xs
xsm
sm
md
lg

แยกขยะในครัวเรือน อบต.เหล่าดอกไม้ ให้เงินสมทบ 12,000 บาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สภาฮักแพง จับมือ สสส. ในงาน “มหกรรมรวมพลคนจัดการขยะมหาสารคาม” เดินหน้าจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง เปิดพื้นที่ต้นแบบ อบต.เหล่าดอกไม้ ตั้งกองทุนฌาปนกิจขยะ ครัวเรือนที่แยกขยะขาย ได้เงินสมทบถึง 12,000 บาท / ครอบครัว ท้องถิ่นปลื้มลดรายจ่ายจัดการขยะกว่าเท่าตัว

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่โรงแรมตักสิลา จ.มหาสารคาม สภาฮักแพง เบิ่งแงง คนมหาสารคามร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานมหกรรมรวมพลคนจัดการขยะจังหวัดมหาสารคาม มี ดร.โชคชัย เดชอมรธัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธาน ในงานมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายจัดการขยะร่วมโชว์ผลงานเพียบ

ดร.โชคชัย เดชอมรธัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ปัญหาการจัดการขยะถือเป็นปัญหาที่ทุกพื้นที่ต้องเผชิญ จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ในปี 2556 จังหวัดมหาสารคาม มีขยะมูลฝอย เพิ่มขึ้นวันละ 960 ตัน หรือ 350,389 ตันต่อปี เท่ากับว่า คนมหาสารคามผลิตขยะมากเท่ากับน้ำหนักเครื่องบินโดยสารขนาดแอร์บัสถึงวันละ 3 ลำ ซึ่งขยะมูลฝอยเป็นทรัพยากรที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ถึง 70% ที่ผ่านมา เครือข่ายฮักแพง เบิ่งแงง คนมหาสารคาม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงร่วมกันวิเคราะห์และออกแบบกลไกขับเคลื่อนการจัดการขยะแบบมีส่วนร่วมใน 23 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และได้เห็นรูปธรรมความสำเร็จของแต่ละพื้นที่ที่สามารถนำมาขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ จังหวัดมหาสารคามจึงได้มอบให้ท้องถิ่นจังหวัดขับเคลื่อนให้เกิดนโยบายสาธารณะในการจัดการขยะมูลฝอยในท้องถิ่นทั้ง 170 แห่ง เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนทั้งจังหวัดในการลดปริมาณขยะ

ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ สสส. กล่าวว่า การทำงานของ สสส. เพื่อสร้างเสริมสุขภาพในพื้นที่จ.มหาสารคาม ได้มีเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และความคิดเห็นของคนในจังหวัด ซึ่งพบว่าปัญหาขยะเป็นวิกฤตใหญ่ที่คนในพื้นที่ตระหนักว่าเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องร่วมกันจัดการ เพราะพื้นที่รับขยะกำลังจะเต็มแล้ว ทุกฝ่ายได้มองเห็นร่วมกันว่าต้องมีการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยใช้หลัก “3R” คือ Reduce - ลดการใช้ Reused - นำกลับมาใช้ใหม่ และ Recycle - รีไซเคิล โดยให้มีทีมนักวิชาการทำงานร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด และเครือข่ายท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในระดับพื้นที่ จะมีการพัฒนาแกนนำจัดการขยะระดับชุมชน เพื่อทำงานเชิงลึกกับชุมชนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยมาตรการนี้ ได้ส่งผลให้เกิด “การลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้” กล่าวคือ ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มจากการคัดแยกและจำหน่ายขยะ ส่วนท้องถิ่นได้ประโยชน์จากการใช้งบประมาณจัดการขยะที่น้อยลง ถือเป็นมาตรการจูงใจให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมที่เห็นผลได้ชัดเจน

นายศักดิ์เจริญ ภวภูตานนท์ เลขาธิการสภาฮักแพง เบิ่งแงง คนมหาสารคาม กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ในการจัดการขยะของ จ.มหาสารคาม ประกอบด้วย 1) การสร้างกลไกการจัดการขยะมูลฝอยระดับพื้นที่และระดับจังหวัด 2) สร้างพื้นที่ต้นแบบรูปธรรมทางเลือกในการจัดการขยะมูลฝอยของพื้นที่ 3) พัฒนาองค์ความรู้ในการจัดการขยะมูลฝอยให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ และ 4) ขับเคลื่อนโยบายสาธารณะในการจัดการขยะมูลฝอย ทั้งระดับท้องถิ่น และระดับจังหวัด ซึ่งผลการทำงานที่ผ่านมา ทำให้เกิดกลไกและนักขับเคลื่อนการจัดการขยะแบบมีส่วนร่วมในทุกระดับ

นายจรัส ชิฌเฮือง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเหล่าดอกไม้ อ.ชื่นชม จ.มหาสารคาม กล่าวว่า เนื่องจาก อบต.เหล่าดอกไม้ มีค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บขยะไปทิ้งนอกพื้นที่สูงถึงปีละ 2 ล้านบาท แต่ละวันจะมีปริมาณขยะถึง 3 ตัน จึงเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการขยะในปี 2557 ด้วยการจัดทำประชาคมร่วมกับ 11 หมู่บ้าน เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากชาวบ้านในการคัดแยกขยะจากต้นทางโดยแบ่งขยะเป็น 3 กลุ่มคือ 1) ขยะรีไซเคิลที่ขายได้ 2) ขยะเปียกและกิ่งไม้ใบไม้ที่ขายไม่ได้ ก็จะแปรรูปเป็นปุ๋ยชีวภาพ และ 3) ขยะอันตราย ซึ่ง อบต. จะเป็นผู้จัดเก็บ โดยงบจาก สสส. เข้ามามีส่วนสนับสนุนด้านพี่เลี้ยงที่ช่วยกระตุ้นและพัฒนาแกนนำนักจัดการขยะในชุมชนและการอบรมให้ความรู้กับประชาคมในหมู่บ้าน

“ในช่วงแรกต้องลงไปทำความเข้าใจกับแกนนำ และชาวบ้านในทุกหมู่บ้านบ่อย ๆ เพื่อให้เขาเข้าใจว่าถ้าคัดแยกขยะแล้วจะขายได้ และเป็นที่มาของการตั้งกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์จากขยะรีไซเคิล โดยครอบครัวที่ขายขยะให้กับกองทุนครบ 6 เดือนอย่างต่อเนื่อง หากมีผู้เสียชีวิตในครอบครัวจะได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนรายละ 12,000 บาท โดยทุกเดือนแต่ละครัวเรือนต้องนำขยะรีไซเคิลมาขายให้ได้ยอดเงินและเหลือคงไว้ในสมุดคู่ฝากไม่น้อยกว่า 300 บาท ซึ่งจะมีพนักงานของ อบต. ออกไปรับซื้อขยะตามวันเวลาที่ตกลงกัน เพื่อนำเงินจากการขายขยะเข้าบัญชีของแต่ละสมาชิก ซึ่งในปัจจุบันมีเงินในกองทุนถึง 500,000 บาท และปริมาณขยะในชุมชนก็ลดน้อยลง จากเดิมวันละ 3 ตัน เหลือเพียง 500 - 600 กิโลกรัม / วัน ทำให้มีรายจ่ายการจัดการขยะลดลง” นายก อบต.เหล่าดอกไม้ กล่าว

นอกจากนี้ ตัวอย่างการจัดการขยะที่ประสบผลสำเร็จ อาทิ อบต.ท่าสองคอน อ.เมือง สามารถลดปริมาณการเก็บขยะในปี 58 เหลือเพียง 1 ตันต่อวัน จากเดิม 2.92 ตันต่อวัน และสามารถลดรายจ่ายได้เท่าตัว จาก 103,416 บาท ปัจจุบันเหลือเพียง 59,100 บาท โดยมีคณะทำงานในระดับตำบล ระดับหมู่บ้าน และแกนนำเยาวชนร่วมเป็นแกนนำตาวิเศษ เพื่อสร้างความเข้าใจในการจัดการขยะทุกประเภท เช่น ขยะอินทรีย์ทำปุ๋ย ขยะทั่วไปแปรรูปเพิ่มมูลค่า เป็นต้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น