ศูนย์ข่าวศรีราชา - ป้องกันภัยจังหวัดชลบุรี รายงานสถานการณ์ล่าสุดจากเหตุสารเคมีรั่วไหลที่ท่าเทียบเรือ ท่าเทียบเรือ B3 ท่าเรือแหลมฉบัง มีผู้บาดเจ็บหายใจไม่สะดวก คลื่นไส้ อาเจียน เข้ารับรักษาตัวที่โรงพยาบาล 139 คน
เวลา 20.00 น.วันนี้ (17 ก.ค.) ป้องกันภัยจังหวัดชลบุรี รายงานสถานการณ์ล่าสุดจากเหตุสารเคมีรั่วไหลที่ท่าเทียบเรือ B3 ท่าเรือแหลมฉบัง มีผู้บาดเจ็บหายใจไม่สะดวก คลื่นไส้ อาเจียน เข้ารับรักษาตัวที่โรงพยาบาล 139 คน สาเหตุเกิดจากตู้สินค้าหล่นใส่ถังบรรจุสารเคมี ขณะทำการขนถ่ายสินค้าบนเรือ จึงเกิดรอยรั่วขึ้น ขณะนี้ได้เคลื่อนย้ายเรือต้นเหตุออกจากฝั่งไกล 10 กม. เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนขณะทำการเก็บกู้สารเคมี
พร้อมทั้งได้มีการตั้งศูนย์ช่วยเหลือที่ รพ.แหลมฉบัง ล่าสุด ชาวบ้านที่ชุมชนแหลมฉบัง แจ้งว่ายังได้รับกลิ่นฉุนรุนแรงเป็นบางช่วง จึงทำให้ชาวบ้านแหลมฉบังออกมารวมตัวกันที่วัดแหลมฉบังเพื่อหารือว่าจะทำกันอย่างไรต่อ เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มาดูแล หรือบอกกล่าวว่าควรจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร หลังจากนั้นประมาณชั่วโมงกว่าๆ จึงมีรถสารณสุข และรถของเทศบาลนครแหลมฉบัง มาจอดสแตนด์บาย ชาวบ้านจึงได้แยกย้ายกับกลับเข้าบ้าน
สำหรับสารเคมีดังกล่าวได้รั่วออกจาก Iso tank ในเบื้องต้น คาดว่าเกิดจากการปฏิบัติในขั้นตอนการยกตู้คอนเทนเนอร์ลงเรือ แต่ตู้คอนเทนเนอร์ได้หล่นลงมากระแทกแท็งก์ที่บรรจุสารเคมีที่วางอยู่บนเรือสินค้า ทำให้เกิดเป็นรูรั่ว และมีรอยฉีกขาด ส่งผลให้สารเคมีเกิดการรั่วไหลออกมาเป็นของเหลวใส มีกลิ่นฉุน พัดมาตามกระแสลม ซึ่งทิศทางลมได้พัดเข้าหาชุมชน และมีกระแสลมเร็ว ทำให้ประชาชน และนักเรียนที่อยู่ใกล้เคียงได้รับผลกระทบเมื่อสูดดมเข้าไปมีอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดหัว อาเจียน คลื่นไส้ จึงได้นำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษา
ขณะนี้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้จนกระทั่งอยู่ในระดับปกติ โดย กรมเจ้าท่า ได้นำเรือสินค้าลำดังกล่าวไปจอดทิ้งสมอ ณ จุดที่กำหนด ซึ่งห่างจากฝั่งประมาณ 10 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะที่ห่างจากชุมชนมาก และให้มีเรือตำรวจน้ำเฝ้าระวังไม่ให้มีเรือลำอื่นเข้าใกล้ และท่าเรือแหลมฉบัง ได้นำถาดขนาดใหญ่รองแท็งก์ที่รั่วไว้เพื่อไม่ให้สารเคมีรั่วไหลลงสู่ทะเล และติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศหลังเกิดเหตุ เพื่อวัดคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ท่าเรือแหลมฉบัง ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมเจ้าท่า เทศบาลนครแหลมฉบัง หน่วยงานสาธารณสุข ป้องกันจังหวัดชลบุรี ในการวางแผนจำกัดและควบคุม พร้อมทั้งการวัดคุณภาพน้ำ และอากาศอย่างใกล้ชิด โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชนใกล้เคียงแต่อย่างใด ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้ง 139 คน ทางท่าเรือแหลมฉบัง ได้ติดตามและเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด โดยมีการเข้าเยี่ยมผู้ป่วย ในส่วนค่ารักษาพยาบาลท่าเรือแหลมฉบังเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ส่วนผู้ป่วยที่ต้องนอนสังเกตอาการอยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆ ประมาณ 25 คน ได้แก่ โรงพยาบาลวิภา-ราม จำนวน 7 คน โรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา จำนวน 15 คน และโรงพยาบาลแหลมฉบัง (อ่าวอุดม) จำนวน 3 คน ซึ่งมีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ อาเจียน