่งในปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวก็ยังคงมีสภาพบังคับใช้อยู่ ส่วนการจะแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยนั้น เป็นหน้าที่ของผู้รักษาการตามกฎหมายจะต้องดำเนินการต่อไป

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารการเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีที่นางสดศรี สัตยธรรม อดีต กกต.ระบุว่าไม่เห็นความจำเป็นที่ กกต.ต้องป้องกันการปลองแปลงบัตรออกเสียงประชามติถึง 5 ชั้น พร้อมชี้ช่องโหว่ คือ การตีตราบัตรออกเสียง ว่าไม่เห็นความจำเป็นที่อดีต กกต.ต้องออกมาแสดงความเห็นดังกล่าว ในเมื่อบัตรที่พิมพ์มีมาตรฐานสูงกว่าเดิม และประหยัดงบประมาณกว่าเดิมมาก ต่ำกว่าราคากลางที่ใช้ในการพิมพ์บัตรในอดีตถึง 30 ล้านบาท ราคากลาง 56 ล้านบาท สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการประกวดราคาในราคาเพียง 26 ล้านบาท และยังมีมาตรฐานการควบคุมความปลอดภัยของบัตรสูงกว่าในอดีต ทั้งนี้ยังฝากถึงอดีต กกต.ช่วยประชาสัมพันธ์การลงทะเบียนใช้สิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัดด้วย แต่คงไม่ฝากการลงทะเบียนทางอินเทอร์เน็ต เพราะสมัยที่นางสดศรีเป็น กกต.ไม่มีระบบดังกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น