อุบลราชธานี - จ.อุบลราชธานี จัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล หลังชาวบ้านสมัชชาคนจนเรียกร้องให้เปิดประตูระบายน้ำ ได้ข้อสรุปอีก 2 สัปดาห์ใช้อำนาจ ผวจ. เปิดประตูระบายน้ำ รอระดับน้ำโขงขึ้นมาอยู่ที่ระดับเดียวกับน้ำมูลที่ 95 ม.รทก. ด้านชาวบ้านยอมรับได้ ทยอยกลับไปประกอบอาชีพจับปลา
วันนี้ (20 มิ.ย.) ที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี มีการจัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล มีชาวบ้านสมัชชาคนจนเขื่อนปากมูลประมาณ 500 คน รวมตัวกันเดินเท้าเข้ามาที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี
ทั้งนี้ เพื่อให้กำลังใจต่อคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ซึ่งจัดประชุมที่ชั้น 4 ภายในอาคาศาลากลาง แต่ถูกกำลังของชุดควบคุมฝูงชนจากกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัด กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 22 อส. และทหารจากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัด จำนวน 200 นาย เข้าสกัดไว้บริเวณประตูเข้าออกศาลากลางด้านทิศตะวันออก
ต่อมา นายประทีป กีรติเลขา ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้ลงมาเจรจาขอให้ชาวบ้านส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม ชี้แจงข้อสงสัยต่อคณะกรรมการ จำนวน 2 คน เช่นเดียวกับชาวบ้านกลุ่มอื่น แต่ทางชาวบ้านปากมูลปฏิเสธ โดยระบุว่า ต้องการเพียงมาให้กำลังใจต่อคณะกรรมการที่ลงพื้นที่ดูข้อเท็จจริงเท่านั้น เจ้าหน้าที่จึงให้กลุ่มชาวบ้านรวมตัวกันอยู่ใต้ร่มไม้สนามหญ้าหน้าศาลากลางจังหวัด เพื่อรอฟังผลการประชุมของคณะกรรมการ
ขณะที่การประชุมของคณะกรรมการมี น.ส.เรณู ตั้งคจิวางกูร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และเป็นรองประธานคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ได้เริ่มประชุมเมื่อเวลา 09.00 น. โดยเชิญตัวแทนภาคราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ประมงจังหวัด ชลประทาน สำนักงานเกษตร พลังงาน และนักวิชาการที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล โดยมีตัวแทนชาวบ้านกลุ่มอื่นที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดประตูระบายน้ำเข้าร่วมรับฟัง และแสดงความเห็น
ด้านตัวแทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ระดับแม่น้ำโขงได้เพิ่มขึ้นจากที่มีฝนตกลง ทำให้ระดับน้ำแม่น้ำโขงห่างจากแม่น้ำมูลที่หน้าเขื่อนปากมูลประมาณ 1 เมตรเศษ คาดอีกประมาณ 2 สัปดาห์ ระดับน้ำโขงจะมีระดับน้ำสูงเท่ากับแม่น้ำมูล ซึ่งทำให้ปลา และสัตว์น้ำอื่นสามารถว่ายขึ้นไปวางไข่ได้
ทั้งนี้ ระหว่างการประชุม น.ส.เรณู ได้รับการติดต่อจากกลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจนเขื่อนปากมูล ต้องการส่งตัวแทน จำนวน 9 คน นำโดย นายอุดม แสงป้อง ชาวบ้านปากมูลยื่นหนังสือต่อ น.ส.เรณู เพื่อเรียกร้องว่า ขณะนี้เป็นช่วงที่ปลาในแม่น้ำโขงกำลังอพยพขึ้นมาวางไข่มากที่สุด แต่ไม่สามารถขึ้นมาวางไข่ได้เพราะเขื่อนปากมูลปิดประตูระบายน้ำ ส่วนบันไดปลาโจนก็ไม่สามารถใช้แก้ปัญหาการอพยพของปลาได้ จึงขอให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ซึ่งมาประชุมวันนี้มีมติเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทันที เพื่อให้คนหาปลาได้ประกอบอาชีพของตนด้วย
หลังตัวแทนชาวบ้านยื่นหนังสือต่อ น.ส.เรณู ได้พากันไปรอฟังคำตอบกับกลุ่มชาวบ้านที่ชุมนุมกันอยู่บริเวณสนามหญ้าหน้าศาลากลาง หลังคณะกรรมการใช้เวลาหารือกันนานร่วม 4 ชั่วโง เลขาคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ได้เชิญผู้สื่อข่าวหลายสำนักให้ออกจากห้องประชุม โดยอ้างไม่ต้องการให้เผยแพร่มติที่ประชุมของคณะกรรมการในวันนี้ เพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนกลุ่มต่างๆ ในกรณีเขื่อนปากมูล
สำหรับข้อสรุปของคณะกรรมการวันนี้ ได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นผู้สั่งการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บานในปีนี้เพียงผู้เดียว โดยยึดหลักเกณฑ์เมื่อระดับแม่น้ำโขงที่สถานีวัดน้ำบ้านห้วยสะคาม ต.โขงเจียม อ.โขงเจียม มีระดับน้ำความสูง 95 ม.รทก. เพราะเป็นระดับน้ำเท่ากับแม่น้ำมูล ซึ่งเหมาะสมต่อการอพยพของพันธุ์สัตว์น้ำ และปลาว่ายขึ้นไปวางไข่ในแม่น้ำมูลได้ ส่วนการช่วยเหลือเยียวยาอื่นคณะกรรมการจะนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ของคณะกรรมการอีกครั้ง
ขณะที่ระดับแม่น้ำโขงที่สถานีวัดน้ำห้วยสะคาม ปัจจุบันมีระดับน้ำที่ 93.04 ม.รทก. ทำให้คาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ ระดับแม่น้ำโขงจะมีระดับน้ำตามเกณฑ์ใช้เป็นประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลได้ ส่วนการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำในปีต่อไป คณะกรรมการจะมีการหารือกันอีกครั้ง
ต่อมา น.ส.เรณู ได้นำข้อสรุปการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำแจ้งให้ชาวบ้านทราบ โดยระบุว่า การตัดสินใจของคณะกรรมการดูจากข้อเท็จจริง และต้องไม่ทำให้ชาวบ้านกลุ่มอื่นได้รับผลกระทบจากการเปิด หรือปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล จะได้ไม่เกิดข้อขัดแย้งกันในพื้นที่ขึ้นอีก ส่วนการหาทางช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบในระยะยาว คณะกรรมการจะนำข้อมูลจากการลงพื้นที่มอบให้แก่ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล เพื่อเรียกประชุมหารือแก้ไขปัญหาต่อไป
ด้าน นายอุดม แสงป้อง แกนนำชาวบ้านปากมูล กล่าวว่า เข้าใจที่คณะกรรมการมาช่วยแก้ไขปัญหาให้แม้จะไม่ถูกใจทั้งหมด แต่ชาวบ้านก็ยอมรับได้ ต่อจากนี้จะพากันกลับไปประกอบอาชีพจับปลา หลังเขื่อนปากมูลเปิดประตูระบายน้ำในปีนี้