xs
xsm
sm
md
lg

ชาวป่าคลอก จ.ภูเก็ต ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ คัดค้านแนวไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ชาวบ้านป่าคลอก และบ้านพารา อ.ถลาง ภูเก็ต กว่า 100 คน เดินทางมายื่นหนังสือขอให้ทบทวนการวางแนวปักเสาไฟฟ้าแรงสูง 500 KV และขอให้ไปปรับปรุงแนวที่มีอยู่เดิมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เนื่องจากชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนหลายร้อยครัวเรือน

เมื่อเวลา 08.30 น. วันนี้ (15 พ.ค.) ที่หน้าศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ชาวบ้านป่าคลอก และบ้านพารา ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต กว่า 100 คน นำโดย นายดลเลาะ ศรีเหมาะ ผู้ช่วยโต๊ะอิหม่ามมัสยิดบ้านพารา นายวิชัย ไกรเทพ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านท่ามะพร้าว ม.10 ต.เทพกระษัตรี นายณัชชา อึ่งอำนวยพร ทนายความ นายสำราญ พานดำ อดีตผู้ใหญ่บ้านพารา เข้ายื่นหนังสือร้องเรียน เรื่อง ขอให้ทบทวนการวางแนวปักเสาไฟฟ้าแรงสูง 500 KV และ ขอให้ไปปรับปรุงแนวที่มีอยู่เดิมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เนื่องจากชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนหลายร้อยครัวเรือน ถึง นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผ่าน นายประเจียด อักษรธรรมกุล หัวหน้าสำนักงานจังหวัดภูเก็ต เป็นตัวแทนรับ โดยมี นายประพันธ์ ขันพระแสง หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมภูเก็ต เข้าร่วม

นายณัชชา อึ่งอำนวยพร ทนายความ กล่าวถึงการวางแนวปักเสาไฟฟ้าแรงสูง 500 KV ว่า ทางชาวบ้านป่าคลอก และบ้านพารา ไม่ได้ต้องการถ่วงความเจริญของจังหวัดภูเก็ต แต่ทางชาวบ้านได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากการถูกรอนสิทธิในที่ดินของตนเอง เช่น ที่ทำมาหากินใต้แนวเสาไฟฟ้าแรงสูงกว้าง 60 เมตร ยาวตลอดแนวพาดผ่านแทบจะทำอะไรไม่ได้เลย เอกสารสิทธิโดนรอนสิทธิลง มูลค่าราคาที่ดินตกต่ำ ที่ดินข้างเคียงแม้จะไม่โดนสายส่งพาดผ่าน แต่ก็ได้รับผลกระทบจากราคาที่ตกต่ำลงมาเช่นกัน เพราะไม่มีใครอยากไปอยู่ใกล้ๆ สายส่งแรงสูง ต้องโค่นไม้ทำลายป่า ผลของสนามแม่เหล็กที่มีต่อสุขภาพร่างกายเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง และถูกไฟฟ้าช็อต และปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย รวมทั้งค่าชดเชยได้ไม่คุ้มค่าเท่าที่ควร

สำหรับการขยายแนวแรงสูงใหม่สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านเป็นวงกว้างหลายร้อยครัวเรือน และวิถีการใช้ชีวิตต้องเปลี่ยนไปจากเดิม อีกทั้งมีผลกระทบทางจิตใจ ป่าไม้ และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ต้องถูกทำลายไป

นอกจากนี้ ชาวบ้านต้องการให้ กฟผ.ควรที่ไปบริหารจัดการปรับปรุงและพัฒนาแนวแรงสูงเดิมทั้ง 2 แนวที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันให้รองรับการขยายตัวของจังหวดภูเก็ต เช่น การขยายเป็น 500 KV คูณ 2 ทั้ง 2 เส้นทางเดิม ก็จะทำให้ไฟฟ้าเหลือใช้ไปอีกหลายสิบปีอีกด้วย

