xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.เดินหน้าสายส่งไฟฟ้าแรงสูงภูเก็ต ลงพื้นที่เคลียร์คนต้าน ทุ่ม 5 พันล้านทำให้เสร็จปี 62

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผู้บริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หารือผู้ว่าฯ ภูเก็ต แก้ปัญหาชาวบ้านคัดค้านโครงการก่อสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาด 500 กิโลวัตต์ในภูเก็ต ตั้งคณะทำงานลงพื้นที่ทำความเข้าใจถึงความจำเป็นและการจ่ายค่าชดเชยในการรอนสิทธิที่ดิน กฟผ.เผยสายส่งที่มีอยู่ 2 เส้น รองรับการใช้ได้แค่ปี 2559 นี้เท่านั้น พร้อมทุ่มงบกว่า 5,000 ล้าน ส่งไฟฟ้าเข้าภูเก็ตได้กว่า 2,000 เมกะวัตต์ สร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าให้ประชาชน และเมืองท่องเที่ยว

เมื่อเวลา 14.00 น.วันนี้ (3 มิ.ย.) นายวิชัย สิมะธัมมนันท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการก่อสร้างระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมคณะ เข้าพบ นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต โดยมี นายวีระ เกิดศิริ นายอำเภอถลาง นายเกษม สุขวารี ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรราชาติและสิ่งแวดล้อมภูเก็ต นายประพันธ์ ขันธ์พระแสง หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดภูเก็ต เข้าร่วม ณ ห้องรับรองศาลากลางจังหวัดภูเก็ต เพื่อหารือถึงกรณีที่ชาวบ้าน และเจ้าของที่ดินในเขตพื้นที่อำเภอถลาง ที่แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงผ่านออกมาคัดค้านการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาด 500 กิโลวัตต์

เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีโครงการที่จะก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาด 500 กิโลวัตต์ จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี มายังจังหวัดภูเก็ต เพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าในภูเก็ตที่เพิ่มสูงขึ้น โดยสายส่งไฟฟ้าที่มีอยู่ในขณะนี้ 2 เส้น คือ สายส่งขนาด 230 กิโลวัตต์ และขนาด 115 กิโลวัตต์ ส่งไฟฟ้าได้ 420 เมกะวัตต์ แต่การใช้ไฟฟ้าในภูเก็ตขณะนี้อยู่ที่ 390 เมกะวัตต์แล้ว ทำให้สายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่มีอยู่ 2 เส้นในขณะนี้สามารถรองรับการใช้ไฟฟ้าในภูเก็ตได้ถึงปี 2559 นี้เท่านั้น ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จึงทำเป็นที่จะต้องก่อสร้างระบบสายส่งขนาด 500 กิโลวัตต์ เพิ่มขึ้นอีก 1 สายเพื่อความมั่นคงในการใช้ไฟฟ้าในภูเก็ต

อย่างไรก็ตาม จากการหารือดังกล่าวได้ข้อสรุปว่า ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะต้องเดินหน้าก่อสร้างระบบสายส่งขนาด 500 กิโลวัตต์ต่อไป เพื่อความมั่นคงทางด้านไฟฟ้าของภูเก็ต ภายใต้หลักการที่จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งในส่วนที่ชาวบ้านออกมาคัดค้านั้น ทางจังหวัดภูเก็ต จะร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตตั้งคณะทำงานลงพื้นที่ทำความเข้าใจต่อชาวบ้าน และเจ้าของที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากแนวระบบสายส่งดังกล่าว เพื่อทำความเข้าใจถึงความจำเป็นของการมีระบบสายส่งดังกล่าว และสิทธิที่เจ้าของที่ดินจะได้จากการลิดรอนสิทธิในที่ดินที่แนวสายไฟฟ้าแรงสูงผ่าน ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงพื้นที่ทำความเข้าใจต่อชาวบ้านทุกหมู่บ้าน ตั้งแต่ตำบลไม้ขาว เทพกระษัตรี ศรีสุนทร และเกาะแก้ว ได้ประมาณปลายเดือน มิ.ย.นี้

