“คปพ.” นัดภาค ปชช.บุกรัฐสภา ยื่นค้าน 2 ร่าง กม.ปิโตรเลียมฯ พรุ่งนี้ เกาะติดประชุม สนช. ชี้ร่างของ ก.พลังงานไม่ได้ปกป้องประโยชน์ชาติ ชูพระหัตถเลขา ร.7 กระตุกสำนึก สนช. จี้นายกฯ ทบทวน ชี้ไม่ได้แก้ตามคำสั่ง แค่ลวง-พราง ระบบสัมปทานเหมือนเดิม ยันร่าง คปพ.ไม่เข้าข่าย กม.การเงิน เตือน “พรเพชร” วินิจฉัยเพี้ยนเจอกันที่ศาล รธน. ชี้ ก.พลังงานตบหน้า สนช. เมินนำผลศึกษา กมธ.ไปเขียนไว้
วันนี้ (22 มิ.ย.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ห้องเทียนสิน โรงแรมเอเชีย เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้จัดการแถลงข่าวถึงความคืบหน้าในการยื่นคัดค้านการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมทั้งการเข้าชื่อของประชาชนในการเสนอร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการปิโตรเลียมของประชาชน ต่อประธาน สนช. โดยมีแกนนำเครือข่าย เช่น ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และนายนพ สัตยาศัย เข้าร่วม
โดยนายปานเทพกล่าวว่า ตามที่ที่ประชุม สนช.ได้บรรจุวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมฯ ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ แต่ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับไม่ได้มีการแก้ไขให้เป็นไปตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งที่ประชุม สนช.ได้เห็นชอบรายงานดังกล่าว และผ่านการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไปแล้ว เมื่อร่างกฎหมาย 2 ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่นอกจากจะปิดกั้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และไม่ได้แก้ไขบทบัญญัติให้เป็นไปตามที่ กมธ.ของ สนช.ได้ศึกษาไว้ คปพ.จึงขอให้ สนช.ไม่รับพิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว เนื่องจากอาจมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติ ทั้งทางเศรษฐกิจ พลังงาน และทางการทหารรวมทั้งอธิปไตยด้านพลังงานของประเทศด้วย
“คปพ.ขอเป็นกำลังใจให้ สนช.แสดงความกล้าหาญทางจริยธรรม เป็นที่พึ่งหวังของประชาชน ในการยืนหยัดการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับให้เป็นไปตามผลการศึกษาของ กมธ.ที่ที่ประชุม สนช.ได้เคยรับรองไว้แล้ว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง” นายปานเทพระบุ
นายปานเทพกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ คปพ.ยังได้เชิญชวนประชาชนให้เข้าชื่อร่วมเสนอร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการปิโตรเลียมฯของ คปพ. ซึ่งมีการบัญญัติเนื้อหาตามผลการศึกษา กมธ.ของ สนช. และได้เคยผ่านความเห็นชอบในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดนสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งขอเชิญชวนประชาชนมาร่วมเข้าชื่อในการคัดค้านร่างกฎหมายของกระทรวงพลังงาน และเข้าชื่อเพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการปิโตรเลียมฯ ในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ ที่สโมสรรัฐสภา ตั้งแต่เวลา 09.00 น.เป็นต้นไป โดยจะมีการยื่นหนังสือถึงประธาน สนช.ในเวลา 10.00 น. รวมทั้งขอให้ประชาชนผู้สนใจร่วมติดตามการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมฯของที่ประชุม สนช.ร่วมกันในวันที่ 24 มิ.ย.ที่รัฐสภา
“วันที่ 24 มิ.ย.ตรงกับวันครบรอบครบ 84 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แม้ สนช.ชุดนี้จะมาจากอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ แต่ก็ต้องฟังเสียงประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ ตามพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้มีพระราชหัตถเลขาไว้เมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง” นายปานเทพกล่าว
ด้านนายธีระชัยกล่าวเสริมว่า เมื่อช่วงปี 2557 ตนรู้สึกดีใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เล็งเห็นถึงข้อเรียกร้องของภาคประชาชนที่ต้องการให้มีการบริหารจัดการปิโตรเลียมและพลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ และได้สั่งการให้กระทรวงพลังงานชะลอการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ออกไป พร้อมให้จัดตั้งเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งตนก็ได้ร่วมนำเสนอข้อมูลด้วย ทั้งยังทราบว่านายกฯได้ให้กระทรวงพลังงานไปดำเนินการแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มทางเลือกในการบริหารจัดการปิโตรเลียมให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของระบบการแบ่งปันผลผลิต ที่ทำให้ประเทศได้ประโยชน์มากกว่าระบบสัมปทาน รวมทั้งทางเลือกในเรื่องของการจ้างผลผลิต อย่างไรก็ตาม เมื่อกระทรวงพลังงานได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมฯ กลับไม่ได้มีการปฏิบัติตามข้อสั่งการของนายกฯแต่อย่างใด
