xs
xsm
sm
md
lg

รบ.ปัดตั้ง กก.ขับเคลื่อนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เหตุขัดแย้ง ย้ำเพื่อลดขั้นตอน กม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
“สรรเสริญ” แจงแนวคิดตั้งตั้ง กก.ขับเคลื่อนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ได้เกิดจากความขัดแย้ง แต่เป็นวิธีทำงานที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ ลดข้อจำกัดด้านกฎหมาย ที่ทำให้ล่าช้า ชี้ไม่ซ้ำซ้อนกับ กก.ที่มีอยู่ วอนสังคมมองที่เป้าหมาย วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์

วันนี้ (15 มิ.ย.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับแนวคิดการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าอาจเกิดจากความขัดแย้งหรือเป็นเรื่องทางการเมืองว่า นายกรัฐมนตรียืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นการเมืองหรือความขัดแย้งใดๆ ในการทำงานทั้งสิ้น แต่เป็นวิธีบริหารจัดการที่ต้องการผลักดันให้งานทุกอย่างเกิดผลสำเร็จได้ด้วยความรวดเร็ว ลดปัญหาข้อติดขัด ซึ่งกฎหมายปกติไม่สามารถดำเนินการได้

“วันนี้ทุกกระทรวงทำงานภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูป ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลอยู่แล้ว เพียงแต่การทำงานของคณะกรรมการแต่ละชุด จะยึดกฎหมายปกติเป็นหลัก หรือหากจำเป็นต้องแก้ไขเรื่องใดก็ให้เสนอกฎหมายใหม่หรือปรับปรุงกฎหมายเดิม เช่น การออกเป็นพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา หรือกฎกระทรวง ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่มีขั้นตอนและใช้เวลานาน

ท่านนายกฯ ย้ำว่ารัฐบาลมีระยะเวลาจำกัด แต่มีเรื่องสำคัญ เร่งด่วนที่ต้องทำอีกมาก ดังนั้น เรื่องใดที่ล่าช้าไม่ทันการณ์อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี จึงจำเป็นต้องมีคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการที่มีอยู่ ทำหน้าที่ติดตามกิจกรรมสำคัญและรายงานให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาว่า ควรใช้กฎหมายพิเศษ เช่น ม.44 เข้ามาช่วยเร่งรัดหรือไม่ อย่างไร โดยจะไม่กระทบต่อกฎหมายเดิม”

พล.ต.สรรเสริญกล่าวต่อว่า ตัวอย่างของปัญหาที่ยังดำเนินการล่าช้า เพราะติดขัดในขั้นตอนของกฎหมาย และยากที่จะทำสำเร็จในช่วงปกติ เช่น ปัญหาที่ดิน ส.ป.ก. การบริหารจัดการน้ำ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฯลฯ หากได้รับการแก้ไขก็จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว

“รัฐบาลไม่อยากให้สังคมมองการเปลี่ยนแปลงว่าเป็นเรื่องของการเมืองเท่านั้น แต่ควรคิดว่าจำเป็นอย่างไรที่ต้องทำเช่นนี้ เพื่อให้เดินหน้าไปสู่เป้าหมายการปฏิรูปที่สัมฤทธิผล หรือช่วยกันคิดว่าทำอะไรแล้วบ้านเมืองไปต่อได้ ด้วยบรรยากาศที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่วิพากษ์วิจารณ์บนพื้นฐานของการคาดเดาหรือสร้างความขัดแย้ง”


กำลังโหลดความคิดเห็น