xs
xsm
sm
md
lg

บรรลุ ‘ข้อตกลงภูมิอากาศปารีส’ หลักหมายแสดงถึง ‘โลก’ ก้าวออกจากการใช้น้ำมัน, ก๊าซ, ถ่านหิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>จากซ้ายไปขวา) คริสเตียนา ฟิกัวเรส เลขาธิการของอนุสัญญาแม่บทสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ, บัน คีมุน เลขาธิการใหญ่ยูเอ็น, โลรองต์ ฟาเบียส รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ผู้ทำหน้าที่ประธานของการประชุมที่ปารีสคราวนี้, และประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ แห่งฝรั่งเศส แสดงความปลาบปลื้มยินดีระหว่างการประชุมเต็มคณะครั้งสุดท้ายของ การประชุมการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกปี 2015 (COP 21) ที่ เลอบัวเช นอกกรุงปารีส ในวันเสาร์(12ธ.ค.) </i>
รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - ภายหลังการเจรจาต่อรองกันอย่างยืดเยื้อ การประชุมซัมมิตการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกในกรุงปารีส ก็สามารถบรรลุข้อตกลงที่เป็นหลักหมายสำคัญยิ่งเมื่อวันเสาร์ (12 ธ.ค.) โดยกำหนดเส้นทางสำหรับการใช้ช่วงเวลาหลายสิบปีข้างหน้าในการแปรเปลี่ยนโลกปัจจุบันที่เศรษฐกิจขับดันด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อพยายามสกัดกั้นภาวะโลกร้อนซึ่งกำลังคุกคามสร้างความทุกข์ยากเดือดร้อนแสนสาหัสยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

หลังจากระยะเวลา 4 ปีของการเจรจาที่สหประชาชาติเป็นผู้อุปถัมภ์และเต็มไปด้วยปัญหาทุกฝีก้าว โดยมักมีการขัดแย้งทางด้านผลประโยชน์ระหว่างชาติร่ำรวยกับชาติยากจน, ระหว่างรัฐที่เป็นเกาะซึ่งตกอยู่ในอันตราย กับชาติเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ที่กำลังเติบโตขยายตัว รัฐมนตรีต่างประเทศ โลรองต์ ฟาเบียส ของฝรั่งเศส ก็สามารถออกมาประกาศว่าข้อตกลงได้รับการยอมรับแล้ว เรียกเสียงปรบมือและเป่าปากพร้อมกับลุกขึ้นยืนด้วยความปลาบปลื้มยินดีจากบรรดาผู้แทนของเกือบๆ 200 ชาติทั่วโลก
<i>โลรองต์ ฟาเบียส รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ผู้ทำหน้าที่ประธานของการประชุมที่ปารีสคราวนี้ ใช้ค้อนประธานเคาะ ระหว่างการประชุมเต็มคณะครั้งสุดท้ายของ COP21 เมื่อวันเสาร์ (12 ธ.ค.) </i>
“ด้วยค้อนเล็กๆ อันเดียว พวกท่านก็สามารถบรรลุสิ่งต่างๆ อันยิ่งใหญ่ได้” ฟาเบียสกล่าว ขณะที่เขาเคาะค้อนเพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงว่าที่ประชุมยอมรับข้อตกลงแล้ว และปิดฉากการเจรจาต่อรองอย่างตึงเครียดที่ดำเนินมา 2 สัปดาห์ ณ การประชุมซัมมิตซึ่งจัดขึ้นที่บริเวณรอบนอกของนครหลวงฝรั่งเศส

ข้อตกลงใหม่นี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นข้อตกลงรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของทั่วโลกอย่างแท้จริงฉบับแรก โดยผูกพันทั้งชาติร่ำรวยและชาติยากจนให้ดำเนินการควบคุมการปล่อยไอเสียก๊าซเรือนกระจก ซึ่งถูกประณามว่าเป็นต้นเหตุหลักในการทำให้อุณหภูมิของพื้นพิภพสูงขึ้นเรื่อยๆ และมีการกำหนดเป้าหมายระยะยาวอันครอบคลุม ในการกำจัดปริมาณไอเสียสุทธิในรอบศตวรรษนี้

นอกจากนั้น ข้อตกลงนี้ยังสร้างระบบที่มุ่งส่งเสริมสนับสนุนชาติต่างๆ ให้ยกระดับเพิ่มพูนความพยายามด้วยความสมัครใจภายในแต่ละประเทศเองในเรื่องการลดการปล่อยไอเสีย รวมทั้งจัดหาเงินอีกนับหมื่นนับแสนล้านดอลลาร์ เพื่อใช้ช่วยเหลือชาติยากจนทั้งหลายในการใช้จ่ายแปรเปลี่ยนเศรษฐกิจของพวกตนให้ไปสู่เศรษฐกิจที่ขับดันกับพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าพลังงานฟอสซิลอย่างถ่านหิน, น้ำมัน, แก๊ส

เนื้อหาของข้อตกลงสุดท้าย โดยสาระสำคัญแล้วไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากฉบับร่างซึ่งเปิดเผยกันออกมาในช่วงเช้าของวันเดียวกัน โดยยังคงระบุถึงวัตถุประสงค์ในการยับยั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ ให้อยู่ในระดับ “ต่ำลงไปกว่า” (well below) 2 องศาเซลเซียสเหนือระดับอุณหภูมิโลกในช่วงก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ทั้งนี้ก่อนหน้าการประชุมคราวนี้ จุดที่มุ่งผลักดันให้ตกลงกันให้ได้ ยังอยู่ที่ขีด 2 องศาเซลเซียสเท่านั้น
<i>สตรีผู้หนึ่งเดินผ่านแผนที่แสดงระดับน้ำทะเลซึ่งเพิ่มสูงขึ้นในรอบ 22 ปีที่ผ่านมา ณ การประชุมการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกปี 2015 (COP 21) ที่ เลอบัวเช นอกกรุงปารีส เมื่อวันศุกร์ (11 ธ.ค.) </i>
ในบางแง่บางมุมแล้ว กล่าวได้ว่ามีการรับประกันความสำเร็จของการประชุมคราวนี้ตั้งแต่ก่อนที่ซัมมิตปารีสจะเริ่มต้นขึ้น เมื่อมีชาติต่างๆ 187 ชาติยื่นเสนอแผนการระดับประเทศของตน เกี่ยวกับวิธีที่ตนจะใช้ในการจำกัดควบคุมการปล่อยไอเสียก๊าซเรือนกระจก โดยที่คำมั่นสัญญาเหล่านี้เองที่ถือเป็นแกนกลางของข้อตกลงปารีสครั้งนี้

ขณะที่ปล่อยให้แต่ละประเทศเป็นผู้ดำเนินมาตรการต่างๆ ด้วยตนเอง แต่ข้อตกลงนี้ก็มีการกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมและเส้นทางแห่งการปฏิบัติการร่วมกัน ซึ่งถือเป็นความสำเร็จในท้ายที่สุดภายหลังการเจรจาต่อรองมาหลายปีในเรื่องจะทำอย่างไรกันต่อไปเพื่อสกัดกั้นภาวะโลกร้อน

