ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - โยธาธิการและผังเมือง จ.สงขลา เปิดเวทีกรณีพิเศษที่ อ.จะนะ รับฟังความคิดเห็นประชาชนในการจัดการทำผังเมืองรวม จ.สงขลา ชาวบ้าน และเครือข่ายรักษ์จะนะ แสดงจุดยืนกำหนดผังเมืองเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่สอดคล้องต่อฐานทรัพยากร และภูมิปัญญาของชุมชน เพื่อความสุขอย่างยั่งยืน โยธาฯสงขลาเผย หากผังเมืองประกาศใช้ตามพระราชกำหนด ระบุชัดไม่อนุญาตให้สร้างท่าเรือน้ำลึก แนะชาวบ้านจับตาหากรัฐบาลเดินหน้าต้องถอนกฎกระทรวง
วันนี้ (26 ส.ค.) ที่หอประชุมอำเภอจะนะ จ.สงขลา สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลา เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับการวางแผนและจัดการทำผังเมืองรวม จ.สงขลา โดยมี นายพิชัย อุทัยเชฎฐ์ โยธาธิการและผังเมือง จ.สงขลา กล่าวเปิดเวที และทักทายประชาชนที่มาร่วม และได้มอบหมายให้ นางฐาปณี รสสุคนธ์ นักผังเมืองชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการผังเมือง ชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา ซึ่งได้มีการจัดเวทีย่อยมาแล้ว 3 ครั้ง ครอบคลุม 16 อำเภอสงขลา และครั้งนี้ที่ อ.จะนะ นับเป็นการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นกรณีพิเศษ เพื่อนำความคิดเห็น และข้อเสนอของประชาชนไปประกอบการพิจารณาต่อคณะกรรมการผังเมืองเพื่อประกาศใช้ต่อไป
นางฐาปนีย์ รสสุคนธ์ นักผังเมืองชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการผังเมือง ได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาให้แก่ประชาชนที่มาร่วมรับฟังว่า ผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา เป็นนโยบายและมาตรการที่จะประกาศเป็นกฎหมายใช้สนับสนุน และควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทั้งของภาครัฐ และเอกชน โดยครอบคลุมการใช้ประโยชน์ด้านคมนาคมและขนส่ง สาธารณูปโภค และการบริการสาธารณะในท้องที่ จ.สงขลา เพื่อให้การขยายตัวของเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อย น่าอยู่อาศัย สอดคล้องต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคม และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่
ซึ่งร่างผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาแบ่งพื้นที่ต่างๆ ทั่วทั้งจังหวัดออกเป็น 4 ประเภท คือ 1.พื้นที่สีชมพู (ตามภาพ) หมายถึงที่ดินประเภทชุมชน อนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย พาณิชยกรรม เกษตรกรรม สถาบันราชการ สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา หรือประกอบกิจกรรมอื่นได้ในอาคารที่ไม่อาคารสูงเกิน 23 เมตร เป็นต้น พื้นที่สีชมพู มีทั้งสิ้น 17 บริเวณ ได้แก่ เขตผังเมืองรวมตามกฎหมาย 9 แห่ง คือ 1) ผังเมืองรวมท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2) ผังเมืองรวมสงขลา 3) ผังเมืองรวมหาดใหญ่ 4) ผังเมืองรวมสะเดา 5) ผังเมืองรวมพะตง-พังลา 6) ผังเมืองระโนด 7) ผังเมืองรวมกำแพงเพชร-นาสีทอง 8) ผังเมืองรวมปาดังเบซาร์ 9) ผังเมืองรวมบ้านประกอบ ซึ่งก็ได้มีข้อห้ามที่ไม่อนุญาตให้ดำเนินการหลายอย่าง อย่างเช่นโรงงานที่มีความเสี่ยงสูง 12 ประเภท และโรงงาน หรืออุตสาหกรรมที่เป็นวัตถุอันตราย เป็นต้น
พื้นที่ที่ 2 สีเขียว คือ พื้นที่ประเภทชนบทและเกษตรกรรม ใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร ที่อยู่อาศัย พาณิชกรรม สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สถานที่ราชการ หรือเพื่อกิจการอื่นที่ไม่ใช้อาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่ พื้นที่ที่ 3 สีเขียวอ่อนมีเส้นทแยงสีขาว คือพื้นที่ประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการสงวนและคุ้มครอง และพื้นที่ที่ 4 สีฟ้า คือ พื้นที่ประเภทที่โล่งเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม อนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือเกี่ยวข้องกับการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ท่าเรือ การประมง ได้แก่พื้นที่บริเวณทะเลสาบสงขลา และริมชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ยกเว้นชายฝั่งทะเล อ.จะนะ ให้ใช้ประโยชน์ในลักษณะเดียวกัน แต่ไม่อนุญาตให้สร้างท่าเรือ
