xs
xsm
sm
md
lg

วัฏจักรการลงทุนระยะยาว (Long Investment Cycle)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย ชาญวุฒิ รุ่งแสงมนูญ
บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)

การลงทุนระยะยาวเปรียบเสมือนการเดินทางไกล เมื่อเริ่มต้นนักเดินทางมีเป้าหมายและกำหนดเส้นทางเฉพาะตน แต่เมื่อพบอุปสรรคในระหว่างทาง อาจเกิดความไม่แน่ใจในเส้นทางที่เลือกหรือลังเลที่จะเดินต่อไป

หากนักเดินทางมีเข็มทิศช่วยนำทางที่เหมาะสม ประกอบกับมีความรู้ความสามารถแก้ไขปัญหา ก็น่าจะฟันฝ่าอุปสรรคไปถึงจุดหมายที่ต้องการได้ สำหรับนักลงทุนที่กำลังเผชิญภาวะวิกฤตในการลงทุน หรือความผันผวนของตลาดทุนที่ทำให้ขาดความเชื่อมั่น การเข้าใจวัฏจักรระยะยาวเปรียบเสมือนเป็นเข็มทิศที่ช่วยชี้แนะการลงทุนที่เหมาะสม เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนคุ้มค่าในระยะยาว

Nicolai Dimitrievitch Kodratiev ระบุว่า วัฏจักรระยะยาวหนึ่งๆ มีระยะเวลาประมาณ 50 ปี เริ่มต้นจากนวัตกรรมเปลี่ยนโลกที่เกิดขึ้นในยุคนั้น นำไปสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมทางเศรษฐกิจและพัฒนาการด้านสังคม ซึ่งเรานำมาพิจารณาประกอบการลงทุน

หากแบ่งวัฏจักรเป็นสี่ฤดูกาล เริ่มต้นที่ “ฤดูใบไม้ผลิ” เป็นช่วงที่เศรษฐกิจขาขึ้นต่อเนื่องไปพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนานนับสิบปี ทำให้มูลค่าหุ้นสามัญเติบโตได้ดี ตรงข้ามกับผลตอบแทนที่ไม่น่าประทับใจของตราสารหนี้ และทองคำ

แต่เมื่อเข้าสู่ “ฤดูร้อน”เป็นช่วงอัตราเงินเฟ้อสูง สะท้อนไปที่ราคาทองคำและสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งขึ้นเช่นเดียวกับตลาดเงินและพันธบัตรที่ผลตอบแทนปรับตามเงินเฟ้อ ราคาหุ้นสามัญปรับลดลง ตามด้วยเศรษฐกิจตกต่ำ และรุนแรงถึงขั้นถดถอย หลังไม่สามารถทนต่อความร้อนแรงของเงินเฟ้อ

จนเริ่มเข้าสู่ “ฤดูใบไม้ร่วง” ที่นโยบายการเงินภาครัฐเข้าแทรกแซง กดอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ และใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการก่อหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะดีต่อการลงทุน ทั้งหุ้นสามัญและตราสารหนี้ อย่างไรก็ตาม ฤดูนี้มักจะจบด้วยวิกฤตการณ์ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง (ระดับนานาชาติ และระดับโลก)

เมื่อเข้าสู่ “ฤดูหนาว” เป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจผันผวน เช่นเดียวกับราคาหุ้น เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำท่ามกลางความกังวลของประชาชน (ผู้บริโภค) และเกิดกระบวนการลบล้างภาระหนี้ของรัฐและเอกชน ในช่วงเวลานี้ตราสารหนี้ และทองคำให้ผลตอบแทนที่ดีพอควร

Kodratiev เริ่มนับวัฏจักรระยะยาวที่หนึ่ง (ค.ศ. 1783-1842) ที่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษ ด้วยเครื่องจักรไอน้ำและเครื่องทอผ้า วัฏจักรที่สอง (ค.ศ. 1842-1896) ยุคปฏิวัติการขนส่งด้วยรถไฟหัวรถจักรไอน้ำ และอุตสาหกรรมเหล็กกล้า วัฏจักรที่สาม (ค.ศ. 1896-1949) ยุคการใช้ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมยานยนต์ วัฏจักรที่สี่ (ค.ศ. 1949-ปัจจุบัน) ยุคการใช้พลังงานปิโตรเลียมและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

