เอเอฟพี - ผู้แทนจาก 175 ประเทศทั่วโลก รวมถึงชาติผู้ก่อมลพิษรายใหญ่อย่างจีนและสหรัฐฯ ร่วมลงนามในข้อตกลงภูมิอากาศปารีสเมื่อวันศุกร์ (22 เม.ย.) ซึ่งถือเป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมที่จะต่อสู้กับปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม
ประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ แห่งฝรั่งเศส เป็นผู้นำคนแรกที่จดปากกาลงนามในข้อตกลงฉบับนี้ ระหว่างพิธีลงนามซึ่งจัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ติดตามมาด้วยผู้นำจากประเทศหมู่เกาะต่างๆ ซึ่งได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษจากสภาพอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง
จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เดินขึ้นสู่โพเดียม พร้อมกับ “อิซาเบลล์” หลานสาววัย 2 ขวบ และเรียกเสียงปรบมืออย่างกึกก้องจากคณะผู้แทนทั่วโลก หลังจากที่เขาได้เซ็นชื่อลงในข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์
ข้อตกลงภูมิอากาศปารีสถือเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีภาคีร่วมลงนามมากที่สุดในวันเดียว โดยพิธีลงนามถูกจัดขึ้นเพียง 4 เดือน หลังจากที่นานาชาติได้บรรลุข้อตกลงในการประชุมซัมมิตว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (COP21) ที่ฝรั่งเศส เมื่อเดือน ธ.ค. ซึ่งถือเป็นหลักหมายสำคัญยิ่งสำหรับการสกัดกั้นภาวะโลกร้อนที่กำลังสร้างความทุกข์ยากแสนสาหัสยิ่งขึ้นเรื่อยๆ และยังถือเป็นการผูกมัดให้ประเทศต่างๆ ต้องปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาเรื่องการลดปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
“นี่คือช่วงเวลาที่ประวัติศาสตร์จะต้องจารึกไว้” บัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ แถลงต่อบรรดาผู้นำ และผู้แทนประเทศต่างๆ
“วันนี้ท่านทั้งหลายได้ลงนามในข้อตกลงใหม่ เพื่ออนาคตของเรา”
สำหรับบางประเทศที่ยังสงวนท่าทีก็มีเวลาอีก 1 ปีที่จะร่วมลงนามได้ ทว่า เป้าหมายสำคัญนับจากนี้อยู่ที่การให้สัตยาบันโดยรัฐสภาของแต่ละประเทศ เพื่อให้ข้อตกลงเริ่มมีผลบังคับใช้ก่อนปี 2020
ข้อตกลงภูมิอากาศปารีสจะมีผลบังคับก็ต่อเมื่อรัฐสภา 55 ประเทศที่มีส่วนในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 55% ของโลก ได้ให้สัตยาบันแล้ว
175 ประเทศที่ร่วมลงนามคิดเป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 93% ของโลก ตามการคำนวณของสถาบันทรัพยากรแห่งโลก (World Resource Institiute)
วัตถุประสงค์หลักของข้อตกลงนี้ก็เพื่อฉุดรั้งให้อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นของโลก อยู่ในระดับ “ต่ำลงไปกว่า” (well below) 2 องศาเซลเซียสเหนือระดับอุณหภูมิโลกในช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม (ซึ่งก็คือ ไม่เพียงแค่ประคับประคองอย่าให้อุณหภูมิร้อนเกิน 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่จะต้องพยายามทำให้ต่ำลงไปกว่านั้น) ทั้งยังควรหามาตรการป้องกันไม่ให้ร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส หากสามารถทำได้
ประธานาธิบดีออลลองด์ ยืนยันว่า รัฐสภาฝรั่งเศสจะให้สัตยาบันต่อข้อตกลงภูมิอากาศปารีสภายในฤดูร้อนปีนี้ พร้อมทั้งเรียกร้องให้สมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 28 ประเทศ ให้สัตยาบันเพื่อเป็น “แบบอย่าง” แก่ทั่วโลก ภายในสิ้นปี 2016
ด้านจีน และสหรัฐฯ ก็ประกาศจะให้สัตยาบันต่อข้อตกลงภูมิอากาศปารีสภายในปีนี้เช่นกัน