เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย ระบุ สนช. เตรียมผลักดันร่างกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับของกระทรวงพลังงาน ศุกร์นี้ เตรียมเคลื่อนไหวคัดค้าน และชงกฎหมายปิโตรเลียมภาคประชาชน นักวิชาการ ระบุ เบื้องหลังกฎหมายปิโตรเลียมปี 2514 คือ ฝรั่งเชื่อมกลุ่มทุนพลังงาน คาด ปี 59 ไม่ต่างกัน หมายปอง “เอราวัณ - บงกช”
วันนี้ (20 มิ.ย.) เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้จัดรายการ คปพ. พบประชาชนครั้งที่ 2 บรรษัทพลังงานไทย กับ อธิปไตยพลังงานของชาติ โดยออกอากาศผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” โดย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นักวิชาการอิสระ และแกนนำเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย กล่าวว่า ในวันที่ 24 มิ.ย. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้บรรจุวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม และ ร่าง พ.ร.บ. ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เป็นวาระเร่งด่วนทั้งวาระรับหลักการ (วาระที่ 1) และวาระพิจารณา (วาระที่ 2) ถือเป็นกระบวนการที่รวบรัดตัดตอน
นายปานเทพ กล่าวว่า ถ้ากฎหมายผ่านหลักการ ความหมายจะเปลี่ยนแปลงไป ส่วนตัวเห็นว่า สนช. ให้ความเห็นชอบกับกรรมาธิการศึกษาฯ ถ้ามีร่างแก้ไขของกระทรวงพลังงานไม่ตรงกัน ถือว่า สนช. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ โดยในวันพรุ่งนี้จะประชุมกัน ก่อนร่างจดหมายถึง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ว่า ทำไมรับรองร่างกฎหมายของกระทรวงพลังงาน ซึ่งขัดแย้งกับผลการศึกษาของกรรมาธิการ และที่สำคัญคือ การไม่มีบรรษัทพลังงาน
ขณะเดียวกัน จะยื่นคำร้องให้ประธาน สนช. รับรองร่างกฎหมายภาคประชาชนพิจารณาประกบคู่กับกระทรวงพลังงาน ซึ่งในวันพุธจะแถลงข่าว ก่อนที่วันพฤหัสบดีจะมีตัวแทน 20 คน ริเริ่มเสนอกฎหมายปิโตรเลียมภาคประชาชน ขณะที่ผู้ที่ต้องการคัดค้านร่างกฎหมายกระทรวงพลังงาน ก็ลงชื่อได้ ก่อนเสนอ คปพ. ให้ยื่นรายชื่อโดยประชาชน ทั้งนี้ จะอาศัยสิทธิ์มาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญปี 2557 รับรอง ซึ่งต้องเจอกันที่ศาลรัฐธรรมนูญ ประชาชนมีสิทธิ์จะมาร่วมกิจกรรมได้ในฐานะหนึ่งในผู้คัดค้านกฎหมายของ ครม. และเสนอกฎหมายของประชาชน
นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล แกนนำ คปพ. และอดีต รมว.คลัง กล่าวว่า ตนสงสัยว่า นาน ๆ ทีจะมีการออกกฎหมายที่เร่งรัดขนาดนี้ มีลักษณะเอาใจฝ่ายทุนมากเกินไป ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวเกิดจากการคัดค้านการให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 โดย คปพ. และอีกหลายคน ซึ่งนายกฯ เห็นด้วยในการแก้ไขกฎหมายให้มีทางเลือก นอกเหนือจากการให้สัมปทาน แต่กระทรวงพลังงานไม่ได้ดำเนินการตามนั้น กลับยกร่างกฎหมายที่ซ่อนเงื่อน ลวงพราง และลักษณะของกฎหมายทำลายประเทศหลายด้าน โดยเฉพาะอธิปไตยของพลังงาน
ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี แกนนำ คปพ. กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่เหมือนกับฉบับที่ สนช. ให้แก้ไข โดยมีกรรมาธิการชุดหนึ่งได้ทำการศึกษา และให้ความเห็นชอบก่อนหน้านี้ แต่การแก้ไขที่ตรงกับที่กรรมาธิการศึกษาน้อยมาก ปัญหาสำคัญ และช่องโหว่ของกฎหมายไม่ได้แก้ไว้เลย เช่น ค่าใช้จ่ายนอกประเทศ และค่ารับรองที่ไม่จำกัดจำนวน แต่พบว่า ภาษีลดลงเหลือ 20% แต่ช่องโหว่ของกฎหมายไม่ได้แก้เลย ถือเป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสของกลุ่มทุนพลังงาน ส่วนบางมาตราที่ให้เข้าไปตรวจสอบรายได้ของบริษัทได้ หากมีผู้ใดขัดขวางมีโทษจำคุกและปรับ ก็ตัดบทลงโทษออก
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. ทั้งสองฉบับที่กระทรวงพลังงานเสนอ ถ้ารับรองก็เท่ากับสองมาตรฐาน เพราะทำกฎหมายคนละเรื่องกับผลการศึกษาของกรรมาธิการใน สนช. เพราะแทนที่จะเพิ่มโทษสำหรับคนที่ขัดขวางการตรวจสอบ ขณะเดียวกัน ตนเห็นเอกสารที่ผ่าน ครม. ที่ลงนามโดยนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากผ่านกฎหมายฉบับนั้นไปจะถูกประชาชนติฉินนินทาไปอีกหลายสิบปี จึงถือว่าเป็นการปกป้องศักดิ์ศรีนายกรัฐมนตรีไปในตัว
นายวิวัฒน์ชัย อัตถากร นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ตนเห็นว่าปฏิบัติการสายฟ้าแลบ ไม่ค่อยปกติที่เพียงสองสามจังหวะก็ยิงตรง สนช. ถามว่า เป็นเรื่องพิศวงหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ แต่แทบไม่น่าเชื่อว่า เขากล้าที่จะทำแบบกลางวันแสก ๆ หัวใจสำคัญ คือ เขาพยายามใส่เทคนิคทางกฎหมาย ซึ่งเถียงได้หลายแง่มุม แต่เขาไม่ได้เปลี่ยนแปลงกฎหมายปี 2514 เลย โดยเฉพาะกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมเป็นของใคร และใครจัดการสูงสุด ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการรวบรัด เพราะหากกเปิดโอกาสมาก จะไม่สามารถคนเชื่อเขาได้ว่าสิ่งที่เขาทำไม่ได้เปลี่ยนไป ซึ่งภาคประชาชนได้ย้ำจุดเปลี่ยนตรงนี้มาตลอด
ตนเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. สองฉบับที่รัฐบาลพยายามผลักดันไปที่ สนช. จะเป็นประเด็นที่ไม่จบง่าย ๆ ถ้าออกกฎหมายมาเที่ยวนี้ จะบังคับใช้ยาวนานถึง 39 ปี ที่สัมปทานมีอยู่ จึงเป็นจุดที่พิจารณาอย่างยิ่ง ตนเห็นว่า ชุดความคิดของรัฐกับกลุ่มทุนคนละอย่างกับประชาชน ซึ่งประนีประนอมไม่ได้ เพราะเป็นหลักได้เสียของแผ่นดิน จึงไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้พูด ซึ่งเป้นประเด็นซ่อนเร้น พยายามเขียนไว้ว่าทรัพยากรของรัฐ แต่ไม่แตะมาตราที่ให้รัฐคุมกลไกขายให้เอกชน ทั้งที่เราต้องการให้ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ การประนีประนอมที่ไม่ถูกต้องนั้น ต้องถามนายกรัฐมนตรีว่า จุดยืนอยู่ตรงไหน กลุ่มทุนคิดอย่างไร ข้าราชการคิดอย่างไร ประชาชนคิดอย่างไร สุดท้ายขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี
