พันธกรณีและข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความเข้มข้น ส่งผลให้ประเทศไทยต้องพร้อมรับภาระและดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ภายใต้กระแสการแข่งขันการค้าที่สูงขึ้น ซึ่งประเทศไทยได้มีการประกาศเจตนารมณ์และกำหนดเป้าหมายของประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำกว่าระดับการปล่อยตามปกติ ร้อยละ 7-20 ภายในปี พ.ศ. 2563
นอกจากนี้ ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ส่งผลให้ไทยต้องมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นโดยได้กำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25 ภายในปี พ.ศ. 2573 ประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตและบริโภคให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรมและบริการ ตลอดจนภาคครัวเรือน และเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานชีวภาพเพิ่มขึ้น
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติที่มีความผันผวนและรุนแรงมากขึ้น ส่งผลต่อการผลิตในภาคเกษตร และความมั่นคงด้านน้ำและอาหาร ก่อให้เกิดการขาดแคลนน้ำ อุทกภัย และภัยธรรมชาติที่รุนแรง สร้างความเสียหายต่อระบบการเพาะปลูก ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรของโลกลดลง อาจจะก่อให้เกิดความไม่มั่นคงด้านอาหารจนส่งผลกระทบต่อประเทศไทยด้านการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญ อาจก่อให้เกิดความไม่มั่นคงด้านอาหารทั้งระดับประเทศและระดับครัวเรือน และขณะเดียวกันภาคเกษตรเป็นแหล่งรายได้หลักของเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยก็ต้องประสบความสูญเสีย ส่งผลซ้ำเติมต่อปัญหาความยากจน
จากสถานการณ์และแนวโน้มสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย พบว่าในปัจจุบันสภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังสร้างปัญหาและเป็นจุดอ่อนของการรักษาฐานการผลิตและให้บริการ รวมทั้งการดำรงชีพที่ยั่งยืนทั้งในเขตเมืองและชนบท
•ฐานทรัพยากรธรรมชาติลดน้อยและเสื่อมโทรมลง พื้นที่ป่าไม้ลดลงอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยประมาณปีละ 1 ล้านไร่ จากการบุกรุกทำลายป่าอย่างต่อเนื่อง ทรัพยากรดินเสื่อมโทรม ความหลากหลายทางชีวภาพถูกคุกคาม ระบบนิเวศชายฝั่งถูกทำลาย
•มีความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำในอนาคต และยังไม่สามารถจัดสรรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
•ปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษที่เพิ่มสูงขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจและชุมชนเมือง โดยเฉพาะปัญหาขยะมูลฝอยยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ แนวโน้มอัตราการเกิดขยะมูลฝอยเฉลี่ยต่อคนต่อวันเพิ่มสูงขึ้น ปริมาณขยะสะสมตกค้างเพิ่มสูงขึ้นถึง 30.8 ล้านตัน ในปี 2557ขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี ขณะที่การจัดการของเสียอันตรายจากภาคอุตสาหกรรมสามารถจัดการได้ประมาณร้อยละ 70 มลพิษทางอากาศที่มีค่าเกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ คุณภาพน้ำที่อยู่ในเกณฑ์ดีมีแนวโน้มลดลง
•การเข้าถึงและการจัดสรรการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติยังไม่เป็นธรรมก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ รัฐจึงจำเป็นต้องมีการจัดการอย่างเหมาะสมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน
แนวทางการขับเคลื่อนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ที่จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1ตุลาคม 2559 ถือได้ว่าเป็นแผนพัฒนาฯ ที่แตกต่างจากแผนพัฒนาฯ ฉบับอื่นๆ ที่ผ่านมา เนื่องจากได้กำหนดขึ้นจากยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้าน ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) โดยกำหนดเป็นแนวทางในรายละเอียดที่แสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องและการตอบสนองต่อเป้าหมายที่ต้องบรรลุในระยะ 5 ปี ที่จะเป็นการวางพื้นฐานที่สามารถสานต่อการพัฒนาในประเด็นสำคัญของประเทศในระยะต่อไปที่สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยใช้หลักของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนำทาง
ดังนั้น ในช่วงเวลา 5 ปีของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ประเทศไทยต้องปฏิรูปและปรับเปลี่ยนอย่างเป็นระบบ เพื่อให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเหมาะสมกับภูมิทัศน์ใหม่ของโลก โดยเป้าหมายการพัฒนาในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12กำหนดให้ทุนทางธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อมสามารถสนับสนุนการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความมั่นคงอาหาร พลังงาน และน้ำ ดังนี้
•เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศเพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ
•เพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มจาก 1.53 ล้านไร่ เป็น 1.58 ล้านไร่
•มีการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ สร้างความมั่นคง และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ
•เพิ่มพื้นที่ชลประทานปีละ 350,000 ไร่ ควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำทั้งภาคการผลิตและการบริโภค
•ป้องกันและลดความเสียหายจากอุทกภัยและภัยแล้ง
•ขยะมูลฝอยชุมชนได้รับการจัดการอย่างถูกต้องและนำไปใช้ประโยชน์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75
•ของเสียอันตรายชุมชนได้รับการกำจัดไม่น้อยกว่าร้อยละ 30
•กากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายทั้งหมดเข้าสู่ระบบการจัดการที่ถูกต้อง
•ฟื้นฟูแหล่งน้ำผิวดินให้มีคุณภาพในเกณฑ์ดี และแก้ไขปัญหาวิกฤติหมอกควัน
•เพิ่มประสิทธิภาพการลดก๊าซเรือนกระจกและขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและคมนาคมขนส่งลดลงภายในปี 2563 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 7ของการปล่อยในกรณีปกติ
•มีกลไกจัดการเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในด้านต่าง ๆ หรือในพื้นที่หรือสาขาที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบสูง
ในกรณีของสิ่งแวดล้อมเน้นแผนงาน โครงการที่สำคัญ เช่น การส่งเสริมการปลูกป่าไม้เศรษฐกิจมีค่าระยะยาว การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ในพื้นที่ลุ่มน้ำ แผนงานและโครงการตาม Roadmap ของการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย และแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2559 - 2564 แผนงานการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน แผนงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (NAMA Roadmap) และแผนงานด้านการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โครงการเมืองสีเขียว (Green City) เป็นต้น
ดังกล่าวอาศัยกลไกคณะกรรมการที่มีอยู่ อาทิ คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ โดยมีการยกร่างหรือปรับปรุงกฎ ระเบียบ และกฎหมายต่างๆ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ ลดความซ้ำซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้ให้มากขึ้น อาทิ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ร่างพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
“แนวทางการขับเคลื่อนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ที่จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1ตุลาคม 2559 ถือได้ว่าเป็นแผนพัฒนาฯ ที่แตกต่างจากแผนพัฒนาฯ ฉบับอื่นๆ ที่ผ่านมา เนื่องจากได้กำหนดขึ้นจากยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้าน ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)”
ดร.ปรเมธี วิมลศิริ
เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