โครงการพัฒนาขนาดใหญ่กับการคัดค้านของประชาชนชาวบ้านในพื้นที่ดูเหมือนจะเป็นของคู่กันในสังคมไทย ไม่ว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ท่าเรือน้ำลึก การขุดทำเหมืองแร่ โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ใดชาวบ้านเข้มแข็งก็หยุดโครงการได้ ที่ใดชุมชนอ่อนแอก็สร้างสำเร็จบนความเจ็บปวดแตกแยกและทุกข์ทนจำใจยอมรับสภาพยังคงอยู่ชุมชนการคัดค้านและความแตกแยกส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากกระบวนการมีส่วนร่วมที่ทำเป็นพียงพิธีกรรม โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เป็นอีกโครงการหนึ่งที่กำลังสะท้อนความล้มเหลวในการสยบการคัคด้านเพราะความไม่จริง ใจ
ในกระบวนการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) นั้น ได้ออกแบบให้มีการรับฟังความคิดเห็นไว้ 3 ขั้นตอน คือ การรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 หรือ ค.1 เพื่อเป็นเวทีใหญ่ในการรับฟังข้อห่วงใยจากชุมชน ค.2 เพื่อเป็นเวทีย่อยในการรับฟังความเห็นเฉพาะกลุ่ม แล้วนำไปประมวลเพื่อศึกษาผลกระทบและการป้องกันจนการทำรายงาน EHIA เสร็จสิ้น จึงจัดเวที ค.3 เพื่อแจ้งแนวทางทั้งหมดแก่ชุมชนและรับฟังเสียงสะท้อนจากชุมชนเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งฟังดูแล้วขั้นตอนเหล่านี้ก็ดูมีสีสกุล มีส่วนร่วมและมีความสมเหตุสมผล แต่ในความเป็นจริงกลับหาได้เป็นเช่นนั้นไม่
เวที ค.1 ที่ผ่านมา ได้กลายเป็นเวทีการแจ้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลมากกว่าการรับฟังความคิดเห็น ถ้าจะให้เวที ค.1 เป็นการรับฟังความเห็นจริง ๆ ก็ต้องแยกเวทีการให้ข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจต่อโครงการไว้อีกเวทีหรือที่ชาวบ้านเรียกร้องกันว่าให้มีเวที ค.0 เพื่อให้ข้อมูลซักถามตอบคำถามเบื้องต้นกันก่อน ให้เวลาชาวบ้านอีก 1 เดือนเพื่อศึกษาข้อมูลแล้วจึงจัดเวที ค.1 แต่ทั้งนี้ก็ต้องไม่มีการกระทำที่ใกล้เคียงกับการซื้อเสียงด้วยการลดแลกแจกแถมเช่นการแจกข้าวสารแก่ผู้มาร่วมเวทีอย่างที่เกิดขึ้นกับกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
เวที ค.2 นั้นเป็นการรับฟังความเห็นเฉพาะกลุ่ม ซึ่งมีความสำคัญมากในการสร้างความเข้าใจ ความปรองดอง การลดความกังวลของกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ แต่กลับปรากฏว่า การทำเวที ค.2 ของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพากลับไม่มีการเปิดวงเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มคัดค้านหรือกลุ่มที่เห็นต่างที่ได้รับผลกระทบตรง ๆ แม้แต่เวทีเดียว เกือบทั้งหมดเป็นการเปิดเวทีในกลุ่มที่จัดตั้งไว้แล้ว หรือในกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบรุนแรง นับเป็นการเสียโอกาสอย่างมากต่อการทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่คัดค้านด้วยเหตุด้วยผล จนทำให้ชาวบ้านยิ่งเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะก่อมลพิษมหาศาลทิ้งไว้ในชุมชนอย่างแน่นอน จึงไม่กล้ามาสู้หน้าหรือถกกันด้วยเหตุผล
