ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารภาคใต้ เปิดตัวมิวสิควีดีโอเพลง “โบ๋ไม่บาย” ที่ใช้เป็นเพลงรณรงค์ในกิจกรรมปฏิรูปพลังงานภาคประชาชน “เดินวันละโยชน์ เพื่อประโยชน์คนทั้งชาติ” โดยมี 3 ศิลปินชื่อดังของภาคใต้ร่วมกันขับร้อง ก่อนเริ่มเดินในวันที่ 19 ส.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเครือข่ายปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารภาคใต้ เปิดตัวมิวสิควีดีโอเพลง “โบ๋ไม่บาย” ที่ใช้เป็นเพลงรณรงค์ในกิจกรรมปฏิรูปพลังงานภาคประชาชน “เดินวันละโยชน์ เพื่อประโยชน์คนทั้งชาติ” โดยมี 3 ศิลปินชื่อดังของภาคใต้ร่วมกันขับร้อง ประกอบด้วย
แสง ธรรมดา แต่งเนื้อร้องและร้องนำในท่อนแรก ซึ่งเล่าเรื่องราววิถีชีวิตและการต่อสู้กับปัญหาของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ที่ถูกกำหนดให้เป็นที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมปริโตรเคมี ซึ่งเปลี่ยนวิถีชาวบ้านในพื้นที่ไปโดยสิ้นเชิง จากเดิมที่มีชีวิตอย่างปกติสุขด้วยการทำประมง เกษตร และการท่องเที่ยว แต่ภาครัฐกลับสนับสนุนให้เป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมหนัก ท่อนนี้บรรเลงด้วยดนตรีแนวเซาเทิร์นร็อค ถ่ายทอดบรรยากาศการเดินในช่วงเช้า ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังและความกระตือรือร้น ท่อนนี้มีเนื้อร้องว่า
“ไอ้เท่ง เดินจากสงขลา มันบอกเราว่าไม่เอาแลนด์บริจด์
โรงงานมีมลพิษ มันทำชีวิตของเท่งวังเวง
สตูลก็คนนักเลง บังหม้อนำทีมมาเอง
เดินนำร้องรำทำเพลง ว่ามาลายเครง"ท่าเรือน้ำลึก"
ไอ้หลำ คนพัทลุง ยิ่งอยู่ยิ่งยุ่งสะดุ้งสะอึก
สวนยางอยู่ข้างป่าลึก ทำท่าโถกยึดรู้สึกกลัวเกรง
อุทยานทับที่กูเอง คนจนเจ้านายข่มเหง
เคลียร์กันไม่ลงกูเซ็ง เดินทางนักเลง..ไอ้เท่งหักคอ หักคอ หักคอไอ้เท่ง”
จ๊อบ บรรจบ ร้องนำในท่อนกลางบรรยายเรื่องราวความสวยงามของชายฝั่งและท้องทะเลฝั่งอันดามัน ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งทำมาหากินของประชาชน รวมทั้งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำสัตว์บกนานาชนิด รวมทั้งมนุษย์ได้พึ่งพาอาศัยใช้เป็นแหล่งทำการประมงและขายการท่องเที่ยวนำรายได้เข้าประเทศปีละหลายพันล้านบาท แต่กลับถูกตั้งเป้าให้เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน ที่ทั่วโลกเลิกใช้เพราะเกิดมลพิษสะสมในระยะยาวจนยากเกินจะเยียวยา ขณะเดียวกันชาวบ้านยังประสบปัญหายางพาราราคาตกต่ำทำให้มีแต่ความยากลำบาก ท่อนนี้บรรเลงด้วยดนตรีในสไตล์เร็กเก้ ของจ๊อบ บรรจบ ถ่ายทอดให้เห็นช่วงจังหวะก้าวเดินกลางสายลม สายฝน และแสงแดด ท่อนนี้มีเนื้อร้องว่า
“อีไพ น้องไม่เอาถ่าน เธอบอกไม่ผ่านถ่านหินกระบี่
อยู่กินกันอย่างดีดี อีไพแฮ็ปปี้ปาร์ตีครื่นเครง
ไฟฟ้ามาทำบ้าเสียเอง ท่องเที่ยวเงียบเหงาวังเวง
ปูปลาในเลซีเบ้ง สารก่อมะเร็งญ่องแย็งยำเหม็ด”
ไอ้เข่ง มันขู่ปิดหนน มันบอกไม่สนโบ๋คนขี้แท็จ
ราคายางโถกอีแสร็จ ตกต่ำยำแหม็ดแพร็ดแพร็ดไอ้เข่ง
น้ำมันขึ้นกันเป้งเป้ง ทุกอย่างขึ้นตามมาเอง
น้ำยางก็ยังอยู่เน่ง ว่าพรื้อไอ้เท่ง เช่งเบ้งกันหวา เช่งเบ้ง เช่งเบ้งกันหวา”
ส่วน ตุด นาคอน ร้องนำในท่อนจบ บรรยายถึงเรื่องราวการเรียกร้องปกป้องทะเลและชายฝั่งที่เป็นแหล่งผลิตอาหาร ปลอดจากการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ท่าเรือน้ำมัน โรงไฟฟ้าถ่านหิน และการปฏิรูปทรัพยากรพลังงานเชื้อเพลิงในอ่าวไทยอย่างเป็นธรรมเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ และต้องรักษาทะเลอ่าวไทยไว้ให้ลูกหลานสืบไป เนื้อร้องท่อนนี้บรรเลงโดยดนตรีพื้นบ้านตามแบบศิลปะการขับร้องและรำโนราของภาคใต้ ถ่ายทอดบรรยากาศการเดินในช่วงเย็น แดดร่ม ลมตก เกิดความกระฉับกระเฉงขึ้นอีกครั้ง ท่อนนี้มีเนื้อร้องว่า
“ยอดทองคนด้นเมืองคอน ไม่ใช่อียอนว่าเชฟรอนยัวแห็ด
น้ำมันโบ๋หรั่งเจาะแหม็ด ทั้งก๊าซทั้งแก๊สเหม็ดเลโหรงเหรง
ขี้มันลอยน้ำโทงเทง เกาะงันสมุยโดนเอง
ลิกไนต์ไฟฟ้ามาเบ่ง รบกันโช้งเช้ง เบ้งหัวตัวเหตุ
เดินกันไปวันละโยด ทำเพื่อประโยชน์คนทั้งประเทศ
แผ่นดินถิ่นอันวิเศษ น่านน้ำทุกเขต โบ๋เปรตลายเครง
ซี.พี.นายทุนเสร็งเคร็ง เรืออวนลากรุนละเลง
ล้างผลาญสัตว์น้ำหมดเหมง เรื่องพันนี้เองนักเลงหักคอ หักคอ หักคอไอ้เท่ง”
ประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารภาคใต้ บอกว่า กิจกรรมเดินวันละโยชน์เพื่อประโยชน์คนทั้งชาติ ประเด็นหลักคือเดินเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปพลังงานที่เป็นธรรม ออกเดินจากหาดใหญ่ไปกรุงเทพ ระยะทางประมาณ 1,400 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินประมาณ 3 เดือน โดยจะเดินเป็นระยะทางวันละ 1 โยชน์ หรือประมาณ 16 กิโลเมตร ส่วนอาสาสมัครชุดเริ่มต้นที่จะเดินจากหาดใหญ่ไปจนถึงกรุงเทพฯ จะเป็นใครบ้าง คลิกเข้าไปทำความรู้จักกันได้จากมิวสิควีดีโอเพลงโบ่ไม่บาย จากคลิปวีดีโอนี้