xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ยันไม่นำเรื่องที่มีผู้ต่อต้านขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแน่ ยกอดีตเคยมีรักษาการสมเด็จพระสังฆราชยาว 37 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม (แฟ้มภาพ)
รองนายกรัฐมนตรีเผยยังไม่ได้รับชื่อสมเด็จพระสังฆรราชองค์ที่ 20 ระบุหาก มส.ลงมติแล้วก็ถือว่าทำหน้าที่จบแล้ว ต่อไปเป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะดำเนินการ โดยมีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา ยันจะไม่นำเรื่องที่คนต่อต้านขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเด็ดขาด ยกในอดีตเคยมีการรักษาการยาวนานถึง 37 ปี

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข่าวนายพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ส่งหนังสือแจ้งนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานผลการประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) วาระลับพิเศษเสนอนามสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นพระสังฆราชองค์ที่ 20 ให้นายกรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย สถาปนาเป็นพระสังฆราชองค์ที่ 20 ว่า เรื่องดังกล่าวยังส่งไม่ถึงมือตน เท่าที่ทราบเพียงว่าทางผู้อำนวยการ พศ.จะลงนามก่อนที่จะส่งมายังรัฐบาลในวันเดียวกันนี้

ทั้งนี้ เมื่อส่งมาที่รัฐบาล นายสุวพันธุ์จะเป็นผู้รับไว้ก่อนที่จะทำความเห็นเสนอมายังตนเพื่อให้ทำความเห็นส่งต่อไปยังนายกฯ ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยไม่มีการกำหนดกรอบระยะเวลาในการดำเนินการเรื่องนี้แต่อย่างใด

นายวิษณุกล่าวว่า การนำขึ้นกราบบังคมทูลเมื่อใดต้องดูความเหมาะสมหลายอย่าง แต่ยืนยันว่ารัฐบาลทำตามหน้าที่ ประกอบด้วย 3 ประการ คือ ตามกฎหมาย ตามประเพณี และตามความคาดหมายของประชาชน ซึ่งการทำหน้าที่ก็ต้องแล้วแต่ความเหมาะสมนั้นๆ อาทิ หน้าที่ของคณะสงฆ์จะต้องคำนึงถึงพระธรรมวินัยมาก่อนกฎหมาย คำนึงถึงกฎหมายแล้วจึงถึงจารีตประเพณี ซึ่งหาก มส.ได้ประชุมไปแล้วและส่งมติมาจริงก็ถือว่า มส.ทำหน้าที่ของ มส.เสร็จแล้ว จากนั้นจะเป็นหน้าที่รัฐบาล เมื่อเรื่องมาถึงรัฐบาลจะต้องใช้กฎหมาย ประเพณีที่เคยปฏิบัติ และใช้ความคาดหมายของประชาชนมาเป็นตัวประกอบ เนื่องจากรัฐบาลบริหารประเทศต้องคำนึงถึงความถูกต้อง ความพอใจ ความยอมรับของประชาชน ส่วนถ้าขัดกันแล้วสิ่งใดจะชนะนั้น กฎหมายย่อมชนะแน่นอน

ส่วนที่มีการยื่นรายชื่อคัดค้านสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญนั้น นายวิษณุกล่าวว่า ตนขอตอบย้ำอีกครั้งว่ารัฐบาลไม่ได้ถือกระแสคัดค้านมาเป็นหลัก เพราะไม่ว่าจะมีการแต่งตั้งใดๆ ย่อมมีคนคัดค้านเป็นธรรมดา แต่ถ้าขืนเอาการคัดค้านนั้นเป็นหลักคงไม่ต้องตั้งใครทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม จะต้องดูด้วยว่าผลของการคัดค้านนั้นนำไปสู่สิ่งใด หากนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยรัฐบาลจะต้องทำให้สงบเรียบร้อย

