xs
xsm
sm
md
lg

จีนให้สัตยาบันต่อ “ข้อตกลงภูมิอากาศปารีส” ต่อสู้ภาวะโลกร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - สภาประชาชนแห่งชาติจีนได้ให้สัตยาบันต่อข้อตกลงภูมิอากาศปารีส วันนี้ (3 ก.ย.) ซึ่งจะเป็นผลให้ข้อตกลงซึ่งมุ่งบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกเริ่มมีผลบังคับใช้ได้ภายในสิ้นปี

สำนักข่าวซินหวาของจีน รายงานว่า คณะกรรมการประจำสภาประชาชนแห่งชาติได้โหวตอนุมัติ “ข้อเสนอทบทวนและให้สัตยาบันต่อข้อตกลงปารีส” ก่อนเสร็จสิ้นการประชุมซึ่งกินเวลาราว 1 สัปดาห์

การให้สัตยาบันของปักกิ่งมีขึ้นในขณะที่บรรดาผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 20 ชาติ เริ่มทยอยเดินทางไปยังนครหางโจว (Hangzhou) เพื่อเตรียมตัวเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ระหว่างวันที่ 4 - 5 ก.ย.

กลุ่ม G20 มีอัตราการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ออกสู่ชั้นบรรยากาศรวมกันมากถึงร้อยละ 80 ของโลก

สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่อันดับ 2 ก็เตรียมที่จะให้สัตยาบันเช่นกัน เพื่อให้ข้อตกลงปารีสมีผลบังคับก่อนสิ้นปีนี้

เกือบ 200 ประเทศทั่วโลก ได้ให้การรับรองข้อตกลงฉบับประวัติศาสตร์ระหว่างการประชุมซัมมิตว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (COP21) เมื่อเดือน ธ.ค. ปี 2015 เพื่อฉุดรั้งให้อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นของโลกอยู่ในระดับ “ต่ำลงไปกว่า” (well below) 2 องศาเซลเซียส เหนือระดับอุณหภูมิโลกในช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า เป้าหมายที่ระบุไว้ในข้อตกลงนั้นเสี่ยงที่จะถูก “ละเมิด” โดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดองค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ปี 2016 จะเป็นปีที่อากาศร้อนที่สุดนับตั้งแต่มีการจดบันทึกมา ทำลายสถิติของปีที่แล้ว

แม้จะมีประเทศที่ร่วมลงนามแล้วถึง 180 ประเทศ แต่ข้อตกลงภูมิอากาศปารีสจะมีผลบังคับก็ต่อเมื่อรัฐสภา 55 ประเทศ ที่มีส่วนในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 55% ของโลก ได้ให้สัตยาบันแล้ว

23 ประเทศได้ให้สัตยาบันต่อข้อตกลงปารีสไปแล้วก่อนหน้าจีน รวมถึงเกาหลีเหนือด้วย ทว่า ประเทศเหล่านั้นมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันเพียง 1.08% ของโลก ตามข้อมูลจากอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

จีนถือเป็นประเทศผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ที่สุด โดยปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 20% ของโลก ขณะที่สหรัฐฯ ตามมาเป็นที่ 2 ด้วยสัดส่วน 17.9% ส่วนรัสเซีย และอินเดีย มีสัดส่วนอยู่ที่ 7.5% และ 4.1% ตามลำดับ

ทั้งนี้ ประเทศที่ได้ให้สัตยาบันต่อข้อตกลงปารีสจะต้องรอเวลาอย่างน้อย 3 ปี หลังจากที่ข้อตกลงเริ่มมีผลบังคับ จึงจะขอถอนตัวได้


กำลังโหลดความคิดเห็น