นายวิวัฒน์ชัย กล่าวว่า เรื่องอธิปไตยพลังงานเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะเป็นผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ และประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ว่าขุดหรือขนส่ง หรือการขาย รัฐจะต้องยึดกุมกลไกอำนาจโดยยึดผลประโยชน์ของประชาชน ทรัพยากรปิโตรเลียมเป็นยุทธปัจจัย จึงเป็นเครื่องมืออำนาจของทางทางทหาร ในประเทศไทย คนที่ได้รับร่างกฎหมาย พ.ร.บ. ปิโตรเลียม ปี 2514 ชื่อว่า นายวอเตอร์ เจมส์ ลีวาย เป็นคนหลายสัญชาติ มีบริษัทที่ปรึกษาเป็นหน้าฉาก แต่ว่ากันว่าเป็นซีไอเอ (CIA) ในยุคนั้นเป็นสงครามเย็น ซึ่ง นายลีวาย เป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัท สแตนดาร์ดออยล์ ที่ตอนหลังเปลี่ยนเป็นยูโนแคล และ เชฟรอน เป็นแผนในการรุกเอาทรัพยากรปิโตรเลียม นักเศรษฐศาสตร์การเมือง จึงมองว่า พ.ร.บ. ปิโตรเลียม ปี 2514 เขียนโดยฝรั่งเพื่อฝรั่ง ฝรั่งร่างฝรั่งรวย เรียกว่า กฎหมายไล่ล่าอาณานิคม
ฉากที่สำคัญคือ ปี 2514 ตัวละครคล้ายกับปี 2559 นายลีวาย และ ยูซอม เป็นเครื่องมือกลไกขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (USAID) ในการจัดการของทรัพยากร โดยยูซอมจะเป็นตัวเชื่อมกับรัฐ ตัวละครสำคัญที่สุด คือ สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (The Council on Foreign Relations หรือ CFR) โดยให้ทุนและจัดการเรื่องกฎหมาย จัดการทุกความคิด แม้แต่ดารานักแสดงก็วางไว้ ซึ่งเบื้องหลังของ CFR คือ บริษัทน้ำมัน จะหาคอนเนกชั่นกับปัญญาชนและคนที่มีอำนาจรัฐ เราจะเห็นประธานาธิบดีบุชผู้พ่อไปพบใครบ้าง รวมทั้งบุคคลสำคัญจากสหรัฐฯ จึงตั้งสมมติฐานว่า การผลักดันกฎหมายพลังงานปี 2559 นั้นไม่ธรรมดา เพราะแหล่งที่ใหญ่ที่สุดที่เขาหมายตา คือ แหล่งเอราวัณและบงกช แหล่งอื่นเป็นเพียงแค่สับขาหลอก
ต่อมา นายธีระชัย ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala ว่า อธิปไตยพลังงานอยู่ในมือสมาชิก สนช. เวที คปพ. รวมการเฉพาะกิจวันนี้ ได้เรียนรู้ข้อมูลที่สำคัญหลายอย่างครับ
1. USOM (องค์กรของรัฐบาลสหรัฐ ปัจจุบันชื่อ USAID) เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือร่าง พรบ.ปิโตรเลียมในปี 2514 โดยมีบุคคลเกี่ยวข้องกับบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่เป็นผู้ดำเนินการ
2.พรบ. จึงกำหนดให้ใช้ระบบสัมปทานอย่างเดียว
3. พรบ. จึงเอื้อประโยชน์แก่ผู้รับสัมปทานมาก ประหนึ่งเป็นเมืองขึ้น สูญเสียอธิปไตยพลังงาน
4.มาวันนี้ รัฐบาลเสนอแก้ไข พรบ. ปิโตรเลียม อ้างว่าจะเพิ่มทางเลือก แต่กลับยกร่างออกมา มีผลในทางปฏิบัติ กลับเป็นรูปแบบสัมปทานเหมือนเดิม
ผมคงจะต้องฝากสมาชิก สนช. ที่เป็นทหารช่วยกันป้องกัน อย่าให้ต้องเสียอธิปไตยไปอีกครั้งหนึ่ง
เราเห็นตัวอย่างมามากเรื่องยุทธการในสามก๊ก
ถ้ามีคนในเมืองเปิดประตูเมืองให้แก่ข้าศึก เหมือนที่กำลังเกิดขึ้นทุกวันนี้ อธิปไตยก็ไม่ต้องพูดถึง