พวกเจ้าหน้าที่ต่างวาดหวังว่าเมื่อสามารถกำหนดจุดยืนที่เป็นเอกภาพกันขึ้นมาได้ จะกลายเป็นสัญลักษณ์อันทรงพลังสำหรับพลโลกทั้งหลาย และเป็นสัญลักษณ์อันทรงศักยภาพสำหรับพวกผู้บริหารภาคธุรกิจและนักลงทุนที่จะอิงอาศัย ในเวลาที่พวกเขาจับจ่ายเงินทองมหาศาลระดับหลายล้านล้านดอลลาร์ เพื่อแทนที่กระแสไฟฟ้าซึ่งผลิตจากถ่านหิน ด้วยกระแสไฟฟ้าจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และจากกังหันลม
<i>นักเคลื่อนไหวขององค์กรนอกภาครัฐบาล (เอ็นจีโอ) จำนวนมาก ร่วมกันใช้ร่างกายแปรเป็นตัวอักษรว่า +3°C SOS  ที่บริเวณใกล้ๆ หอไอเฟล กรุงปารีส เมื่อวันเสาร์ (12 ธ.ค.) ทั้งนี้มีนักเคลื่อนไหวเรือนหมื่นไปตั้งแคมป์ชุมนุมกันรอลุ้นผลการประชุม COP21 </i>
ถึงแม้นักเคลื่อนไหวด้านภูมิอากาศบางราย รวมทั้งพวกสมาชิกรัฐสภาสังกัดพรรครีพับลิกันในสหรัฐฯ ยังน่าที่จะพยายามมองหาความบกพร่องผิดพลาดของข้อตกลงคราวนี้ขึ้นมาวิพากษ์โจมตี --ไม่ว่าในแง่ของความล้มเหลวมิได้กำหนดให้มีการปฏิบัติการอย่างใหญ่โตครอบคลุมเพียงพอ หรือในแง่ของการที่มันเป็นแค่ “การแสดงปฏิกิริยาอย่างเกินเลยต่อภัยคุกคามที่ยังไม่เห็นมีความแน่นอนชัดเจนอะไร” - แต่ผู้คนจำนวนมากมายในหมู่เจ้าหน้าที่, นักวิชาการ และนักรณรงค์เคลื่อนไหวราว 30,000 คน ซึ่งตั้งแคมป์ชุมนุมกันอยู่ใกล้ๆ ที่ประชุมนอกกรุงปารีสคราวนี้ ต่างบอกว่าพวกเขามองว่าข้อตกลงนี้เป็นจุดพลิกผันสำคัญที่ควรจะเกิดขึ้นมาตั้งนานแล้ว

ขณะที่พวกผู้แทนซึ่งเข้าร่วมประชุมชี้ว่า 6 ปีภายหลังการประชุมซัมมิตภูมิอากาศครั้งก่อนในกรุงโคเปนเฮเกน, เดนมาร์ก สิ้นสุดลงด้วยความล้มเหลวและความโกรธเกรี้ยวเดือดดาล การตกลงกันในปารีสครั้งนี้ดูจะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันขึ้นมาได้ใหม่อย่างมากมายทีเดียว โดยที่ความไว้วางใจกันย่อมเป็นเงื่อนไขสำหรับการพยายามอย่างสอดประสานกันของทั่วโลก ในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
<i>ส่วนหนึ่งของนักเคลื่อนไหวขององค์กรนอกภาครัฐบาล (เอ็นจีโอ) จำนวนมาก ที่ร่วมกันใช้ร่างกายแปรเป็นตัวอักษรว่า +3°C SOS  ที่บริเวณใกล้ๆ หอไอเฟล กรุงปารีส เมื่อวันเสาร์ (12 ธ.ค.) </i>
“เมื่อตอนที่เราออกจากโคเปนเฮเกนนั้น เราต่างหวาดกลัวว่าอะไรจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า แต่เรากำลังออกจากปารีสด้วยแรงบันดาลใจที่จะทำการต่อสู้ต่อไป” เดวิด เทิร์นบูลล์ แห่ง “ออยล์ เชนจ์ อินเตอรเนชั่นแนล” ซึ่งเป็นองค์กรการวิจัยและรณรงค์ที่คัดค้านการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิสกล่าว

นักเคลื่อนไหวภูมิอากาศส่วนใหญ่ต่างแสดงปฏิกิริยาในทางบวก โดยรู้สึกมีกำลังใจจากเป้าหมายระยะยาวต่างๆ ซึ่งมีความทะเยอทะยานมุ่งหวังสูงกว่าที่พวกเขาคาดหมายเอาไว้เสียอีก แต่ขณะเดียวกัน พวกเขาก็เตือนว่านี่เป็นเพียงก้าวแรกของก้าวเดินอีกมากมายที่จะต้องติดตามมา

“วันนี้เราเฉลิมฉลองกัน พรุ่งนี้เราจะต้องทำงานกัน” มิเกล อาริอัส กาเนเต กรรมาธิการยุโรปฝ่ายภูมิอากาศ กล่าวอย่างสอดคล้องกับบรรยากาศ

