xs
xsm
sm
md
lg

มติเอกฉันท์ม.61วรรค2ไม่ขัดรธน. บิ๊กป้อมขู่ใครป่วนจับหมด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ 29มิ.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 เสียง วินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ไม่ขัด หรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 4 โดยนายนายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรธน. กล่าวว่า ในการพิจารณาของคณะตุลาการฯ เห็นว่า ตัวพ.ร.บ.ดังกล่าว ออกมาเพื่อการดำเนินการออกเสียงประชามติร่างรธน. ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย คุ้มครองการแสดงความคิดเห็นของประชาชนให้เป็นไปโดยอิสระ และรธน.ฉบับที่ผ่านๆ มาในอดีต ก็มีการจำกัดสิทธิ เสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็น เพื่อรักษาความมั่นคงแห่งรัฐ ความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดี
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในกฎหมายอาญาทั่วไป ไม่มีการกำหนดถ้อยคำ“ปลุกระดม ก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย”ว่าอย่างไร ที่ถือเป็นความผิด นายพิมล กล่าวว่า เรื่องนี้ตุลาการได้มีการอภิปรายกัน ซึ่งเชื่อว่าจะมีการเขียนเหตุผลไว้ชัดเจนในคำวินิจฉัยที่จะออกมา ซึ่งในส่วนของคำวินิจฉัยกลาง คาดว่าจะมีการเผยแพร่ได้ในสัปดาห์หน้า จากนั้นจะมีคำวินิจฉัยส่วนตนตามมา
ด้านนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวว่า การที่ศาลรธน.วินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวว่าขัด หรือไม่ขัด ก็ไม่มีผลต่อกกต. ส่วนตัวเห็นด้วยแต่แรกว่าไม่เกี่ยวกับกระบวนการออกเสียงการทำประชามติ หากพบว่ามีคนกระทำผิด พ.ร.บ.ดังกล่าว ประชาชนสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องผ่านกกต. เพราะมันเป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย ดังนั้นการอ่านกฎหมาย ไม่ควรอ่านทีละตัว ควรอ่านทั้งมาตรา เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และต้องดูเจตนาผู้เขียนกฎหมายด้วยว่า มีเจตนารมณ์แบบไหน
ขณะที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ระบุ หลังจากนี้ กกต.จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยวันที่ 30 มิ.ย. เวลา 10.00 น. บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ และนายอรุณ วัชรสวัสดิ์ ผู้เขียนการ์ตูน จะเข้าพบ เพื่อชี้กรณีนำเสนอภาพการ์ตูนตัดต่อที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำประชามติ
ด้านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ผู้ตรวจการฯ เคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะถือว่ามีผลผูกพันกับทุกองค์กร จากนี้เป็นหน้าที่กกต.ในฐานะผู้รักษากฎหมาย ที่จะตีความว่าการกระทำใดเข้าข่ายผิดตามกฎหมายดังกล่าว
นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผอ.โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน(iLaw)ในฐานะผู้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ยื่นเรื่องต่อศาลรธน. ให้วินิจฉัยว่า ม.61 วรรคสอง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรธน. ขัดต่อรธน.หรือไม่ กล่าวว่า แม้ศาลรธน.จะมีคำวินิจฉัยว่า มาตรา 61 วรรคสองไม่ขัดรธน. แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า มาตราดังกล่าวจะถูกต้อง เพราะยังมีประกาศ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่กำหนดอะไรทำได้ ไม่ได้ ซึ่งทำให้ประชาชนไม่มีเสรีภาพในการรณรงค์ เห็นได้ชัด กรณีนิสิต-นักศึกษา ที่ออกมารณรงค์ถูกจับดำเนินคดี และเรื่องดังกล่าว จะทำให้การออกเสียงประชามติของประเทศไทยไม่มีความชอบธรรม หรือยุติธรรม ทำให้การทำประชามติ เป็นการมัดมือประชาชน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะรณรงค์ต่อไปเป็นสิ่งแรก คือ จะให้ กกต.ยกเลิกประกาศการแสดงความเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ และ ขออยากให้ตำรวจ ทหาร เลิกจับกุมดำเนินคดีผู้ออกมาใช้สิทธิแสดงความเห็นการทำประชามติอย่างสันติวิธี
ด้านนายอานนท์ นำภา ทนายความกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ กล่าวว่า ก็จะสู้คดีไปตามเดิม โดยยืนยันว่า การเคลื่อนไหวแจกเอกสารรณรงค์ของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ไม่ขัดต่อมาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ประชามติ เพราะถือเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรธน.ชั่วคราว มาตรา 4 และ มาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ประชามติ ที่ให้เสรีภาพในการเผยแพร่ข้อมูลได้
"เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อหาต่อขบวนการประชาธิปไตยใหม่ว่ากระทำผิด มาตรา 61 เพราะเอกสารที่นำไปแจก มีเนื้อหาบิดเบือน หยาบคาย เราก็สู้คดีว่าเนื้อหาในเอกสารไม่ได้บิดเบือน และหยาบคายแต่อย่างใด" นายอานนท์ กล่าว
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณี เครือข่าย292 นักวิชาการ และองค์กรสิทธิมนุษยชน 6 องค์กร ออกแถลงการณ์ ให้ปล่อยตัวนักกิจกรรม พร้อมทั้งเปิดพื้นที่การแสดงออกในช่วงการทำประชามติว่า " ผมอยากถามว่า ตอนนี้ไม่เสรีหรือ เรามีช่องทางโดยมีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำอยู่แล้ว อีกทั้งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ก็เดินสายทุกภาค ไม่ใช่ติดประกาศนั่นนี่ ผมก็ไม่รู้ว่าอย่างนี้ไม่เสรี หรือไม่ เพราะตอนนี้อยู่ในช่วงรัฐบาลเปลี่ยนผ่าน หากจะทำอะไรที่เสรี ต้องรอรัฐธรรมนูญก่อนค่อยว่ากัน แต่ตอนนี้เราต้องการความสงบเรียบร้อยเป็นหลัก"
พล.อ.ประวิตร กล่าวด้วยว่า ตนขอย้ำว่าหากใครทำผิดกฎหมาย ไม่ต้องมาถาม ตนจับหมด เอาอย่างนี้เลย ถ้าใครออกมาเคลื่อนไหวก็จับ ส่วนที่มองว่า ภาพที่ไปจับนักเคลื่อนไหว และนักศึกษา เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น ตนขอยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเลย อีกทั้งอยากถามว่า แล้วที่ไปละเมิดกฎหมายของประเทศไทยนั้น จะมีกฎหมายไว้ทำไม จะไม่เคารพกฎหมาย อยากจะทำอะไรก็ทำ ใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้นถ้าเคารพกฎหมาย ก็ต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย
เมื่อถามว่าในฐานะเป็นนักศึกษา จะมีมาตรการผ่อนปรนหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "ต้องไปทำในสถานศึกษา ที่ก็ทำกันอยู่แล้วไม่ใช่หรือ ไม่ใช่เดินไปทั่วเลย ดังนั้นผมขอย้ำว่า เราทำตามกฎหมาย ไม่งั้นจะมีกฎหมายไว้ทำไม เอาแบบนี้แหละ ผมตัดสินใจแล้ว"
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อทำตามกฎหมาย แต่ยังมีภาพการจับนักศึกษา รองนายกฯประวิตร กล่าวว่า อย่าไปคิดว่าตนเป็นคนจับนักศึกษาไปคิดแบบนั้นไม่ได้ เพียงแต่เราจับคนที่ละเมิดกฎหมาย หรือไม่อยากให้มีกฎหมายใช่ไหม จะเอาแบบมี หรือไม่มี
กำลังโหลดความคิดเห็น