ทูตมะกัน พบ “รมว.พลังงาน” ถกความคืบหน้า “แผนพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำ”จากผลประชุม ข้อริเริ่มลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง เน้นร่วมมือกันส่งเสริมมาตรการการป้องกันที่แข็งแกร่งต่อความเสี่ยงด้านสภาพแวดล้อม พร้อมหารือเดินหน้าตามข้อตกลงปารีส ชู “พลังงานสะอาด” และการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาค ไร้เรื่อง “สัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21-สัมปทานแหล่งเอราวัณ
วันนี้ (22 เม.ย.) มีรายงานว่า เว็บไซต์สถานทูตสหรัฐอมเริกาประจำประเทศไทย และแฟนเพจ U.S. Embassy Bangkok เผยแพร่ภาพ เอกอัครราชทูต กลิน เดวีส์ เข้าพบ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านพลังงานในประเทศไทยและทั่วทั้งภูมิภาค ภายใต้ข้อริเริ่มลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง สหรัฐอเมริกาและไทยร่วมกันเป็นผู้นำความพยายามส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานในภูมิภาคผ่านการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน ทั้งสองประเทศกำลังร่วมมือกันส่งเสริมมาตรการการป้องกันที่แข็งแกร่งต่อความเสี่ยงด้านสภาพแวดล้อมจากการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำในภูมิภาค
นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกาและไทยยังจะทำงานร่วมกันผ่านข้อริเริ่ม ASEAN Connect ของประธานาธิบดีโอบามาเพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงด้านพลังงาน พลังงานสะอาด และความมั่นคงด้านพลังงาน รวมทั้งผ่านโครงการใหม่ Clean Power Asia ของ USAID ที่ให้การสนับสนุนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาค ความพยายามเหล่านี้จะส่งเสริมพันธกรณีที่ประเทศทั้งสองมีร่วมกันในการมุ่งสู่เศรษฐกิจพลังงานสะอาดคาร์บอนต่ำภายใต้ข้อตกลงปารีส ซึ่งเป็นข้อตกลงประวัติศาสตร์เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ และผู้นำจากกว่าหนึ่งร้อยประเทศกำลังจะลงนามในวันนี้ ณ นครนิวยอร์ก
ทั้งนี้ ครม.เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ได้ เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมในพิธีลงนามระดับสูงความตกลงปารีส (High-level signature ceremony of the Paris Agreement) ในวันที่ 22 เมษายน 2559 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้มีอำนาจลงนามในพิธีลงนามระดับสูงความตกลงปารีส
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์สำคัญของความตกลงปารีส คือ การกำหนดเป้าหมายร่วมกันระดับโลก 3 เป้าหมายหลัก ได้แก่ (1) ควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และการมุ่งพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม (2) เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อผลกระทบทางลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการส่งเสริมความสามารถในการฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ โดยไม่กระทบต่อการผลิตอาหาร และ (3) และทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนที่มีความสอดคล้องกับแนวทางที่นำไปสู่การพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและการพัฒนาให้มีความสามารถในการ ฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ส่วนรายละเอียดของความตกลงปารีส ครอบคลุมการดำเนินงานเกี่ยวกับการลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อผลกระทบทางลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสนับสนุนทางการเงิน การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี การเสริมสร้างศักยภาพของประเทศกำลังพัฒนาและกรอบการรายงานข้อมูลให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงานและการสนับสนุนการดำเนินงานแก่ประเทศกำลังพัฒนา
ทั้งนี้ การลงนามเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีส เป็นการแสดงเจตจำนงทางการเมืองในทางนโยบายของไทยในการร่วมมือกับประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยความตกลงปารีสจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 หลังจากวันที่ภาคีอนุสัญญาอย่างน้อยที่สุด 55 ภาคี ซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันอย่างน้อยที่สุด ประมาณร้อยละ 55 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ได้มอบสัตยาบันสาร สารการยอมรับ สารการให้ความเห็นชอบ หรือภาคยานุวัติสาร ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีในฐานะประธานกลุ่ม 77 ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ ความตกลงปารีสเปิดโอกาสให้แต่ละประเทศกำหนดการดำเนินงานที่เหมาะสมของประเทศได้เอง ซึ่งประเทศไทยสามารถกำหนดให้สอดคล้องกับแผนระดับประเทศและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และการลงนามความตกลงปารีสนี้ ยังไม่ถือว่าประเทศไทยมีพันธกรณีใด ๆ
มีรายงานว่า การเข้าพบพลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ ของเอกอัครราชทูตเดวีส์ ครั้งนี้ ไม่มีการหารือเรื่องความคืบหน้า การเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ที่สะดุดมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 หลังจากที่มีการคัดค้าน โดนเฉพาะการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าสิ้นเดือนเมษายนนี้ ก่อนสรุปเพื่อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของ สนช. อีกครั้ง รวมถึงเรื่องการบริหารจัดการแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุ 2 แหล่ง ในปี 2565-2566 ได้แก่ แปลงสำรวจหมายเลข B10, B11, B12 และ B13 (สัมปทานหมายเลข 1/2515/5 และ 2/2515/6) ของแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและใกล้เคียง ดำเนินการโดย บริษัท เชฟรอน (ประเทศไทย) สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด