xs
xsm
sm
md
lg

Green vision : นวัตกรรมสู่ความเป็นศูนย์ ทางรอดของธุรกิจยุคดิจิตัล / ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ผ่านมา ผู้ประกอบธุรกิจโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม มักจะถูกสังคมมองว่าเป็นสาเหตุหลักหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม และเชื่อมโยงไปสู่ปัญหาโลกร้อนที่เราจะเผชิญกันต่อไปอีก หากทว่าไม่ร่วมมือกันในการลดปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม และรู้จักบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพให้มากที่สุด
หากแต่ปัจจุบันการประกอบกิจการต่างๆ จะต้องเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้นเช่นเดียวกัน คำถามก็คือทำอย่างไรให้การดำเนินธุรกิจอยู่รอดในสภาการณ์ที่มีทั้งการแข่งขันสูงในภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่ยังต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังกล่าวส่งผลกระทบมายังภาคธุรกิจโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโรงงานอุตสาหกรรม การคมนาคมขนส่งที่เกิดความยากลำบากมากขึ้น ทรัพยากรธรรมชาติใช้เป็นวัตถุดิบเหลือน้อยลง หรือเปลี่ยนสภาพไป สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นมาจากภาวะโลกร้อนที่นับวันจะทวีความรุนแรง และไม่มีเทคโนโลยีใดที่จะสามารถหยุดยั้งภัยธรรมชาติได้
อย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.4 และ 7.3 ริกเตอร์ ที่เมือง Kumamoto ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 14-15 เมษายนที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายบริษัทได้รับความเสียหาย เช่น บริษัทโซนี่ ฮอนด้า โตโยต้า กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นนั้นมีบริษัทลูกและห่วงโซ่ธุรกิจกระจายอยู่ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยจึงส่งผลโดยตรงต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัญหาโลกร้อนเป็นกระแสที่ผู้คนทั่วโลกต่างมองเห็นถึงภัยอันตราย จึงหันมาให้ความสำคัญในเรื่องการช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรู้จักในการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
การพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ องค์กร โดยเฉพาะการมุ่งเน้นแนวทางการพัฒนานวัตกรรมสู่ความเป็นศูนย์ (Innovating to Zero) โดยการสร้างสรรค์ พัฒนาแนวคิดหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยขจัดสิ่งที่ไม่จำเป็น หรือสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าต่อกระบวนทำงานให้ลดน้อยลงจนเป็นศูนย์
ปัจจุบันทุกประเทศบนโลกมีการเชื่อมต่อกันอย่างไร้พรมแดนในทุกมิติ ทั้งความร่วมมือทางการค้า ความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่า ในอีกมุมหนึ่ง ย่อมเกิดการแข่งขันกันสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ด้วยเหตุผลประการหลังนี้เอง หลายประเทศจำเป็นต้องปรับตัวสู่การพัฒนาในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ตามกันไป เพื่อเพิ่มศักยภาพของตนเองในการแข่งขัน
พูดง่ายๆ ก็คือ โรงงานยุค 3.0 สามารถผลิตของแบบเดียวกันจำนวนมากในเวลาสั้นๆ แต่โรงงานยุค 4.0 จะสามารถผลิตของหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันตามความต้องการเฉพาะของผู้บริโภคแต่ละราย เป็นจำนวนมากในเวลาพริบตาเดียว โดยใช้กระบวนการผลิตที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิตัลครบวงจร แบบ ‘Smart Factory’
เป็นเทรนด์ที่ผู้ประกอบการ ผู้ผลิต รวมถึงผู้บริโภคสินค้าในปัจจุบันจะต้องเข้าใจ เข้าถึง และสามารถนำหลักการดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ ซึ่งในขณะนี้ก็มีการนำหลักการนี้ไปใช้ในหลายมิติ เช่น การผลิตแบบไม่เกิดของเสีย (Zero Defect) โดยการลดจำนวนของเสีย หรือชิ้นงานที่ไม่ได้คุณภาพตามที่ลูกค้าต้องการและมาตรฐานที่กำหนดไว้ การทำงานโดยมีความผิดพลาดเป็นศูนย์ (Zero Faults) ของเสียเป็นศูนย์ (Zero Waste/Emission) อีเมลเป็นศูนย์ (Zero Emails) มลพิษจากรถยนต์เป็นศูนย์ (Zero Emission from Cars) อุบัติเหตุเป็นศูนย์ (Zero Accidents) อัตราการก่ออาชญากรรมเป็นศูนย์ (Zero Crime Rates) เป็นต้น โดยผ่านนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเป็นทางออกกู้โลก ซึ่งจะลดภัยพิบัติที่รุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม
สำหรับประเทศที่ริเริ่มโครงการ Zero Carbon แล้ว อาทิ สหภาพยุโรปมี Roadmap 2050 โดยวางแผนลดปริมาณการปล่อย CO2 จากภาคการผลิตไฟฟ้าให้มีค่าใกล้เคียงศูนย์ (Near Zero Carbon = มีปริมาณการปล่อยเพียงไม่เกิน 5% ของ Baseline คือไม่เกิน 12.5 g/kWh) และโครงการ Zero Carbon Britain 2030 ที่มีเป้าหมายว่าสหราชอาณาจักรจะใช้พลังงาน 100% จาก Renewable Energy ในปี 2030 เป็นต้น
ภาคธุรกิจสามารถดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมให้สามารถนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ (Sustainable Development Goal : SDGs) เช่น การขจัดความยากจน (Zero Poverty) การขจัดการว่างงาน (Zero Unemployment) เพราะการจ้างงาน หรือการแบ่งผลกำไรธุรกิจให้สังคมก็ถือว่าเป็นการขจัดความยากจนด้วยเหมือนกัน
ถึงแม้ว่าจะเป็นไม่ได้เลยที่มนุษย์จะกลับไปใช้ชีวิตเหมือนยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์ต่ำ แต่ทางออกทางเดียวที่เหลืออยู่ คือ การสร้างเทคโนโลยี สร้างนวัตกรรมเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์สู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะสร้างเทคโนโลยีเพื่อความอยู่รอดบนโลกใบนี้

“การพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ องค์กร โดยเฉพาะการมุ่งเน้นแนวทางการพัฒนานวัตกรรมสู่ความเป็นศูนย์ (Innovating to Zero)”

ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล
ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น