xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ยังไม่เคาะ ม.44 เรียกคืนที่ดิน ส.ป.ก.เกิน 500 ไร่ - รอศาลส่งความเห็นปรับแก้ กม.ชลอฟ้อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
รองนายกฯ ด้านกฎหมาย ระบุยังไม่เสนอร่างคำสั่งมาตรา 44 เรียกคืนที่ดิน ส.ป.ก.จากผู้ที่ครอบครองมากกว่า 500 ไร่ ชี้ “สุรศักดิ์” เล่าปัญหาให้ฟังเลยให้ไปร่างมาดู รอศาลยุติธรรมส่งความเห็นปรับแก้กฎหมายชลอฟ้องชะลอฟ้องก่อนส่งสภาฯ ชี้คดีล้นศาลไม่ใช่เหตุผลใหญ่ บ่นกฎหมายธุรกิจ รปภ.มีปัญหา บางคนอายุมากแล้ว เรียน กศน.ไปก็ไม่ได้ทำงาน

วันนี้ (15 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.30 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องร่างประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อใช้อำนาจตามมาตรา 44 เรียกคืนที่ดิน ส.ป.ก.จากผู้ที่ครอบครองมากกว่า 500 ไร่ ว่า พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มาเล่าปัญหาให้ฟังซึ่งตนได้บอกให้ไปร่างมาและนำตัวร่างมาดู โดยตนจะได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง คสช.มาร่วมดูด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่มีการเสนอร่างคำสั่งนี้เข้ามา และยังนึกไม่ออกว่าออกมาอย่างไรจะออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หรือมาตรา 44 เพราะยังไม่ทราบเนื้อหาว่าจะมีใจความอย่างไร

เมื่อถามว่าจะใช้คำสั่ง คสช.หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ต้องร่างมาก่อนแล้วจะมาดู เพราะเรื่องการร่างมานั้น เมื่ออาทิตย์ที่แล้วบางกระทรวง ร่างมา 10 ฉบับ ตนต้องนำมาพิจารณาร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และก็ได้ตีกลับไปทั้งหมด 10 ฉบับ ให้ไปออกเป็นกฎหมายปกติ คือ พ.ร.บ.ธรรมดา เพื่อความละเอียดรอบคอบ จะได้ดูกันในสภาและเข้ากฤษฎีกาต่อไป การออกเป็นคำสั่งมาตรา 44 แม้จะมีการตรวจแต่ไม่พิถีพิถัน เพราะรู้อยู่ว่าเป็นมาตรการชั่วคราว อะไรที่ต้องการแก้เพื่อหวังผลยั่งยืนถาวร ก็ควรออกเป็นกฎหมายธรรมดา

นายวิษณุยังกล่าวถึงกรณีที่ศาลยุติธรรมแสดงข้อห่วงใยเกี่ยวกับร่างกฎหมายชะลอฟ้องว่า คณะรัฐมนตรี ได้ขอให้ไม่นำเรื่องกฎหมายดังกล่าวเข้าสภา เพื่อต้องการให้ทางศาลได้แสดงความเห็นอีกครั้งหนึ่ง และหากศาลมีความคิดว่าจะปรับปรุงอะไรให้เสนอมา ซึ่งเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ศาลเองได้ประชุมเพื่อระดมความเห็นเพื่อจะเสนอข้อปรับปรุงมา ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นคงต้องรอความเห็นอย่างเป็นทางการ

เมื่อถามว่า ศาลเห็นว่าไม่มีความน่ากังวลเกี่ยวกับเหตุผลที่คดีจะล้นศาล นายวิษณุกล่าวว่า รับทราบและต้องคอยดูเหตุผลที่เขาจะเสนอมา กฎหมายนี้เกิดขึ้นมา 40 ปี แล้วแต่ไม่สำเร็จ ซึ่งอาจจะมีเหตุผลที่ไม่สมควรจะออกหมวดค่อนข้างชัดเจน แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป สังคมได้เรียกร้องและต้องการ ทางตำรวจและอัยการก็มีความเห็นสอดคล้องกัน จึงมีร่างกฎหมายเสนอเข้ามา เดิมทีตำรวจได้ทำของเขาฉบับหนึ่ง ในส่วนของกระทรวงยุติธรรมทำอีกฉบับหนึ่ง จนกระทั่งนำมาทำรวมกันเป็นฉบับเดียว ชื่อว่า “กฎหมายว่าด้วยมาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา” และเมื่อศาลมีความเห็น ตนในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนากระบวนการยุติธรรม ได้นำเรื่องนี้ไปพิจารณาเมื่อ 4 เดือนที่แล้ว และเสนอ ครม.ว่าควรจะส่งให้ศาลทำความเห็นวิจารณ์ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอน

รองนายกฯ กล่าวอธิบายเรื่องเหตุผลคดีล้นศาลว่า ยอมรับเป็นเพียงเหตุผลหนึ่งแต่ไม่ใช่เหตุผลใหญ่ เราได้แก้กฎหมายในหลายส่วนไปแล้วที่ให้คดีจบแค่ชั้นศาลอุทธรณ์ ก็ไม่ไปล้นที่ศาลอาญา แต่มาตรการทางการฟ้องต้องการประโยชน์อย่างอื่นด้วย ซึ่งทางศาลได้ท้วงมาข้อที่ว่าควรจะให้ศาลเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่เป็นไร รอความเห็นส่งมาเป็นทางการ ถ้าท้วงแค่จุดนี้จะได้ดูว่าแก้จุดนี้หรือไม่ ถ้าท้วงจุดอื่นก็ค่อยดูว่าเราจะแก้จุดอื่น ซึ่งในที่สุดก็คงต้องไปถามหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ทั้งทนายความ ผู้พิพากษา อัยการ รวมถึงตำรวจด้วย ส่วนการกำหนดเวลานั้นยังไม่มี

นายวิษณุยังกล่าวถึงกรณีการประชุมร่วมกับธุรกิจความปลอดภัยที่กฎหมายเขียนว่าผู้จะเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ต้องจบการศึกษาภาคบังคับว่า ตามกฎหมาย รปภ.ต้องจบการศึกษาภาคบังคับ คือจบมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 แต่กฎหมายดังกล่าวมีปัญหากับ รปภ.ที่อายุมาก เพราะมีช่วงหนึ่งที่กฎหมายเขียนให้การศึกษาภาคบังคับคือประถมศึกษาปีที่ 6 ทำให้ รปภ.ที่อายุมากบางส่วนที่จบชั้น ป.6 ไม่ผ่านเกณฑ์ตามกฎหมายใหม่ คือจบชั้น ม.3 รัฐบาลจึงบอกให้ รปภ.เหล่านี้ไปเรียนเพิ่มที่การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) แต่บางคนก็มีปัญหาเพราะอายุมากแล้ว หากไปเรียนก็ไม่ได้ทำงาน สรุปคือบ้านเมืองขณะนี้ทำอะไรก็มีปัญหาไปหมด


กำลังโหลดความคิดเห็น