xs
xsm
sm
md
lg

เวิลด์แบงก์ระบุ “โลกร้อน” จะทำให้มีคนจนสุดขีดเพิ่มอีก 100 ล้านคนใน 15 ปีข้างหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>เหยื่อพายุไต้ฝุ่น “คอปปุ” ในบริเวณภาคเหนือของฟิลิปปินส์ ต้องขึ้นรถทหารและรถพื้นบ้านหลบหนีภัยน้ำท่วมซึ่งเกิดตามมา  เมื่อวันที่ 20 ตุลาคมศกนี้ ธนาคารโลกคาดหมายว่าความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศซึ่งสร้างความเสียหายแก่พืชผลการเกษตร, เกิดสภาพอากาศรุนแรง, และการระบาดของโรคร้ายรุนแรงขึ้น เหล่านี้จะจะทำให้มีคนจนสุดขีดเพิ่มขึ้น 100 ล้านคนภายในปี 2015 </i>
เอพี/เอเจนซีส์ - ความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอาจผลักดันให้ผู้คนมากกว่า 100 ล้านคนต้องอยู่ในภาวะยากจนอย่างสุดขีดภายในอีก 15 ปีข้างหน้า เนื่องจากส่งผลกระทบสร้างความเสียหายต่อเกษตรกรรม และเพิ่มพลังให้โรคมาลาเรียตลอดจนเชื้อโรคร้ายอื่นๆ ลุกลามหนัก ธนาคารโลกระบุในรายงานซึ่งออกเมื่อวันอาทิตย์ (8 พ.ย.) ที่ผ่านมา

ในรายงานฉบับนี้ที่เผยแพร่เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้าการประชุมสุดยอดด้านภูมิอากาศของสหประชาชาติในกรุงปารีส มุ่งเน้นให้เห็นว่าภาวะโลกร้อนนั้นส่งผลกระทบต่อพลโลกอย่างไม่สม่ำเสมอกัน โดยที่คนยากจนของโลกเป็นกลุ่มซึ่งขาดการเตรียมพร้อมอย่างยิ่งในการรับมือกับความน่าตื่นตระหนกต่างๆ ทางภูมิอากาศ เป็นต้นว่า ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น หรือภาวะภัยแล้งอันร้ายแรง

“พวกเขามีทรัพยากรน้อยกว่าและได้รับความสนับสนุนช่วยเหลือน้อยกว่า ไม่ว่าจากครอบครัว, ชุมชน, ระบบการเงิน และแม้กระทั่งเครือข่ายความมั่นคงปลอดภัยทางสังคม เพื่อป้องกัน, รับมือ, และปรับตัว” รายงานฉบับนี้ของเวิลด์แบงก์ระบุ

ทั้งนี้ วิธีการในการช่วยเหลือพวกชาติยากจน ตลอดจนชุมชนยากจนภายในประเทศต่างๆ ให้รับมือกับความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ คือหนึ่งในประเด็นปัญหาวิกฤตที่ต้องเจรจาหารือกัน ในการจัดทำข้อตกลงภูมิอากาศโลกฉบับใหม่ซึ่งคาดกันว่าจะออกมาจากการประชุมซัมมิตปารีส ที่วางกำหนดการเอาไว้ว่าจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 30 พ.ย. ถึง 11 ธ.ค.นี้

พวกที่ป่าวร้องว่าประเทศร่ำรวยทั้งหลายยังช่วยเหลือคนยากจนน้อยเกินไป ต่างพูดถึงรายงานธนาคารโลกฉบับนี้ว่า ยิ่งเน้นย้ำให้เห็นว่าจำเป็นต้องจัดหาเงินทองระดับหลายหลายหมื่นหลายแสนล้านดอลลาร์ เพื่อนำมาใช้ในสิ่งที่เรียกกันว่า “การเงินด้านภูมิอากาศสำหรับบรรดาประเทศกำลังพัฒนา”

“ตัวเลขสถิติในรายงานของเวิลด์แบงก์ฉบับนี้ สมควรที่จะก่อให้เกิดความรู้สึกช็อก และผมหวังว่ามันจะบังคับให้เหล่าผู้นำโลกทั้งหลายต้องมานั่งขบคิดพิจารณาปัญหากัน” โมฮาเหม็ด อาโดว์ แห่งองค์การคริสเตียน เอด กล่าว “ข้อตกลงปารีสจำเป็นต้องสนับสนุนช่วยเหลือคนยากจนและชุมชนอ่อนแอทั้งหลายให้รับมือได้ดีขึ้นกับวิกฤตการณ์ภูมิอากาศซึ่งจะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้ว และให้ผู้คนและชุมชนเหล่านี้มีความยืดหยุ่นยิ่งขึ้นต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป”
<i>เกษตรกรชาวลิเบียนำเอาข้าวโพดที่เก็บเกี่ยวได้มาตากที่บริเวณใกล้ๆ กับหมู่บ้านของเขาเมื่อวันที่ 6 พ.ย.นี้  ธนาคารโลกคาดหมายว่าความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศซึ่งสร้างความเสียหายแก่พืชผลการเกษตร, เกิดสภาพอากาศรุนแรง, และการระบาดของโรคร้ายรุนแรงขึ้น เหล่านี้จะจะทำให้มีคนจนสุดขีดเพิ่มขึ้น 100 ล้านคนภายในปี 2015 </i>
ถึงแม้มีชาติต่างๆ ออกมาให้คำมั่นสัญญากันมากขึ้นว่าจะควบคุมการปล่อยไอเสียคาร์บอนไดออกไซด์ ตลอดจนก๊าซที่ทำให้โลกร้อนชนิดอื่นๆ แต่ความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศก็ไม่น่าที่จะหยุดลงได้ในเร็ววัน

แต่ถ้าหากมีความพยายามต่างๆ ในการปกป้องคุ้มครองคนยากจน เป็นต้นว่า การทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงการดูแลรักษาพยาบาล และเข้าถึงเครือข่ายความมั่นคงทางสังคมได้ดีขึ้นโดยรวม, การยกระดับมาตรการป้องกันน้ำท่วมในจุดที่มีผลกระทบสูง และการส่งเสริมให้ปลูกพืชผลที่ต้านทานความร้อนได้สูงขึ้น เหล่านี้อาจป้องกันไม่ให้ผลสืบเนื่องด้านลบของความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ส่งผลต่อภาวะยากจนได้อย่างมากมาย เวิลด์แบงก์ระบุ

อย่างไรก็ตาม “การขาดไร้พัฒนาการในทางที่ดีดังกล่าว ความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศก็อาจส่งผลให้มีผู้คนเพิ่มขึ้นอีก 100 ล้านคนซึ่งต้องใช้ชีวิตอยู่ในภาวะยากจนอย่างสุดขีดภายในปี 2030” รายงานฉบับนี้บอก

สเตฟาน ฮัลเลแกตเต หนึ่งในผู้เขียนรายงานฉบับนี้ บอกกับสำนักข่าวเอพีว่า ลักษณะที่โดดเด่นแตกต่างประการหนึ่งของรายงานก็คือ แทนที่จะวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจมหภาคของความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การจัดทำรายงานฉบับนี้ส่วนหนึ่งได้อิงอาศัยผลการสำรวจผู้คนประมาณ 1.4 ล้านคนใน 92 ประเทศด้วย

“เมื่อเราสอบถามผู้คนว่า ทำไมพวกเขาจึงตกลงสู่ภาวะยากจน ปรากฏว่ามีปัจจัยสำคัญอยู่ 3 ประการ” เขาเล่า “ได้แก่ ภาวะช็อกทางเกษตรกรรม ซึ่งรวมถึงการที่ราคาอาหารพุ่งสูง, ภัยพิบัติทางธรรมชาติ อย่างเช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง พายุ และปัญหาทางสุขภาพ อย่างเช่น มาเลเรีย โรคท้องร่วง”

รายงานฉบับนี้ได้อ้างอิงการศึกษาอื่นๆ หลายชิ้นซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอาจส่งผลทำให้สูญเสียผลผลิตพืชผลของโลกได้ถึง 5% ทีเดียวภายในปี 2030 และเป็น 30% ภายในปี 2080 นอกจากนั้นยังอ้างอิงการศึกษาหลายชิ้นที่ชี้ว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้จำนวนคนที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคมาลาเรียสูงขึ้นอีก 150 ล้านคน

ฮัลเลแกตเต ระบุว่า “จุดร้อน” ที่ภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อประชาชนคนยากจนมากที่สุด ได้แก่ ภูมิภาคใต้ทะเลทรายซาฮารา (ซับ-ซาฮารา) ของทวีปแอฟริกา และภูมิภาคเอเชียใต้

กำลังโหลดความคิดเห็น