ท่ามกลางความท้าทายที่พยายามเปลี่ยนแปลงกลไกของวัฏจักร วงจรของวัฏจักรยังคงหมุนในลักษณะเดิม นับตั้งแต่เริ่มระบบทุนนิยมเมื่อกว่าสองศตวรรษที่ผ่านมา ในทุกวัฏจักรมักมีลักษณะร่วมสามประการ คือ การเกิดขึ้นของนวัตกรรมเปลี่ยนโลก ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สองคือ เกิดปัญหาหรือพัฒนาการด้านสังคม การเมือง การปฏิวัติ หรือสงคราม ที่ส่งผลให้เกิดช่วงวิกฤตการณ์ เช่น ในวัฏจักรที่หนึ่ง เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส การปฏิวัติอเมริกา สงครามนโปเลียน ในวัฏจักรที่สอง สงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกา สามคือ เกิดช่วงภาวะเงินฝืด และราคาตกต่ำของผลผลิตด้านการเกษตร หรือสินค้าโภคภัณฑ์

ในสถานการณ์ปัจจุบันเราอยู่ในช่วง “ฤดูหนาว” ของในวัฏจักรที่สี่ ตลาดทุนผันผวน รัฐบาลและเอกชนมีภาระหนี้สูง กระบวนการลบล้างภาระหนี้ของรัฐและเอกชนกำลังดำเนินไป และยังมีปัจจัยร่วมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ปัจจัยด้านโครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงอายุมากขึ้นในประเทศเศรษฐกิจสำคัญ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เป็นต้น นอกจากนี้ เราอยู่ในช่วงการเปลี่ยนศูนย์กลางโลกจากกลุ่มประเทศแถบมหาสมุทรแอตแลนติก มาเป็นกลุ่มประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ด้วยการพัฒนาของประเทศเกิดใหม่ การเพิ่มขนาดของเศรษฐกิจโลกและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หาก “ฤดูหนาว” นี้ผ่านพ้นไป การฟื้นฟู และการพัฒนาเศรษฐกิจโลกและแนวทางดำเนินชีวิตของเราจะเข้าสู่วัฏจักรใหม่ ซึ่งเป็นวัฏจักรที่ห้านับจากรุ่งอรุณของยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อกว่าสองร้อยปีก่อน และเป็นยุคแห่งการสื่อสารดิจิตอล นาโนเทคโนโลยี ‎เทคโนโลยีชีวภาพ หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์

เราไม่สามารถทราบได้ว่าเมื่อใดเราจะผ่านพ้นฤดูหนาวไปสู่ “ฤดูใบไม้ผลิ” อีกทั้งเส้นทางไปสู่ “ฤดูใบไม้ผลิ” ที่สดใสก็อาจจะไม่ใช่ทางตรงที่ราบรื่น สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือความผันผวนที่ดูเหมือนเป็นวงจรระยะสั้น (วัฏจักรเล็ก) ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่วัฏจักรใหม่ แม้ว่าเราอยู่ ณ จุดที่หนึ่งในช่วง “ฤดูหนาว” ของวัฏจักรใหญ่ แต่เราก็อาจอยู่ช่วง “ฤดูใบไม้ร่วง” ของวัฏจักรเล็ก ซึ่งการที่เราลงทุนในสินทรัพย์อย่างเหมาะสมในแต่ละฤดูกาลจะให้ประโยชน์แก่เราตามลักษณะของสินทรัพย์นั้นๆ ดังนั้น นอกจากรู้ว่าเราอยู่ในช่วงใดของวัฏจักรระยะยาว ในการไขว่คว้าโอกาสลงทุนเราควรปรับกลยุทธ์ลงทุนอย่างเหมาะสมกับฤดูกาลของวัฏจักรระยะสั้นด้วย ซึ่งจะเป็นประเด็นสำคัญในบทความตอนต่อไป

1. ขอบคุณข้อมูลจาก Amundi Research และจากบทความ “Long Cycles and the Asset Markets” โดย Eric Mijot, Amundi Asset Management

2. นักวิชาการชาวรัสเซียได้นำเสนอแนวคิดวัฏจักรระยะยาว เพื่อช่วยในการวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เมื่อ ค.ศ. 1926

ความคิดเห็นและข้อความต่างๆ ในบทความนี้เป็นทัศนะของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น