xs
xsm
sm
md
lg

การพัฒนาที่ไม่ถูกนับ?! / รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


  
รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์  จิตรนิรัตน์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ทักษิณ สงขลา
--------------------------------------------------------------------------------
 
 
กว่า 50 ปีที่วาทกรรม “การพัฒนาไปสู่ความทันสมัย” มีอิทธิพลและอำนาจนำ (Hegemony) ต่อเนื่องต่อการตัดสินใจทางการเมืองและการบริหารการพัฒนาประเทศ แม้จะมีบทสรุปที่ตรงกันถึงปัญหา ผลกระทบ และความเสียหายที่ทีต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เสมอภาค และความเป็นธรรม เป็นต้น
 
กระทั่งมีคำกล่าวว่า “การพัฒนาที่ไม่พัฒนา”
 
ขณะที่แนวคิดและทิศทางเลือกใหม่ของการพัฒนา ที่เรียกกันว่า “การพัฒนาที่ยังยืน” ที่ถูกกำหนดเป็นวาทกรรมใหม่ และถูกกำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 เป็นต้นมา
 
หรือกระทั่งล่าสุดที่องค์การสหประชาชาติ ได้เสนอเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่เรียกว่า “Sustainable Development Goals (SDGs)” เพื่อเป้าหมายเชื่อมโยงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ให้สามารถขจัดความยากจน อดอยาก ความหิวโหย ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ผสมกลมกลืนสมดุลกับโลกธรรมชาติ การป้องดูแลโลก-ทรัพยากรและระบบนิเวศ ภูมิอากาศ และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
 
ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่ง 193 ประเทศที่ร่วมลงนามรับรองเป้าหมายการพัฒนา SDGs
 
ก็ยังมีสิ่งที่น่าวิตกกังวลอยู่มาก เพราะสิ่งเหล่านี้ดูจะเป็นเพียง “คารมและลมปาก” ของรัฐและบรรดาเทคโนแครต ผู้กุมบังเหียนการพัฒนาประเทศ ที่มักหยิบยกประเด็นเหล่านี้เป็นดอกไม้ประดับตกแต่งเพื่อความสวยงาม มากกว่าจะปรับแปลงไปสู่การขับเคลื่อนอย่างจริงจัง
 
ดังสะท้อนจากรูปธรรมใกล้ตัวก็คือ การจัดทำแผนและโครงการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมในภาคใต้ ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างขนานใหญ่ และอาจถือเป็นวิกฤตการณ์ระลอกใหม่ในอนาคตอันใกล้
 
เพราะรัฐ และเหล่าบรรดาเทคโนแครตยังสมาทาน ดำดิ่งกับวาทกรรมกระแสหลักอย่างเหนียวแน่นและมั่นคง ไม่ว่าการพัฒนาจะก่อให้เกิดปัญหา ผลกระทบอันมากมายมหาศาลเพียงใดต่อประชาชน และระบบนิเวศ
 
ถึงที่สุดแล้วสิ่งเหล่านี้ “ไม่ถูกนับรวม” ในการพัฒนา และถูกมองเป็น “ราคาที่ต้องจ่าย” แลกกับ “ความเจริญ” “ความมั่งคั่ง” และ “ความร่ำรวย” ของคนเพียงหยิบมือ
 
ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนในระดับล่างของสังคม จะมีตัวตนปรากฏขึ้นมาบ้างก็ในยามถูกเรียกร้องให้เสียสละ ยอมรับการพัฒนาที่ตนเองไม่ได้มีส่วนกำหนดเท่านั้น…
 
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ประชาชน พลเมืองได้ตื่นรู้อย่างกล้าหาญ รับรู้ เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และต่างความเรียกร้อง ต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเต็มที่มากขึ้น “การมัดมือชก” กำหนดให้เป็นเพียง “ตัวประกอบ” ที่ไร้ชื่อเสียงเรียงนาม คงเกิดขึ้นได้ยากจากนี้ไป
 
การคัดค้านเรียกร้องให้ยุติเวทีรับฟังความคิดเห็น “โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2” ของประชาชน และเครือข่ายต่างๆ เป็นเพียงตัวอย่าง และสัญญาณเล็กๆ เท่านั้น
 
การดันทุรังจัดเวทีรับ (รวมถึงการทึกทักว่าผ่านกระบวนการนี้แล้ว) จะทำให้รัฐ กลไกรัฐเป็นตัวตลกทางการเมืองมากยิ่งขึ้นไป
 
ถึงเวลาโปรดจับตา!! ประชาชน พลเมืองลุกขึ้นมา “นับ” และ “กำหนดนับ”
 

กำลังโหลดความคิดเห็น