โดยชาวบ้านได้ตั้งข้อสังเกตว่า กฟผ.จะพูดเสมอว่า ทำไม่ได้ที่แนวแรงสูงเดิม ในขณะที่ข้อเท็จจริงทางหลักวิศวกรรมสามารถที่จะทำได้ จึงทำให้ชาวบ้านคิดว่า ทำไม กฟผ.จึงต้องการที่จะไปตั้งงบประมาณใหม่ขึ้นมาให้มันมากๆ เข้าไว้ แถมยังเดินแนวเส้นทางอ้อมโลกมาทางเส้นทางป่าคลอก ซึ่งไกลกว่าเส้นเดิมอีกเป็น 10 กิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม ทางชาวบ้านได้รวมตัวกันไปแจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีต่อ กฟผ. ผู้ว่าฯกฟผ. และเจ้าหน้าที่ กฟผ. ที่เข้าไปบุกรุกพื้นที่ของเอกชนโดยมิได้รับอนุญาต ตัดต้นไม้ (บุกรุกที่ดินเอกชนไปปักหมุด ทำให้เสียทรัพย์) ที่สถานีตำรวจภูธรถลาง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับข้อเสนอแนะที่ของชาวบ้านเสนอมา นายณัชชา กล่าวว่า 1.เปลี่ยนไปใช้สาย High Temperature & Low Sag Cable แทนสายแรงสูงเดิม เพื่อขยายกำลังรับกระแสไฟฟ้าได้มากขึ้นเป็นเท่าตัว 2.เพิ่มแนวแรงสูงใหม่คู่ขนานกับแนวเดิม โดยตั้งเสาใหม่คู่ขนานไปกับแนวเดิม (ถ้าจำเป็นจะต้องทำเส้นทางเบี่ยง bypass ชั่วคราวไปก่อน ในระหว่างการก่อสร้างแนวเสาใหม่) 3.ยกเลิกแนวแรงสูง 115 KV เดิม แล้วสร้างแนวใหม่ 500 KV (ทำเผื่อ 2 วงจรในอนาคต) ลงบนแนวแรงสูงบนที่ดินเดิม โดยการทำเส้นทางเบี่ยง bypass ชั่วคราว ในระหว่างการก่อสร้างไปก่อน (ทางเบี่ยง bypass อาจจะใช้เสา คสล.แรงสูง 69 KV ที่อยู่ริมถนนเทพกระษัตรีในปัจจุบัน มาทำแทนก็ได้ หรือแนวทางอื่นๆ ก็ได้) 4.การตั้งสถานีไฟฟ้า 500 KV ที่หัวเกาะภูเก็ตก็สามารถทำได้ โดยทำการแปลงไฟ 500 KV ลงมาเป็น 230 KV และ 115KV แล้วก็ใช้แนวสายส่งแรงสูงเดิมจ่ายเข้ามาในเมือง โดยการปรับปรุงเพิ่มจำนวนวงจร และเพิ่มขนาดสายไฟแรงสูงเดิม เพื่อจะได้รองรับกระแสไฟได้มากยิ่งขึ้น 5.ทำระบบไฟฟ้าแรงสูงใต้ดิน โดยทำบนแนวที่ดินแรงสูงเดิม เอาสายส่งใส่ในท่อ และใส่ลงในราง คสล.แล้วก็กลบฝังดิน ด้วยวิธีการนี้ราคาอาจจะแพงขึ้น แต่คุ้มค่ากว่าในระยะยาว สามารถวางแผนแก้ปัญหาการขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต และเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน รวมทั้งกระทบสิทธิของชาวบ้านน้อยมาก และมีความสวยงามสมกับเป็นเมืองท่องเที่ยวอีกด้วย 6.ทำระบบไฟฟ้าแรงสูงใต้ทะเล โดยมุดลงทะเลที่ฝั่งจังหวัดพังงา แล้วมาขึ้นฝั่งที่ตำบลเกาะแก้ว จังหวัดภูเก็ต แล้วลงใต้ดินที่แนวสูงเดิมเข้าสถานีไฟฟ้าภูเก็ต 3 ที่เกาะแก้ว 7.แนวทางที่กฟผ.สามารถเสนอเองได้ โดยดารบริหารจัดการให้อยู่ในเขตแนวแรงสูงเดิม โดยไม่ไปสร้างแนวเวนคืน หรือรอนสิทธิบนที่ดินฝืนใหม่ จะทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนอย่างแน่นอน

ภายหลังจากรับมอบหนังสือร้องเรียน นายประเจียด อักษรธรรมกุล หัวหน้าสำนักงานจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จะเรื่องดังกล่าวไว้ โดยจะเชิญทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตมาชี้แจง และประชุม จากนั้นจะส่งเรื่องทั้งหมดไปยังการไฟฟ้าฝ่ายผลิต กรุงเทพมหานคร ให้มีการทบทวนเรื่องดังกล่าว เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่ไม่เห็นด้วยต่อการวางแนวปักเสาไฟฟ้าแรงสูง โดยเฉพาะการรอนสิทธิของชาวบ้านในเรื่องที่ดิน บางคนมีที่ดินเล็กน้อยแต่ถูกการไฟฟ้ามารอนสิทธิอีก ทางจังหวัดภูเก็ต ก็ยินดีจะรับเรื่องไว้ และเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตต่อไป
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น