ไฟเขียวขยายท่าเรือภูเก็ต รองรับ “เรือสำราญขนาดใหญ่” เล็งเลือก “กระบี่ หรือ สมุย” สร้างเพิ่มอีกจุด หาข้อสรุปให้เสร็จภายในสิ้นเดือนกันยายนปีนี้ เผย “ท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต” ไม่มีปัญหา หลังผ่าน EIA แล้วตั้งแต่ปี 57 คาดรองรับมหกรรมเรือยอชต์โชว์ ปลายปีนี้
วันนี้ (28 ก.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแนวทางการพัฒนาท่าเทียบเรือสำราญ หรือท่าเทียบเรือโดยสารขนาดใหญ่ (Cruise) เพื่อพัฒนาเป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ตามที่กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เสนอ โดยกำหนดให้ทำ action plan ต่อไป
ทั้งนี้ “กรมเจ้าท่า” รายงานข้อมูลว่า ท่าเทียบเรือยอชต์ในประเทศไทย ปัจจุบันมีทั้งหมด 11 แห่ง อยู่ในอันดามัน 6 แห่ง อาทิ ภูเก็ต กระบี่ และอ่าวไทย 5 แห่ง อาทิ ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งรวมแล้วสามารถรองรับเรือยอชต์ได้ 2 พันลำ ขณะที่การกินน้ำลึกอยู่ที่ประมาณ 2 - 5 เมตร มีส่วนน้อยที่รองรับได้ประมาณ 8 - 10 เมตร จึงถือว่ายังไม่มีศักยภาพเพียงพอจะเป็นศูนย์กลางของท่าเรือยอชต์ในภูมิภาคได้
กรมเจ้าท่า รายงานว่า ได้สำรวจด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรมสิ่งแวดล้อมเพื่อการก่อสร้างด้วยว่า การพัฒนาท่าเรือยอชต์ สามารถทำได้ถึง 33 พื้นที่ในประเทศ ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน แบ่งเป็นฝั่งอ่าวไทย 22 แห่ง ตั้งแต่ สมุทรปราการ ชลบุรี จันทบุรี ตราด สงขลา ปัตตานี เป็นต้น และฝั่งอันดามัน 11 แห่ง อาทิ ระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง สตูล
“ซึ่งระหว่างนี้กรมเจ้าท่ากำลังอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ 33 แห่ง รวมทั้งความเห็นจากแต่ละภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ ว่า จะมีแนวความคิดเพิ่มเติมอย่างไร ตลอดจนการเตรียมปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกต่อเรือยอร์ชที่จะเข้ามาในประเทศไทย หากได้มีการดำเนินการจริง”
ส่วนกรณีของเรือ Cruise นั้น ปัจจุบันประเทศไทยมีท่าเรือยอชต์ 3 แห่งใหญ่ คือ ท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ซึ่งทั้ง 3 ท่าเรือนี้เป็นท่าเทียบเรือสินค้า ไม่ใช่ท่าเทียบเรือโดยสารสำหรับการท่องเที่ยวเป็นการเฉพาะ
“ปกติท่าเทียบเรือทั้ง 3 แห่งนั้น ที่ภูเก็ตรองรับเรือที่กินน้ำลึกได้ 8 เมตร แต่ยังไม่ได้มาตรฐาน เพราะเรือ Cruise ส่วนใหญ่กินน้ำลึก 9 - 12 เมตร ดังนั้น ในช่วงนี้กรมธนารักษ์จะต้องประสานกับผู้ที่ได้สัมปทานอยู่ว่าจะทำต่อ หรือหาผู้ประกอบการรายใหม่ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ หรือจะลงทุนร่วมกันแบบ PPP หรือจะดำเนินการโดยภาครัฐ ในเรื่องนี้กำลังหาข้อสรุป”
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า ไทยมีความเหมาะสมที่จะดำเนินการขยายท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต เพื่อรองรับกับการเป็นท่าเทียบเรือ Cruise เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในเส้นทางเดินเรือท่องเที่ยวของเรือ Cruise ในภูมิภาค คือ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และฮ่องกง ซึ่งท่าเรือน้ำลึกที่ภูเก็ตได้มีการผ่าน EIA ไปแล้วตั้งแต่ปี 57 ดังนั้น จะมีการพัฒนาต่อ ขณะเดียวกัน ยังมีพื้นที่น่าสนใจอีก 2 แห่ง คือ จ.กระบี่ และเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งนายกรัฐมนตรี ย้ำว่าใน 2 จุดที่จะพัฒนาใหม่นี้จะต้องมีความชัดเจนภายในสิ้น ก.ย. ปีนี้ ว่า ที่ใดเหมาะสมกว่ากัน
“กรณีท่าเรือ Cruise นั้น ต้องหารายละเอียดว่าท่าเรือน้ำลึกที่ภูเก็ตจะเป็นเจ้าเดิมดำเนินการต่อ หรือเจ้าใหม่ แต่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับสูงสุด นอกจากนั้น จะต้องมีข้อยุติว่าพื้นที่ที่จะพัฒนาแห่งใหม่ระหว่างกระบี่กับเกาะสมุยที่ไหนเหมาะสมกว่ากัน โดยจะต้องพิจารณาในเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบของการเป็นท่าเรือ Cruise คือ สิ่งอำนวยความสะดวก ทัศนียภาพของท่าเทียบเรือ อาคารรองรับ การตรวจคนเข้าเมือง ร้านค้า สถานบริการ รวมทั้งสนามบิน ซึ่งทั้งหมดต้องมีข้อยุติภายในปี 58” พล.ต.สรรเสริญ กล่าวในที่สุด
มีรายงานว่า ช่วงเดือน พ.ย. นี้ กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะเป็นเจ้าภาพร่วมกันในการจัดงาน มหกรรมเรือยอชต์ หรือ ยอชต์โชว์ คล้ายกับงานมอเตอร์โชว์รถ เพื่อเปิดให้ผู้ประกอบการนำเรือยอชต์รุ่นใหม่ และซูเปอร์เรือยอชต์ เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเรือหรูของไทย ใน จ.ภูเก็ต