นายกรัฐมนตรีเผยสั่งทำแผนปฏิรูปใน 2 ปีให้ชัด เอา 11 วาระ คสช.ผนวก 37 วาระ สปช.สร้างความชัดเจนจะทำสิ่งใด ให้สอดคล้องกับงบปี 60 ทั้งเรื่องเกษตร น้ำ โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณสุข รับลงทุนน้อยจนทำอะไรได้น้อย บี้ปรับโครงสร้างไอซีทีสู่เศรษฐกิจดิจิตอล พร้อมรื้อกฎหมายเร่งด่วนพื้นฐานก่อน
วันนี้ (26 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.20 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ได้สั่งการถึงสิ่งที่จะทำใน 2 ปี ระหว่างปี 2559 ถึงปี 2560 จะต้องชัดเจนว่าอะไรต้องทำต่อในแผนปฏิรูป และแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือตามแผนสภาพัฒน์ แผนละ 5 ปี อีก 4 แผน โดยนำเอางานทั้ง 11 วาระงานของ คสช. และอีก 37 วาระงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติมาสร้างความชัดเจนว่าสิ่งใดที่จะทำหรือจะมีผลผูกพันต้องทำต่อในระยะเวลาที่ไม่ยาวนัก เพราะเราต้องให้ดำเนินการในช่วงที่รัฐบาลนี้ยังอยู่จะได้ไม่เป็นภาระมากนัก และจะได้สอดคล้องกับการทำปีงบประมาณปี 2560 ซึ่งจะผูกพันไปปีงบประมาณปี 2561 ถึงแม้ว่ารัฐบาลนี้จะอยู่หรือไม่อยู่ก็ต้องทำงบประมาณตรงนี้ไว้ ซึ่งต่อไปเป็นเรื่องของรัฐบาลที่เข้ามาใหม่จะไปทำอะไรก็แล้วแต่เขา
นายกฯ กล่าวอธิบายต่อไปว่า สำหรับวาระงานที่จะต้องทำให้เกิดความชัดเจนนั้น เช่น เรื่องการเกษตร การบริหารจัดการน้ำ โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณสุข ประชาชนต้องรับรู้ให้ชัดเจนขึ้นว่าจะมีการแก้ไขปรับปรุง อย่างไร ในอนาคตจะเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจอย่างไร รัฐจะอุดหนุนตรงไหน เพื่อให้เป็นทางเลือกประชาชน หากต้องการให้มีความสะดวกมากขึ้นอาจจะต้องผู้กับภาคเอกชน เราจะทำให้ดีขึ้น และยืนยันว่าจะไม่ลดของเดิมแน่นอน สำหรับปัญหารายรับรายจ่ายของรัฐบาลที่ยังไม่สมดุลตอนนี้ ก็ทำให้งบประมาณในการลงทุนน้อยจนทำอะไรได้น้อยมาก
นายกฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่จะต้องทำให้ชัดเจนอีก คือ เรื่องการปรับโครงสร้างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอซีที) ที่จะนำไปสู่การสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิตอล ในปี 60 อย่างน้อยต้องสัมฤทธิผลในระยะที่1 ส่วนเรื่องความมั่นคงเรามีแผนสำหรับการพัฒนา กองทัพ การปฏิรูปตำรวจต้องมีความชัดเจนขึ้น ขณะนี้ตนได้สั่งการให้ดำเนินการแล้ว ขณะที่ส่วนเรื่องกฎหมายและงานในกระบวนการยุติธรรม จะทำให้เกิดความชัดเจนขึ้นว่ากฎหมายที่เราออกไปแล้วเป็นอย่างไร เพราะกฎหมายไม่ใช่เรื่อง พ.ร.บ.อย่างเดียวรวมถึงกฎกระทรวง ระเบียบต่างๆ ด้วย ส่วนที่ตนระบุว่ากฎหมายกว่า 5 พันฉบับนั้นเป็นการยกตัวอย่าง ซึ่งในต่างประเทศมีการรื้อ แต่เราคงทำไม่ได้เพราะเวลามีจำกัด และกฎหมายบางอย่างมีความจำเป็น แต่ออกมาแล้วไม่ได้ใช้ก็ไม่เสียหายอะไร ดังนั้นต้องทำกฎหมายที่เร่งด่วนและเป็นพื้นฐานของประเทศก่อน ส่วนกฎหมายที่ทุกคนเป็นห่วงว่าจะออกไม่ได้ วันนี้ออกได้ต้องออกในขั้นต้นก่อน ดูในสิ่งที่เราต้องการแก้ปัญหาอะไร มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้การทำงานเกิดขึ้น ซึ่งวันหน้ากฎหมายเหล่านี้สามารถเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้เราได้รับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน แต่ต้องเห็นใจเราด้วยว่าเราต้องการทำงานให้มีประสิทธิผล ประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ในช่วงนี้