xs
xsm
sm
md
lg

ไกด์ไลน์หมอใช้โซเชียลฯ ครอบคลุมการวางตัว ยันไม่ใช่ข้อบังคับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หมอรามาฯ ยันไกด์ไลน์การใช้โซเชียลฯ “วงการหมอ” ไม่ใช่ข้อบังคับ ชี้เป็นแนวทางหาจุดสมดุลอะไรควรทำ ไม่ควรทำ เผยบางเรื่องไม่ละเมิดสิทธิผู้ป่วย แต่ต้องระวังการวางตัวไม่เหมาะสม ไม่รักษามาตรฐานการประกอบวิชาชีพ คาดไกด์ไลน์ของไทยครบถ้วนที่สุด

นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการร่างแนวทางปฏิบัติ (ไกด์ไลน์) การใช้โซเชียลมีเดียของบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อสร้างบรรทัดฐานการใช้โซเชียลมีเดียอย่างเหมาะสม ไม่ละเมิดสิทธิโดยเฉพาะผู้ป่วย ว่า ขณะนี้ยังคงอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลแนวทางปฏิบัติของต่างประเทศ ซึ่งตนได้ทำการรวบรวมมาเป็นเวลา 2 - 3 เดือนแล้ว คาดว่า ไกด์ไลน์การใช้โซเชียลมีเดียที่เหมาะสมของบุคลากรสาธารณสุขไทยจะเป็นไกด์ไลน์ที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด เพราะจากการรวบรวมพบว่า บางประเทศมีแนวทางเรื่องนี้ บางประเทศมีอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องไหนที่แต่ละประเทศให้ความสำคัญมาก ซึ่งการจะร่างไกด์ไลน์สำหรับประเทศไทยก็คงต้องมาดูกรณีตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยด้วยว่า มีกรณีใดเกิดขึ้นบ้าง จะปรับแนวทางมาใช้ให้เหมาะสมกับสังคมไทยอย่างไร

นพ.นวนรรน กล่าวว่า ไกด์ไลน์ดังกล่าวไม่ใช่ข้อบังคับ แต่เป็นเพียงแนวทางที่หาจุดสมดุลว่าอะไรทำได้ หรืออะไรไม่ควรทำ จุดไหนควรระมัดระวัง เพราะบางเรื่องบางพฤติกรรมนั้นแม้จะไม่ละเมิดสิทธิผู้ป่วยก็จริง แต่ก็ต้องดูว่าการใช้โซเชียลมีเดียนั้นมีความเหมาะสมหรือไม่ คือ เป็นเรื่องของการวางตัวของบุคลากรทางการแพทย์ เช่น แพทย์ถ่ายรูปเซลฟีในห้องผ่าตัด หากเห็นหน้าผู้ป่วย อันนี้ชัดเจนว่าละเมิดสิทธิผู้ป่วย ไม่สามารถทำได้ แต่หากแพทย์ถ่ายรูปเซลฟีในห้องผ่าตัด อาจจะเห็นแต่เพียงอุปกรณ์เครื่องมือในห้องผ่าตัด แต่ไม่มีคนไข้ในภาพ ตรงนี้ไม่ละเมิดสิทธิผู้ป่วย ก็ต้องมาดูบริบทของการโพสต์ว่าแพทย์รายนั้นโพสต์ออกมาในทำนองใด เหมาะสมหรือไม่ หากโพสต์ในทำนองบ่นผู้ป่วย อันนี้ก็อาจทำให้มองว่าแพทย์วางตัวไม่เหมาะสมหรือไม่ แต่หากโพสต์ประมาณว่าวันนี้ผ่าตัดคนไข้เรียบร้อยดี ทำนองนี้ก็อาจไม่มีใครว่า เป็นต้น

“ไกด์ไลน์จะช่วยทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น แต่การพิจารณาว่าการใช้โซเชียลของบุคลากรทางการแพทย์ละเมิดสิทธิผู้ป่วยหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ ก็ต้องพิจารณาดูเป็นกรณี ๆ ไป เพราะแต่ละกรณีนั้นต่างกัน หรืออย่างกรณีผู้ป่วยยินยอมให้ออกสื่อได้ แพทย์ก็ต้องพิจารณาให้ดี เพราะมีหน้าที่ต้องป้องกันดูแลผู้ป่วย” นพ.นวนรรน กล่าว

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า เคยมีกรณีแพทย์ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยออกข่าว ซึ่งเป็นความยินยอมของผู้ป่วยเอง เพราะผู้ป่วยต้องการออกสื่อ เพื่อหวังรับเงินบริจาค แม้จะไม่ละเมิดสิทธิผู้ป่วย แต่ก็เป็นเรื่องมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ ซึ่งต้องรักษามาตรฐาน 4 ข้อ คือ 1. อิสระของผู้ป่วย 2. ความปลอดภัย 3. ไม่ทำให้เกิดความเสียหาย และ 4. ยุติธรรมดูแลคนไข้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เหตุใดแพทย์จะต้องมาตรวจคนไข้ออกสื่อ เป็นตัวประกอบในการสื่อสารของผู้ป่วย เนื่องจากแพทย์ไม่ได้มีหน้าที่เป็นตัวประกอบการสื่อสาร แต่มีหน้าที่รักษา ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ต้องรู้ว่าผู้ป่วยมีเจตนา หรือวัตถุประสงค์อะไรบางอย่างด้วยหรือไม่ นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการมองได้ว่าแพทย์หวังให้ผู้คนศรัทธาในตัวเองเพิ่มขึ้นหรือไม่ เป็นการโฆษณาตัวเอง ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์แต่ละวิชาชีพจะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ให้มาก เพราะเป็นวิชาชีพที่มีจริยธรรม จรรยาบรรณเหนือบุคคลทั่วไป

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น