โอบามาบอก “โอกาสดีที่สุดที่มีอยู่” สำหรับปกป้องพิภพ

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ระบุในการแถลงข่าวที่ทำเนียบขาวว่า ข้อตกลงนี้เป็น “โอกาสดีที่สุดที่พวกเรามีอยู่สำหรับการปกป้องรักษาพิภพแห่งเดียวของพวกเรา”

เขาระบุว่า ข้อตกลงนี้ “ทะเยอทะยานมุ่งหวังสูง” และแสดงให้เห็นว่าเมื่อทั่วโลกรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวแล้วสามารถทำอะไรได้ถึงขนาดไหน กระนั้นเขาก็ยอมรับด้วยว่า สิ่งที่ออกมาจากปารีสคราวนี้ ยังไม่มี “ความสมบูรณ์”

ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศจอห์น เคร์รี ซึ่งเป็นผู้นำคณะเจรจาของสหรัฐฯในปารีส กล่าวว่า นี่เป็นชัยชนะสำหรับทุกๆ คนบนพื้นพิภพนี้ และสำหรับผู้คนรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต”

“ณ ที่นี้ เราได้กำหนดเส้นทางขึ้นมาแล้ว โลกได้มารวมตัวกันรอบๆ ข้อตกลงซึ่งจะให้อำนาจแก่เราในการแผ้วถางเส้นทางใหม่สำหรับพิภพของเรา เป็นเส้นทางที่ฉลาดและรับผิดชอบ เป็นเส้นทางอันยั่งยืน”

ทางด้าน เซี่ย เจิ้นหวา หัวหน้าคณะเจรจาของจีน กล่าวว่า ข้อตกลงนี้ได้เห็นชาติต่างๆ ของโลก “กำลังเคลื่อนตัวเดินก้าวแห่งประวัติศาสตร์ไปข้างหน้า”

“ทุกๆ ฝ่ายต่างตัดสินใจเลือกในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประชาชนของพวกเขาเอง, เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อคนรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต, และโน้มนำไปสู่การพัฒนาอันยั่งยืนตลอดทั่วโลก”

“นี่เป็นการลงมือกระทำอันแสนวิเศษจริงๆ โดยที่เป็นการลงมือกระทำของคนรุ่นเรา ของพวกเราทั้งหมด” เขากล่าว

สำหรับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย โพสต์ในทวิตเตอร์วันอาทิตย์ (13) ว่า “ผลลัพธ์ของข้อตกลงปารีสนั้นไม่มีผู้ชนะหรือผู้พ่ายแพ้ ความยุติธรรมแห่งภูมิประกาศคือผู้ชนะ และเราทั้งหลายต่างทำงานมุ่งไปสู่อนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น”

“การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศยังคงเป็นปัญหาท้าทาย แต่ข้อตกลงปารีสสาธิตให้เห็นว่าทุกๆ ชาติได้ลุกขึ้นต่อสู้กับปัญหาท้าทายนี้ ทำงานกันมุ่งสู่หนทางแก้ไข” เขาทวิตเพิ่มเติม

ประเด็นหลักๆ ในข้อตกลงปารีส

**ให้ระดับการปล่อยไอเสียก๊าซเรือนกระจกไปถึงขีดสูงสุดโดยรวดเร็วที่สุด และบรรลุถึงจุดที่แหล่งที่ปล่อยไอเสียก๊าซเรือนกระจกกับการลดปริมาณการปล่อยให้น้อยลงบังเกิดความสมดุล ภายในครึ่งหลังของศตวรรษนี้

**รักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ “ต่ำลงไปกว่า” 2 องศาเซลเซียส และดำเนินความพยายามเพื่อจำกัดการเพิ่มลงไปอีกจนถึง 1.5 องศาเซลเซียส

**ให้มีการพิจารณาทบทวนความก้าวหน้ากันในทุกๆ 5 ปี

**จัดหาเงินช่วยเหลือด้านภูมิอากาศแก่ประเทศกำลังพัฒนา เป็นจำนวน 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีให้ได้ภายในปี 2020 โดยที่สัญญาจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเติมขึ้นอีกในอนาคต

กำลังโหลดความคิดเห็น