อุบลราชธานี - “ม.ล.ปนัดดา” รมต.ประจำสำนักนายกฯ ลงพื้นที่ดู “เขื่อนปากมูล” ก่อนประชุมตั้งคณะอนุกรรมการใช้แก้ปัญหารอบด้าน 4 คณะ มั่นใจปัญหาเขื่อนปากมูลที่สั่งสมมานานกว่า 25 ปีจะได้รับการแก้ไขในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ด้านกลุ่มสมัชชาคนจนพอใจ ชี้เป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา
วันนี้ (2 มิ.ย.) ที่สันเขื่อนปากมูล อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ลงดูพื้นที่เขื่อนปากมูลเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเข้าประชุมร่วมกับคณะกรรมการชุดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งขึ้นมาแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน
ก่อนร่วมประชุมที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีใน 3 เรื่องสำคัญ คือ การกำหนดหลักเกณฑ์เปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลในปีนี้ การตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาสร้างบันไดปลาโจนเพื่อให้ปลาในแม่น้ำโขงว่ายขึ้นมาวางไข่ สร้างความสมดุลทางธรรมชาติให้แม่น้ำมูล และศึกษาผลการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลที่ผ่านมา
โดยระหว่างที่ ม.ล.ปนัดดาลงดูพื้นที่ได้มีมวลชนเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 3 อำเภอ คือ พิบูลมังสาหาร สิรินธร และโขงเจียม ยื่นหนังสือเรียกร้องให้ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลต่อไป เพื่อเก็บกักน้ำไว้ให้ราษฎรสองฝั่งแม่น้ำมีน้ำใช้ตกกล้าทำนา และให้มีน้ำไว้เลี้ยงปลากระชังในปีนี้
ขณะที่นายอำนวย หาญปราบ แกนนำฝ่ายสนับสนุนเขื่อนปากมูล ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูลในระดับจังหวัด เพื่อให้เป็นผู้พิจารณาเปิด-ปิดประตูเขื่อนแทนคณะกรรมการจากส่วนกลาง โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะประกอบด้วยตัวแทนชาวบ้านผู้ใช้น้ำทุกกลุ่ม ภาคราชการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำใช้ในจังหวัด โดยให้มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้
ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า การประชุมวันนี้จะมีการแบ่งสรรหน้าที่ความรับผิดชอบ การเปิด-ปิดเขื่อนปากมูลเช่นไร เพื่อกำหนดมาตรการให้เกิดความชัดเจนในหน้าที่ของหน่วยงานราชการในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคมีบทบาทอย่างไร ซึ่งการประชุมของคณะกรรมการชุดนี้มีผู้ทรงคุณวุฒิมาจากในพื้นที่และส่วนกลาง คงได้คำตอบที่เป็นคุณูปการต่อพี่น้องชาวอุบลราชธานี
ต่อมาที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล เดินทางเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้แต่งตั้งขึ้นจำนวน 30 คน ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการสาขาต่างๆ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
โดยก่อนเริ่มการประชุมกลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจนประมาณ 20 คนได้มารอที่หน้าอาคารศาลากลางจังหวัด พร้อมยื่นหนังสือเรียกร้องให้ ม.ล.ปนัดดาและคณะกรรมการรีบพิจารณาแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านด้วย พร้อมอยู่รอฟังผลการประชุมของคณะกรรมการอยู่หน้าศาลากลางจังหวัด
หลังใช้เวลาประชุมนานประมาณ 2 ชั่วโมงเศษ ม.ล.ปนัดดาได้แถลงข่าวระบุว่า การประชุมวันนี้ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 4 ชุด เพื่อมาดำเนินการแก้ไขปัญหา 4 ด้าน ประกอบด้วย
1. คณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล เพื่อกำหนดเวลาเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ซึ่งปีนี้ได้ยึดหลักเกณฑ์ตามปี 2558 เพราะสถานการณ์ใกล้เคียงกับปีนี้ 2. คณะอนุกรรมการพิจารณาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบอาชีพประมง
3. คณะอนุกรรมการพิจารณาสร้างบันไดปลาโจนให้ปลาใช้อพยพขึ้นมาวางไข่ได้ตามธรรมชาติ และสุดท้าย 4. คณะอนุกรรมการฟื้นฟูวิถีชีวิตอาชีพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล
โดยคณะอนุกรรมการทั้งหมดจะเป็นผู้พิจารณาก่อนนำเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่นำไปใช้แก้ปัญหาให้แก่ประชาชน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ปัญหาความเดือดร้อนจากเขื่อนปากมูลได้รับการแก้อย่างเด็ดขาดในรัฐบาลชุดนี้ โดยเป็นไปตามนโยบายประชารัฐของรัฐบาล
ด้านนายปริวัตร ปิ่นทอง ตัวแทนชาวบ้านสมัชชาคนจนเขื่อนปากมูล กล่าวถึงผลการประชุมครั้งนี้ว่า รู้สึกพอใจในแนวทางที่คณะกรรมการกำหนดไว้ เพราะเริ่มเห็นรูปธรรมการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนขึ้นหลังมีการตั้งคณะกรรมการชุดนี้มาครบรอบ 1 ปี แต่สิ่งที่ต้องการคือ ให้คณะอนุกรรมการเร่งทำงานให้เร็วขึ้น อย่าปล่อยให้ชาวบ้านต้องรอไปอีกหลังทนรอมานานกว่า 25 ปีแล้ว