จากนั้นจึงมีการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น และถามข้อสงสัย คำถามแรกชาวบ้านถามเรื่องการทำผังเมืองครั้งนี้จะมีการประกาศเมื่อไหร่
นางฐาปณี ตอบว่า ตามขั้นตอนที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้นั้นยังอยู่ในขั้นตอนที่ 4 จาก 18 ขั้นตอน และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และได้นำข้อมูลที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นจากพื้นที่อื่นๆ มาติประกาศในครั้งแรก 15 วัน และวันนี้ที่ อ.จะนะ เป็นพื้นที่ที่จัดขึ้นเป็นกรณีพิเศษ โดยการนำข้อมูลที่ได้มาชี้แจง และหลังจากนี้ก็จะนำเข้าสู่กระบวนการคณะกรรมการผังเมืองพิจารณา และจะมีการปิดประกาศ อีก 90 วัน เพื่อให้ประชาชนได้มาตรวจสอบว่า ต้องการหรือไม่ต้องการอะไรในพื้นที่ ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วยในระหว่างนี้สามารถยื่นคำร้องได้เลย
ส่วนข้อกังวลต่อเรื่องท่าเรือน้ำลึก ที่บ้านสวนกงนั้น ก็ได้รับคำตอบจากทางผังเมืองจังหวัดว่า เรื่องท่าเรือน้ำลึกเป็นเรื่องที่เกินศักยภาพของโยธาฯ ระดับจังหวัด เพราะมันเป็นเรื่องระดับชาติ แต่รับปากว่าจะเป็นตัวแทนของประชาชนที่นี่ ชี้นำให้กรรมการได้เห็นว่า อ.จะนะ มีทรัพยากร และธรรมชาติที่สมบูรณ์มากๆ ไม่ควรจะมีท่าเรือน้ำลึกเกิดขึ้น แต่เรื่องจะโดนบล็อกกับโยธาฯ ระดับชาติหรือไม่นั้น ไม่สามารถตอบได้
นายพิชัย อุทัยเชฎฐ์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลา กล่าวเสริมเรื่องนี้ว่า อยากฝากให้คนพื้นที่ อ.จะนะ ดูแลพื้นที่และเฝ้าจับตามองเรื่องท่าเรือน้ำลึกกันให้ดี แต่ถ้าหากผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาครั้งนี้ผ่านกฎกระทรวง รัฐบาลก็จะไม่สาสมารถสั่งดำเนินการเรื่องท่าเรือน้ำลึกได้ นอกจากจะถอนกฎกระทรวงออกเท่านั้น
นายกิตติภาพ สุทธิสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้นำเสนอให้ชม สารคดี “ความมั่นคงของทรัพยากรจะนะ ศักยภาพจะนะ” ซึ่งประกอบด้วย พื้นที่ นา และทะเล ที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งอาหารให้แก่ทั้งคนต่างถิ่น และต่างแดน จะนะมีคลอง 2 คลองที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ และได้มีงานวิจัยกรมควบคุมโรคที่ 12 สงขลา เรื่องโครงการพัฒนารูปแบบการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษอากาศ ซึ่งปรากฏว่า จะนะมีโรงงาน 177 โรงงาน ในปี 2555 อากาศเริ่มมีผลต่อสุขภาพของประชาชนแล้ว เริ่มมีความสัมพันธ์ต่อปริมาณมลพิษทางอากาศ เริ่มมีการเจ็บป่วย วันนี้จึงเป็นเหตุผลว่า คนจะนะ ต้องกำหนดผังเมืองของจะนะ ว่าต้องการอย่างไร
และมีประชาชนอีกหลายคนร่วมกันแสดงความคิดเห็น และได้อธิบายถึงความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ของตนเอง ทั้งในส่วนของพื้นที่ทะเล และพื้นที่นา ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สามารถหล่อเลี้ยงคนได้ทั้งประเทศ
ช่วงสุดท้าย เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้สรุปเวทีการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ว่า การรับฟังความคิดเห็นของกรมโยธาธิการเกี่ยวกับการวางผังเมือง และจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา จึงเป็นบทบาทหน้าที่สำคัญของคนจะนะ ที่ตระหนักถึงความเป็นอยู่ของทรัพยากร สิ่งแวดล้อม คน และสุขภาพ ชาวจะนะ ขอแสดงจุดยืนร่วมกัน และร่วมกำหนดให้ผังเมืองรวมจังหวัดโดยกำหนดพื้นที่ดังนี้ เขตสีชมพู ที่ดินประเภทชุมชนเป็นที่อยู่อาศัย เขตสีเขียว ที่ดินประเภทชนบท และเกษตรกรรม เขตสีเขียนอ่อน มีเส้นทแยงขาวที่ดินประเภทอนุรักษ์ และเขตสีฟ้า ที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และทำหนังสือกำหนดประเภทอุตสาหกรรม 12 ประเภท และ107 ประเภทที่กระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นและประชาชนชาวจะนะลุกขึ้นมากำหนดผังเมืองเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่สอดคล้องต่อฐานทรัพยากรและภูมิปัญญาของชุมชน เพื่อความสุขอย่างยั่งยืน และเพื่อการเป็นอำเภอจัดการตนเองต่อไป