ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ทุกภาคส่วนรับลูกผู้ว่าฯ สงขลา เดินหน้าจัดระเบียบเครื่องมือประมงขวางการขุดลอกร่องน้ำทะเลสาบสงขลา มั่นใจครั้งนี้เอาจริง พร้อมเตรียมรื้อถอนโพงพางกลางทะเล เหตุสร้างปัญหาต่อระบบนิเว ทัพเรือเผยเคยขับเรือชนโพงพางจนถูกชาวบ้านฟ้องร้องมาแล้วหลายครั้ง
วันนี้ (19 ส.ค.) ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสงขลา นายธำรงค์ เจริญกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการจัดระเบียบเครื่องมือบริเวณร่องน้ำทะเลสาบสงขลา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมหารือแนวทางการกำหนดแนวเขตร่องน้ำ และจัดระเบียบเครื่องมือในทะเลสาบสงขลา โดยมีคณะกรรมการดำเนินการจัดระเบียบเครื่องมือประมง ตามประกาศจังหวัดสงขลาทั้ง 8 กลุ่มคณะกรรมการ กว่า 100 คน เข้าร่วมประชุม
นายธำรงค์ เจริญกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ทะเลสาบสงขลาอยู่ในสภาพใกล้ตาย เพราะมีปัญหารุมเร้ามานาน ทั้งความตื้นเขิน และการทำประมงด้วยเครื่องมือประมงต่างๆ ที่เกินกำลังที่ทะเลสาบจะรับได้ ปัญหามีมายาวนานมาก จึงต้องเร่งหาแนวทางแก้ไขบนพื้นฐานความแก้ปัญหาบนพื้นฐานผู้ประกอบอาชีพประมงอยู่ได้ ในขณะที่ทะเลสาบก็ได้มีโอกาสฟื้นตัว ทุกคนต้องร่วมมือกัน เพราะคนสงขลา ล้านกว่าคนเป็นเจ้าของทะเลสาบสงขลาร่วมกัน อันดับแรกของการแก้ปัญหาคือ ต้องทำถนนให้ปลา กุ้ง เดิน ด้วยการขุดลอกร่องน้ำธรรมชาติในทะเลสาบ ซึ่งมั่นใจว่าหากทำได้สำเร็จ จะเกิดการพลิกฟื้นทะเลสาบสงขลาครั้งใหญ่
จากข้อมูลการทำประมงในทะเลสาบสงขลา ปัจจุบันพบว่า จากปากน้ำหัวพญานาค อ.เมืองสงขลา ถึงบริเวณปากรอ อ.สิงหนคร มีโพงพางมี 101 แถว 1,500 กว่าช่อง มีไซนั่ง 25,000 ลูก จังหวัดกำหนดดำเนินการจัดระเบียบเครื่องมือประมง และดำเนินการขุดลอดร่องน้ำเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 จากปากน้ำหัวพญานาค ถึงท่าเรือประมงใหม่ ระยะที่ 2 จากท่าเรือประมงใหม่ ถึงสะพานติณลาสูลานนท์ ซึ่งแยกร่องน้ำเป็น 2 เส้นทาง และระยะที่ 3 จากสะพานติณสูลานนท์ ถึงปากรอ ขุดลอก 2 ร่องน้ำไปบรรจบกันที่ปากรอ ระยะเร่งด่วน คือ ระยะที่ 1 จากปากน้ำหัวพญานาค ถึงท่าเรือประมงใหม่ รวมระยะทาง 5 กิโลเมตร
กำหนดขุดลอกร่องน้ำความกว้าง 200 เมตร พบว่า มีโพงพางมีเขตร่องน้ำที่กำหนด 22 แถว รวม 191 ช่อง ซึ่งขณะนี้ได้ปิดประกาศพร้อมป้ายสีแดงไว้ เพื่อให้เจ้าของโพงพางไปแจ้งต่อแกนนำกลุ่ม เพื่อส่งรายชื่อเจ้าของโพงพางทั้งหมดให้จังหวัดภายในวันที่ 21 ส.ค. นี้ เพื่อจังหวัดจะได้เป็นข้อมูลในการเยียวยาเจ้าของโพงพางตามความเหมาะสมต่อไป ซึ่งขณะนี้จังหวัดมีงบประมาณจากกรมพัฒนาชุมชนแล้ว กว่า 6 ล้านบาท ที่จะให้ช่วยเหลือ ให้ความรู้ในเรื่องการประกอบอาชีพใหม่แก่ผู้ได้รับผลกระทบ เช่น การเลี้ยงปลาในกระชัง