นายธีระชัยกล่าวอีกว่า สิ่งที่กระทรวงพลังงานยกร่างในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมฯ นั้น มีเพียงถ้อยคำเรื่องระบบการแบ่งปันผลผลิต แต่ในเนื้อหาจริงๆ แล้วไม่มีระบบการแบ่งปันผลผลิตตามหลักสากล เนื่องจากไม่สามารถนำอธิปไตยทางพลังงานกลับมาเป็นของปวงชนชาวไทยได้ และกระบวนการในการคัดเลือกผู้ที่จะเข้ามารับสัมปทานก็ยังวนเวียนอยู่ในระบบการใช้ดุลพินิจของข้าราชการเหมือนเดิม ไม่ได้ใช้วิธีประมูลโปร่งใส การร่างกฎหมายลักษณะนี้จึงเป็นเรื่องของการลวงและการพราง
“ลวงโดยการให้ประชาชนสบายใจว่าได้ทำตามข้อเรียกร้องแล้ว เพิ่มทางเลือกระบบแบ่งปันผลผลิตเข้าไปแล้ว แล้วก็ยังพรางระบบสัมปทานให้คงอยู่ สิ่งที่ร่างในกฎหมายเนื้อจริงๆ ก็คือระบบสัมปทานเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นจึงอยากกราบเรียนท่านนายกฯ ว่า หากไม่แก้ไขตัวร่างกฎหมายนี้ให้กลับมาเป็นตามที่เคยได้สั่งการไว้ ประเทศก็จะไม่ได้ประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง” นายธีระชัยกล่าว
ในส่วนข้อกังวลที่ว่า หากภาคประชาชนร่วมลงชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการปิโตรเลียมฯ ของ คปพ.จะขัดต่อ พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2556 เนื่องจาก ร่าง พ.ร.บ.ของ คปพ.มีลักษณะเป็นกฎหมายการเงินนั้น นายธีระชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมาร่างกฎหมายที่ประชาชนเป็นผู้ยกร่างนั้นมีไม่ค่อยมาก และส่วนใหญ่ไม่ใช่กฎหมายใหญ่ที่มีความซับซ้อน แต่ร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการปิโตรเลียมฯ ของ คปพ.นั้นมีรายละเอียดในเชิงเทคนิคค่อนข้างมาก และจัดทำได้ยาก ซึ่งก็ปรากฏข้อถกเถียงว่า ร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการปิโตรเลียมฯ นั้นอาจจะเข้าข่ายกฎหมายการเงิน ซึ่งในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ระบุว่าให้ ครม.เป็นผู้เสนอเท่านั้น และหากมีข้อสงสัยก็ให้ให้ประธาน สนช.เป็นผู้วินิจฉัย แต่ในฐานะที่ผ่านงานด้านการเงินมานั้นมองว่า ร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการปิโตรเลียมฯไม่ใช่กฎหมายการเงินอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ เพราะเจตนารมณ์ที่รัฐธรรมนูญกว่าไว้นั้นหมายถึง กฎหมายที่เกี่ยวกับภาษี และการจัดเก็บรายได้ของรัฐ
“ร่างกฎหมายของ คปพ.นั้นไม่ใช่กฎหมายการเงิน เพราะ คปพ.เสนอเฉพาะในส่วนของร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ เพียงฉบับเดียว ที่เป็นกระบวนการบริหารจัดการปิโตรเลียมเท่านั้น ไม่ได้ยุ่งกับร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมฯแต่อย่างใด หากประธาน สนช.ซึ่งเป็นผู้วินิจฉัยมองว่าเป็นกฎหมายด้านการเงิน คปพ.ก็จำเป็นต้องยยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูยต่อไป” นายธีระชัยกล่าว
ขณะที่ ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าวตอนหนึ่งว่า ร่างกฎหมายที่กระทรวงพลังงานเสนอและผ่านความเห็นชอบจาก ครม.นั้น ไม่ได้มีการบรรจุปัญหาที่ได้จากผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ไว้แต่อย่างใด ทำให้ช่องโหว่และปัญหาต่างๆ ยังอยู่ครบถ้วน ร่างของกระทรวงพลังงานมีการแก้ไขจริงๆ เพียง 2 มาตราหรือไม่ถึง 10% ของทั้งหมด ซึ่งจากการได้อ่านร่างของกระทรวงพลังงานในฐานะประชาชนต้องบออกว่าเสียใจ เนื่องจากไม่ได้มีผลในการปกป้องประโยชน์ของชาติและประชาชน ต่างจากกฎหมายในหลายๆ ประเทศที่เขียนชัดเจนว่าปิโตรเลียมเป็นของปวงชนในประเทศ รัฐในฐานะตัวแทนต้องบริหารจัดการเพื่อผลประโยชน์ของปวงชน แต่กฎหมายของไทยระบุเพียงว่าปิโตรเลียมเป็นของรัฐ แล้วท้ายที่สุดเอกชนก็นำไปขาย
“ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมฯ ของกระทรวงพลังงานที่กำลังเข้า สนช. เป็นการไม่ให้เกียรติ สนช.เป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่ได้มีการให้ความสำคัญต่อผลการศึกษาของ กมธ.วิสามัญของ สนช.เอง หากที่ประชุม สนช.จะลงมติรับร่างไปได้ก็ถือเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดมาก” ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าว