xs
xsm
sm
md
lg

ทลฉ.เปิดงาน APS ยิ่งใหญ่ 10 ประเทศอาเซียนร่วมปักธงพัฒนาระบบลอจิสติกส์(ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ท่าเรือแหลมฉบัง จัดงาน “Asean Port Symposium 2014” รับผู้นำท่าเรือ 10 ประเทศ ยกระดับการบริหารท่าเรือสู่การแข่งขันระดับสากล ผนึกกำลังบูรณาการการขนส่งสินค้าทางทะเล รับการเข้าสู่เออีซี



เมื่อเวลา 19.00 น. วันนี้ (23 ก.ค.) ท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี จัดงาน “Asean Port Symposium 2014” ที่ห้องแกรนด์บอลลูม โรงแรมรอยัล คริฟ บีซ พัทยา มีผู้นำท่าเรือใน 10 ประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขนส่งสินค้าทางน้ำเข้าร่วม โดย ดร.จุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมเจ้าท่า แสดงปาฐกถาในหัวข้อภาพรวมการขนส่งของไทย

ร.อ.สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง เปิดเผยว่า ท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือน้ำลึกเพื่อการพาณิชย์ในระดับสากล มีบทบาทในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ ภายใต้การกำกับดูแลของการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยท่าเรือแหลมฉบัง ได้เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนพัฒนาบริหาร และประกอบการท่าเทียบเรือ

ตลอดระยะเวลา 23 ปีที่ผ่านมา ท่าเรือแหลมฉบัง ประสบความสำเร็จในการสร้างประโยชน์ ทั้งทางตรง และทางอ้อมให้แก่ประเทศไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งในโอกาสที่ประเทศไทยและประเทศสมาชิกรวม 10 ประเทศ กำลังจะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economics Community : AEC) ท่าเรือแหลมฉบัง มีแนวความคิดที่จะสร้างความเข้มแข็ง และพัฒนาสัมพันธภาพเพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจของท่าเรือต่างๆ ในกลุ่มประเทศเออีซี จึงได้จัดงานสัมมนาท่าเรืออาเซียนขึ้น ภายใต้ชื่องาน “ASEAN PORT SYMPOSIUM 2014” โดยมีผู้บริหารท่าเทียบเรือในกลุ่มประเทศสมาชิก 10 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน ลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า และผู้ประกอบการท่าเทียบเรือเอกชน ผู้บริหารการท่าเรือแห่งประเทศไทย และท่าเรือแหลมฉบัง หน่วยงานภาครัฐเข้าร่วม

“เมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่เออีซีในปี 2558 รัฐบาลต้องมองภาพการบริหารประเทศที่ใหญ่ขึ้นจากการรวมตัวกันของประเทศสมาชิก จึงเป็นนิมิตหมายอันดี เพราะทำให้ประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิก สามารถสร้างอำนาจต่อรองกับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าได้ ขณะเดียวกัน ก็จะทำให้สมาชิกอาเซียนพึ่งพาทรัพยากรทางเศรษฐกิจร่วมกันได้ ส่งผลให้เกิดการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง และยังนำไปสู่การสร้างโอกาสการค้ากับกลุ่มคู่ค้าสำคัญ เช่น จีน เกาหลี อินเดีย สหภาพยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา”

ร.อ.สุทธินันท์ กล่าวถึงสภาพการแข่งขันทางการค้าของไทย หลังเข้าสู่ยุคการค้าแบบไร้พรมแดนว่า เศรษฐกิจ และการค้าของไทยได้ผูกติดกับระบบเศรษฐกิจการค้าโลกอย่างสิ้นเชิง และเป็นไปได้ว่า สภาพการแข่งขันทางธุรกิจจะถูกกดดันจากทุกทิศทาง ผู้ประกอบการทุกภาคส่วนต้องเร่งปรับตัว และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาระบบ “ลอจิสติกส์” เพราะปัจจุบันต้นทุนด้านลอจิสติกส์ไทยสูงกว่าหลายประเทศในอาเซียน จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนา และเสริมสร้างระบบการค้าโดยรวมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้มีศักยภาพแข่งขันในยุคของกระแสโลกาภิวัตน์

ซึ่งท่าเรือจึงนับเป็นจุดเชื่อมต่อหลักในการเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจของประเทศ เข้ากับตลาดต่างประเทศ และเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญของประเทศ ทั้งนี้ สิงคโปร์ และมาเลเซีย นับเป็นประเทศที่มีศักยภาพในด้านนี้ ขณะที่กัมพูชา และพม่า ไม่มีสายการเดินเรือหลักของโลกเข้าไปให้บริการโดยตรง ส่วนลาว เป็นประเทศไม่มีทางออกสู่ทะเล สาเหตุที่ 2 ประเทศดังกล่าวไม่มีสายการเดินเรือหลักของโลกเข้าไปให้บริการ เป็นผลมาจากปริมาณสินค้าที่ขนส่งโดยตู้คอนเทนเนอร์ค่อนข้างต่ำ หากเปรียบเทียบกับปริมาณของประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สูงกว่า

นอกจากนั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่ (ยกเว้นลาว) จะมีเรือสินค้าขนาดเล็ก ทำหน้าที่รับช่วงส่งสินค้าระหว่งจุด (shuttle feeder) เข้าเทียบท่าเพื่อขนส่งสินค้าไปรวบรวมยังศูนย์กลางท่าเรือของภูมิภาค ได้แก่ สิงคโปร์ และฮ่องกง ทั้งนี้ กลุ่มอาเซียนมีระบบเครือข่ายการขนส่งทางเรือที่มีรูปแบบค่อนข้างซับซ้อน เนื่องจากท่าเรือแต่ละแห่งจะถูกเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน ทั้งในลักษณะแบบ Hub-feeder และในลักษณะแบบ end-to-end ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่พึ่งพากันระหว่างระบบเศรษฐกิจระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ซึ่งความเชื่อมโยงด้านการขนส่งทางทะเลภายในกลุ่มอาเซียน จึงนับว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างกันในระดับดี และมีความพร้อมในการรองรับการขนส่งสินค้าปริมาณมหาศาลทั้งภายในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน และระหว่างประเทศอื่นนอกกลุ่ม ซึ่งนับว่าความเชื่อมโยงด้านการขนส่งทางทะเลของอาเซียนมีระดับการพัฒนามากที่สุด

โดยเป้าหมายการจัดงาน “ASEAN PORT SYMPOSIUM 2014” เพื่อเป็นการรวมตัวกันครั้งสำคัญของผู้นำท่าเรือในภูมิภาค เพื่อร่วมหาแนวทางในการบูรณาการการขนส่งทางทะเลของอาเซียน สร้างศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าระดับโลก และเป็นนิมิตหมายอันดีในการร่วมกำหนดทิศทาง และนโยบายในการพัฒนาระบบการขนส่งทางทะเลในระดับภูมิภาค เพื่อการพัฒนาระบบการขนส่งทางทะเลในประเทศรองรับการเข้าสู่เออีซี และสร้างศักยภาพการแข่งขันในระดับสากล



กำลังโหลดความคิดเห็น