ด้าน นายประพร เอกอุรุ นายกสมาคมประมงจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ที่ผ่านมาจากสภาพร่องน้ำที่มีโพงพางเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถเดินเรือขนส่งได้โดยเฉพาะการขนส่งสัตว์น้ำทะเลที่สั่งซื้อมาจากต่างประเทศเพื่อป้อนโรงงานสัตว์ในพื้นที่จังหวัด ผู้ประกอบการโรงงานต่างได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากต้องฝากสัตว์น้ำทะเลที่ซื้อมาจากต่างประเทศ ไปขึ้นที่ท่าเรือน้ำลึกสงขลา ซึ่งมีความแออัด และต้องใช้เวลารอคิวนานหลายวันกว่าจะได้นำสัตว์น้ำทะเลขึ้นสู่ท่าเรือและส่งต่อไปยังโรงงาน
หากสามารถขุดลอกร่องน้ำทะเลสาบสงขลาได้สำเร็จ เรือขนส่งสัตว์น้ำทะเลดังกล่าวก็จะสามารถมาขึ้นท่าที่ท่าเรือประมงใหม่สงขลาได้ จะลดความแออัด และลดความใช้จ่ายได้มาก ดังนั้น โครงการรื้อถอนโพงพาง ในเขตร่องน้ำระยะที่ 1 ของจังหวัดสงขลาในครั้งนี้ ผู้ประกอบการประมงและผู้ประกอบการแปรรูปอาหารทะเลในจังหวัดสงขลายินดีสนับสนุนอย่างเต็มที่
ด้านผู้แทนทัพเรือภาคที่ 2 กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทัพเรือภาคที่ 2 ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาโพงพางมายาวนาน เพราะฐานทัพเรือซึ่งเป็นที่จอดเรือรบ มีปัญหาในการเข้าออกมาโดยตลอด เช่น เรือรบไปชนโพงพาง และเจ้าของโพงพางฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายอยู่บ่อยๆ ทัพเรือภาคที่ 2 จึงยินดีให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหานี้ต่อทางจังหวัด โดยเฉพาะการรื้อถอนโพงพาง ทัพเรือภาคที่ 2 มีความพร้อม และรื้อถอนได้ทันที
สำหรับการดำเนินขุดลอกร่องน้ำระยะที่ 1 จากปากน้ำหัวพญานาค ถึงท่าเรือประมงใหม่ ซึ่งเป็นการขุดลอกร่องน้ำความกว้าง 200 เมตร ระยะทาง 5 กิโลเมตร ในขณะนี้กรมเจ้าท่าได้ดำเนินการขุดลอกไปแล้ว 80% อีก 20% ยังติดขัดในปัญหาโพงพาง ซึ่งหากแก้ไขปัญหาโพงพางได้สำเร็จ และสามารถรื้อถอนออกจากแนวเขตร่องน้ำที่กำหนดได้ กรมเจ้าท่าก็จะสามารถขุดลอดร่องน้ำได้แล้วเสร็จในอีก 2-3 เดือนนี้ สำหรับการขุดลอกในระยะที่ 2 จากท่าเรือประมงใหม่ ถึงสะพานติณสูลานนท์ ซึ่งแยกร่องน้ำเป็น 2 เส้นนั้น อยู่ในระหว่างการสำรวจเพื่อขอรับงบประมาณในการดำเนินการขุดลอกในระยะต่อไป
เป็นที่น่าสังเกตว่า เพื่อจัดระเบียบเครื่องมือประมงบริเวณร่องน้ำทะเลสาบสงขลาในครั้งนี้ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่างรู้สึกสบายใจที่ได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน และมั่นใจในการเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาโพงพาง และมั่นใจว่าการแก้ปัญหาโพงพางในร่องน้ำทะเลสาบสงขลาที่เรื้อรังมาหลาย 10 ปี ภายใต้การนำของ นายธำรงค์ เจริญกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในครั้งนี้ จะสามารถดำเนินการได้สำเร็จอย่างแน่นอน