“รัฐบาลไม่ถือเอาเรื่องคัดค้านเป็นใหญ่ เพราะการคัดค้านจะมีอยู่เสมอ การค้านนั้นนำไปสู่ผลอะไร ถ้าค้านแล้วนำไปสู่ความไม่เข้าใจ แตกแยก ไม่สงบ รัฐบาลจะต้องจัดการทำให้เรื่องเหล่านั้นบรรเทาเบาบาง ส่วนจะใช้วิธีใดคงไม่ขอตอบ เพราะไม่ว่ารัฐบาลใดก็ตามจะไม่นำเรื่องที่เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม เป็นเรื่องที่มีคนยังวิพากษ์วิจารณ์ ต่อต้าน เกิดความไม่สงบขึ้นกราบบังคมทูลฯเป็นอันขาด แต่เมื่อเกิดเรื่องขึ้นแล้วจะทำอย่างไร บางครั้งก็มีอยู่หลายวิธีที่จะทำได้ ซึ่งผมไม่ขอพูดอะไรต่อไป เพราะถ้าพูดลึกลงไปขนาดนั้นจะกลายเป็นการเปิดเผยวิธีการให้โลกรู้ เพราะถ้ารู้เขาก็จะเกิดการรู้เรา คงไม่ต้องทำอะไรกันต่อ”

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในส่วนของขั้นตอน เมื่อเรื่องมาถึงรัฐบาลแล้วไม่มีกรอบกำหนดว่าจะต้องนำขึ้นกราบบังคมทูลเมื่อไหร่นั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้พูดแล้วว่าจะต้องให้เรื่องสงบเสียก่อน ตนกับนายกฯ ไม่ได้พูดขัดกันแต่อย่างใด โดยตนกับนายกฯ ได้พูดคุยกันถึงเรื่องนี้โดยละเอียดตลอดเวลา ทุกอย่างจะเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ได้หนักใจ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชนั้นถือเป็นเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาลหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า หากตนตอบคำถามดังกล่าวอาจถูกตีความเป็นอย่างอื่น เพราะถ้าตอบว่าไม่เร่งด่วนจะถูกตีความว่าจะดองเรื่อง แต่ถ้าบอกว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนจะถูกตีความว่าจะอาศัยทีเผลอแล้วเสนอทันที เป็นการเชิญแขกทั้งสองคำตอบ ดังนั้นขอให้เป็นกุศโลบาย ซึ่งคำนี้มาจากคำว่ากุศลบวกอุบายซึ่งรัฐบาลจะต้องรู้สำหรับกุศโลบายนี้

นายวิษณุกล่าวว่า เป็นไปได้ทุกอย่าง เพราะที่ผ่านมาในอดีตเมื่อครั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 7 ของไทยสิ้นพระชนม์ได้ใช้เวลาห่างจากองค์ก่อนหน้านั้น 37 ปี และเมื่อผ่านไป 2 รัชกาล คือ รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 จึงได้สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชวัดบวรนิเวศ และเมื่อท่านเป็นสมเด็จพระสังฆราชได้ 2 ปีก็สิ้นพระชนม์ หลังจากนั้นทิ้งไปอีก 11 ปีจึงได้สถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ดังนั้น หากจะเอาตามประเพณีแล้วก็มีทุกแบบ จึงจะมาอ้างว่าต้องเร็วหรือช้าไม่ได้ เพราะในทุกคราวต่างมีเหตุผลด้วยกันทั้งนั้น จึงต้องดูความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ดำรงตำแหน่งรักษาการสามารถปฏิบัติพระราชภารกิจทุกอย่างได้ทั้งหมด

“กรณีที่ยังมีกระแสคัดค้านนั้นจะต้องมีการหาทางแก้ปัญหาว่าขัดข้องอะไร จำเป็นอะไรที่จะต้องตั้ง หากยังมีความขัดแย้งอยู่ การรักษาการต่อไปแล้วจะเกิดความไม่สะดวกอย่างไร เป็นปัญหาอย่างไร ถ้ารักษาการต่อไปจะเกิดความเข้าใจผิดหรือแตกแยกอย่างไร เมื่อเทียบกับการตั้งแล้วจะเกิดอะไร ทั้งหมดนี้ต้องนำมาดูแล้วทำความเข้าใจ แล้วในความเป็นจริงต้นเหตุเป็นความผิดของใคร เมื่อวันนี้ข้อคัดค้านสมเด็จวัดปากน้ำ ก็ต้องดูว่าเพราะอะไร ซึ่งรัฐบาลอาจจะยังทราบไม่แท้จริงก็ได้ และผมยังไม่เห็นหนังสือพระพุทธะอิสระที่ยื่นว่าตั้งข้อกล่าวหาอย่างไร เพราะ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักฯ ยังไม่ได้ส่งมาให้ ซึ่งรัฐบาลต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงในข้อกล่าวหานั้นเสียก่อน”


กำลังโหลดความคิดเห็น