เวที ค.3 ที่จะจัดขึ้นที่เทพาในช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ ก็เป็นอีกขั้นตอนที่ถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรม เพราะเป็นการจัดอย่างเร่งรีบ การศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพนับจากเวที ค.1 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2557 ถึงเวที ค.3 เป็นระยะเวลาการศึกษาเพียง 9 เดือน ยังไม่ครบหนึ่งปีตามมาตรฐานการศึกษาผลกระทบที่ต้องศึกษาให้ครบปีเพื่อให้ครบทุกฤดูกาลเลย อีกทั้งลักษณะการจัดเวทีก็เป็นเวทีการให้ข้อมูลเชิงประชาสัมพันธ์สั้น ๆ แล้ว เปิดรับฟังความเห็นเหมือนเวที ค.1 ซึ่งจะไม่ได้อะไร ไม่ได้สร้างให้เกิดความเข้าใจหรือลดความกังวล ลดการคัดค้านลงได้ เป็นได้เพียงการได้ทำเวทีเพื่อให้ครบกระบวนการเท่านั้น
การนำเอาข้อมูลวิชาการยาก ๆ โมเดลการทำนายผลกระทบด้วยคณิตศาสตร์ชั้นสูง การศึกษาทางวิชาการระดับดอกเตอร์แล้วมาบอกชาวบ้านในพื้นที่เพียงแค่ว่าศึกษาดีแล้ว รอบคอบแล้ว มีผลกระทบน้อยมากนั้น ไม่ได้ช่วยสร้างความเข้าใจแต่อย่างใด เพราะเมื่อฟังไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจในสมการ จึงต้องอาศัยความเชื่อใจเชื่อในความตรงไปตรงมาทางวิชาการเท่านั้น แต่จะเชื่อได้หรือเพราะการศึกษานี้ก็มีบริษัทผู้ทำโครงการเป็นผู้ว่าจ้าง ศึกษามาอะไรต่อมิอะไรก็ไม่มีผลกระทบ จะกี่การศึกษาก็มีผลกระทบในระดับต่ำถึงต่ำมาก ดังนั้น เวที ค.3 จึงสูญเปล่าและเสียของ
ดังนั้นการจัดเวที ค.3 ที่ควรจะเป็นคือ ต้องมีการจัดเวที ค.2.9 ก่อนเพื่อตรวจสอบผลการศึกษาโดยนักวิชาการที่เป็นกลาง หรือนักวิชาการที่แสดงความเห็นต่างหรือตั้งคำถามกับโครงการ เสมือนเป็นการสอบวิทยานิพนธ์ที่ให้นักวิชาการฝ่ายผู้ทำการศึกษา EHIA มารายงานผลและเปิดโอกาสให้มีการซักถามตรวจสอบผลการศึกษาไปทีละประเด็น โดยเป็นเวทีวิชาการแบบแลกเปลี่ยนกันไม่ใช่เวทีที่จัดให้พูดแสดงความเห็นคนละ 3 นาทีดังเช่นเวที ค.3 ที่มีแต่การรับฟัง แต่ไม่มีการตอบคำถามหรือการให้ซักถามตรวจสอบที่ไปที่มาของการคำนวณหรือผลการศึกษาได้ หากตอบได้สอบผ่านก็ค่อยจัดเวที ค.3 เพื่อการรับฟังความเห็นเป็นครั้งสุดท้าย หากสอบไม่ผ่านก็เป็นจรรยาบรรณของนักวิชาการในการนำกับไปศึกษาใหม่ หรือไม่ก็ต้องระบุลงไปในรายงานชัดๆลงไปว่า มีผลกระทบสูงต่อชุมชนจนยากที่จะแก้ไขได้ การทำเวที ค.3 เพียงให้ผ่านๆไปโดยไม่ตอบคำถามคาใจอย่างมีเหตุผลก่อนการก่อสร้าง จะนำมาสู่บาดแผลแห่งความขัดแย้งที่ยากจะเยียวยาในอนาคต
กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กฟผ. กล้าไหมที่จะจัดเวที ค. 2.9 ก่อนเวที ค.3 เพื่อให้มีการตรวจสอบทางวิชาการกันก่อน เพื่อลบล้างความไม่เชื่อมั่นของชาวบ้านที่ว่า “ผลการศึกษานั้นยังอาจมั่วนิ่มหรือศึกษาพอเป็นพิธีให้ผ่าน ๆ เท่านั้น” ด้วยความมุ่งหวังให้รีบอนุมัติในยุคที่ คสช. มีกฎอัยการศึก และ ม.44 อยู่ในมือ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่