นายวิชัย สิมะธัมมนันท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการก่อสร้างระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การก่อสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาด 500 กิโลวัตต์ จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี มายังภูเก็ตนั้น ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ได้รับการอนุมัติจาก ครม.ของ คสช.เมื่อปี 2557 เพื่อแก้ปัญหาไฟฟ้าในภูเก็ตไม่เพียงพอ และรองรับการเติบโตของการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภูเก็ต เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตไม่มีโรงไฟฟ้า จึงจำเป็นที่จะต้องนำไฟฟ้ามาจากภาคกลางที่จังหวัดราชบุรี โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ก่อสร้างระบบสายส่งมาถึงสุราษฎร์ธานี และเชื่อมต่อมายังจังหวัดภูเก็ต และต่อจากสุราษฎร์ธานี ไปยังภาคใต้ตอนล่างเพื่อแก้ปัญหาไฟฟ้าในภาคใต้ไม่เพียงพอ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาไฟฟ้าดับทั้งภาคใต้เหมือนครั้งที่ผ่านมา

โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีการใช้ไฟฟ้าค่อนข้างสูง สายไฟฟ้าแรงสูงที่มีอยู่สองสายในขณะนี้สามารถรองรับการใช้ไฟฟ้าได้อีก 2 ปี คือ ในปี 2559 นี้ หากไม่มีการก่อสร้างเพิ่มก็จะไม่มีความมั่นคงในการใช้ไฟฟ้า ไฟจะตก และดับบ่อยมากขึ้น ซึ่งหลังจากที่ครม.อนุมัติแล้ว ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ได้ทำการศึกษาแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเพื่อเป็นทางเลือกไว้ 2 แนวทาง โดยใช้หลักทางด้านเศรษฐศาสตร์ ผลกระทบชุมชน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สภาพพื้นที่ ซึ่งร่างระบบสายส่งนั้นจะไม่ผ่านชุมชน วัด โรงเรียน บ้านเรือน และตึก รวมทั้งไม่ทราบว่าแนวสายส่งนั้นผ่านที่ดินของใครบ้าง เพราะการกำหนดแนวทางส่งนั้นดูพื้นที่จากภาพถ่ายทางอากาศ และการสำรวจในเบื้องต้นนั้น ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ได้แจ้งไปยังกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้าพื้นที่ทำงาน ส่วนเจ้าของที่ดินจะเป็นคนในพื้นที่ภูเก็ต หรือนอกพื้นที่นั้นทางการไฟฟ้าไม่สามารถทราบได้

ในส่วนของเจ้าของที่ดินที่ได้รับผลกระทบ ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะชดเชยให้ตามที่คณะกรรมการ ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานเสนอ ซึ่งตามเกณฑ์แล้วจะจ่ายไม่ต่ำกว่า 90% ของราคาซื้อขายในตลาด ส่วนจุดที่มีการปักเสาไฟฟ้าแรงสูงจะจ่ายถึง 200% ของราคาที่ดิน โดยที่ดินที่ต้องใช้ในการวางแนวสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลวัตต์นั้นประมาณ 60 เมตร รวมทั้งต้นไม้ต่างๆ ก็จะจ่ายให้ทั้งสิ้น และเจ้าของที่ดินยังสามารถทำประโยชน์ใต้สายส่งไฟฟ้าได้อีกด้วยตามเงื่อนไขเขตความปลอดภัยสายส่งไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม ขณะที่กำลังดำเนินการก่อสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาด 500 กิโลวัตต์นั้น ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะทำวงจรสายส่งไฟฟ้าชั่วคราวในระบบสายส่งขนาด 230 กิโลวัตต์ที่มีอยู่เดิมด้วย เพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าไปจนถึงปี 2562 จนกว่าสายส่งขนาด 500 กิโลวัตต์จะแล้วเสร็จในปี 2562 ที่สามารถรองรับการใช้ไฟฟ้าในภูเก็ตได้กว่า 2,000 เมกะวัตต์

นายวิชัย กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวการไฟฟ้าฝ่ายผลิตใช้งบลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท สำหรับวางสายส่งจากสุราษฎร์ธานี มาภูเก็ต ระยะทางประมาณ 180 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท ที่เหลือจะเป็นในส่วนของการรอนสิทธิในที่ดินที่แนวสายส่งผ่าน การขยายสถานีไฟฟ้าที่เกาะแก้ว เป็นต้น
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น