อุบลราชธานี-คณะทำงานศึกษาผลการวิจัยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ถกเครียดกว่า 5 ชั่วโมง เสนอแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน 4 ข้อ ปรับปรุงสถานีสูบน้ำให้ใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ เตรียมพร้อมระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง กรณีเขื่อนปากมูลไม่สามารถเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้ ส่วนการชดเชยเยียวยา โยนให้คณะกรรมการชุด ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ตัดสินใจอีกครั้ง
ที่ห้องประชุมโครงการชลประทานจังหวัดอุบลราชธานี นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เขตตรวจที่ 11 และ 13 ซึ่งเป็นประธานคณะทำงานศึกษาข้อมูลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล พร้อมคณะทำงานที่ประกอบด้วยนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการประมง ด้านเกษตรกรรม ด้านเศรษฐกิจ และตัวแทนหน่วยงานภาครัฐที่ใช้ประโยชน์จากเขื่อนปากมูล เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำนักงานประมงจังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด ได้ประชุมเพื่อสรุปผลดีและผลเสียจากงานวิจัยของนักวิชาการที่ทำการศึกษาด้านต่างๆ ของการมีเขื่อนปากมูล ทั้งที่ศึกษามานานและศึกษาใหม่ ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นแนวทางเสนอต่อคณะกรรมการแก้ปัญหาตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านกลุ่มสมัชชาคนจน ซึ่งเสนอให้ทดลองเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล 5 ปี เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ให้แม่น้ำมูล และจ่ายเงินชดเชยเยี่ยวยาแก่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ สิรินธร โขงเจียม และพิบูลมังสาหาร จำนวนกว่า 2,600 ครอบครัว ครอบครัวละ 310,000 บาท
ในที่ประชุมมีการถกเถียงถึงข้อดีและข้อเสียของเขื่อนปากมูล ทั้งด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคอีสาน การใช้ประโยชน์ด้านการชลประทาน การใช้ประกอบอาชีพประมงของชาวบ้าน
คณะทำงานมีการเสนอให้ 1. มีการปรับปรุงสถานีสูบน้ำหลัก 5 สถานีให้สามารถใช้งานได้ในขณะมีน้ำขึ้นและลง เพื่อสนับสนุนการทำเกษตรกรรม 2. ให้ปรับปรุงระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เพื่อสร้างความมั่นคงแก่พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่กรณีเขื่อนปากมูลไม่ได้เดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 3. ให้ปรับปรุงแก้ไขบันไดปลาโจน ให้ปลาจากแม่น้ำโขงสามารถว่ายขึ้นมาว่างไข่ในฤดูผสมพันธุ์ในแม่น้ำมูลได้จริง
สำหรับการชดเชยเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนครอบครัวละ 310,000 บาทนั้น เนื่องจากในที่ประชุมมีการท้วงติงที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และภาครัฐมีโครงการช่วยเหลือด้านการจัดทำคลองส่งน้ำ การส่งเสริมอาชีพ การปล่อยพันธุ์ปลา จึงเป็นการช่วยเหลือทางอ้อมให้กับชาวบ้านที่ได้รับกระทบจากการสร้างเขื่อนอยู่แล้ว หลังจากหารือในข้อนี้เป็นเวลานานไม่สามารถหาข้อสรุปได้ คณะทำงานจึงจะเสนอให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลชุดใหญ่เป็นผู้แสดงความเห็นจะชดเชยเยียวยาหรือไม่อย่างไร สำหรับข้อที่ให้ทดลองเปิดประตูเขื่อนปากมูล 5 ปี ตามที่กลุ่มสมัชชาคนจนเรียกร้อง น่าจะใช้วิธีการแก้ไขปรับปรุงบันไดปลาโจนให้ปลาขึ้นมาวางไข่ แทนการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล
หลังจากหารือคณะทำงานจะนำข้อมูลทั้งหมดเสนอให้คณะกรรมการแก้ปัญหาเขื่อนปากมูล ชุด ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานนำไปหารือในที่ประชุมอีกครั้ง ก่อนนำเสนอต่อ ครม.เพื่อลงมติ
ขณะเดียวกัน นายสุวิทย์ ประธานคณะทำงานได้แจ้งกับชาวบ้านเขื่อนปากมูลประมาณ 30 คน ที่มารอฟังผลการประชุมอยู่นอกห้องประชุมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้คณะทำงานพิจารณาเรื่องการบริหารจัดการน้ำทั้งการทำประมงและภาคการเกษตร รวมทั้งให้กำหนดกรอบระยะเวลาการปิด-เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลในระยะยาวควรจะต้องทำอย่างไรให้ประชาชนทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน
หลังการประชุมของคณะทำงานตัวแทนชาวบ้านเขื่อนปากมูลจะได้นำรายละเอียดที่คณะทำงานสรุปไปหารือกำหนดท่าทีในการเคลื่อนไหวในครั้งต่อไปด้วย