ศูนย์ข่าวศรีราชา - นักวิชาการเสนอปรับปรุงกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการอีไอเอ-อีเฮชไอเอ เพื่อลดความขัดแย้ง และสร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย
ปัจจุบัน รัฐบาลมีนโยบายให้เกิดโครงการขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจกต์เป็นจำนวนมาก เช่น การก่อส้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และท่าเรือขนถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ และที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา โครงการโรงไฟฟ้าจากการเผาขยะในหลายพื้นที่ โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล โครงการขยายท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี โครงการต่อขยายทางด่วนบูรพาวิถี บางประกง-แหลมฉบัง โครงการสร้างทางรถไฟไทย-จีน จากหนองคาย มายังท่าเรือมาบตาพุด โครงการมอร์เตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช โครงการปรับปรุงผังเมืองโดยมีการเพิ่มพื้นที่สีม่วงในแต่ละจังหวัด เป็นต้น
โครงการเหล่านี้เป็นโครงการที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรืออีไอเอ-อีเฮชไอเอ ทั้งสิ้น แต่ที่ผ่านมา กระบวนดังกล่าวกลับไม่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชน และเห็นว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไม่ว่าจะเป็นขั้นตอน ค.1 ค.2 ค.3 หรือ ง. ยิ่งไปเพิ่มความขัดแย้งระหว่างประชาชน 2 กลุ่มในพื้นที่อีก
นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย และที่ปรึกษามูลนิธิจิตรอาสา เผยว่า จากนโนบายดังกล่าว ทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ.ควรจะต้องเร่งปรับปรุงประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางปฎิบัติสำหรับโครงการที่ต้องจัดทำอีเฮชไอเอ ฉบับวันที่ 29 ธ.ค.52
เนื่องจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชน หรือที่เรียกว่าประชาพิจารณ์ที่ดำเนินการอยู่นั้นเป็นการดำเนินการโดยผู้ประกอบการ และที่ปรึกษาเอง ซึ่งในทางปฎิบัติไม่มีกระบวนของภาครัฐในการกำกับดูแลให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประกาศ แต่ในทางกลับกันกับเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ และที่ปรึกษาจัดตั้งประชาชนเข้ามาสนับสนุนโครงการในที่ประชุมได้อย่างเสรีในรูปแบบต่างๆ เช่น นำรถขนคนเข้ามา การแจกของชำร่วย หรือให้เงิน การจัดเลี้ยง เป็นต้น ทำให้กระบวนการของอีไอเอ/อีเฮชไอเอ ขาดความโปร่งใส และเพิ่มความขัดแย้งมากขึ้น
ตามปกติในประเทศยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา เขาจะใช้วิธีให้ภาครัฐตั้งคณะกรรมการภาคประชาชนในพื้นที่ที่เรียกว่า public consultation ประกอบด้วย ผู้แทนจากชุมชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการ และผู้ทรงคุณวุฒิที่ประชาชนในพื้นที่เลือก ทั้งหมดไม่เกิน 15 คน ทำหน้าที่กำกับการศึกษาจัดทำรายงานอีไอเอ-อีเฮชไอเอ ในทุกขั้นตอนการศึกษา เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริง และหาทางออกร่วมกันซึ่งการดำเนินการอาจจะเดินหน้า หรือหยุดโครงการก็ได้แล้วแต่ข้อมูลในพื้นที่ แต่เมื่อเห็นชอบร่วมกันแล้วจึงจะส่งรายงานฯ ให้ สผ. และคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ พิจารณาทางด้านเทคนิคอีกครั้ง
นอกจากนี้ หากยังต้องการให้มีขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในภาพรวมของพื้นที่ตามขั้นตอนของ ค.1 (รับฟังข้อห่วงใยของประชาชน) - ค.3 (รับฟังร่างรายงานฯ) อีก ก็ควรมอบหมายให้ภาครัฐดำเนินการ ไม่ใช่ปล่อยให้การจัดรับฟังความคิดเห็นเพียงเป็นแค่การจัดพิธีกรรมเพื่อให้ครบขั้นตอนตามกฎหมายเหมือนทุกวันนี้
รวมทั้งควรยกเลิกขั้นตอน ง. (รับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานอนุญาตก่อนออกใบอนุญาต) เพราะที่ผ่านมา ประชาชนจะต้องเข้าไปร่วมกระบวนการไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง ซึ่งรวมถึงการรับฟังความคิดเห็นขององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ กอสส.อีกด้วย
สำหรับการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล เช่น แผนพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง แผนพัฒนาด้านพลังงาน แผนพัฒนาพื้นที่เพื่อการค้าหรืออุตสาหกรรม เป็นต้น มีความเห็นว่า ภาครัฐควรทำการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ หรือเรียกว่า SEA คือStrategic Environmental Assessment โดยให้ตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่ และนักวิชาการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำ และพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อประเภทโครงการที่จะเกิดชึ้น ที่ตั้งของโครงการ
รวมทั้งมาตรการในการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เริ่มต้นศึกษาเช่นกัน ก่อนจะมาเป็นแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านต่างๆ ของประเทศ ที่ผ่านมา ประเทศไทยคิดโครงการเองโดยภาครัฐที่จ้างบริษัทที่ปรึกษามาออกแบบให้ โดยที่ไม่ได้ถามความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ก่อน เมื่อนำโครงการไปลงพื้นที่จึงทำให้ความขัดแย้ง และเกิดการต่อต้านเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในหลายโครงการในขณะนี้