ศูนย์ข่าวศรีราชา - นักวิชาการชี้รัฐควรยกเครื่องระบบการจัดทำ และพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ใหม่ หลังเกิดปัญหากรณีโครงการ Water Front Suites and Residence ซึ่งประชาชนคัดค้านกระบวนการพิจารณา
กรณีรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการ Water Front Suites and Residence สูง 53 ชั้น 315 ห้องในเมืองพัทยา ของบริษัท บาลีฮาย จำกัด ตั้งอยู่ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมบริเวณเมืองพัทยา และได้รับอนุญาตจากเมืองพัทยาให้ก่อสร้างได้ ซึ่งโครงการดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อทัศนียภาพของเมืองพัทยา บดบังพระราชานุสาวรีย์พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ รวมทั้งบดบังจุดชมวิวเมืองพัทยา ทำให้ประชาชนทั้งคนไทยและต่างชาติในเมืองพัทยาไม่สามารถยอมรับได้ จึงได้ออกมาคัดค้าน และกำลังลงชื่อร้องเรียนไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
จากกรณีดังกล่าวได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงถึงความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือต่อการจัดทำและพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการต่างๆ ในขณะนี้
นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย และที่ปรึกษามูลนิธิจิตอาสา กล่าวว่า การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เป็นไปตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่องประเภทและขนาดของโครงการ หรือกิจการที่ต้องจัดทำรายงาน 35 ประเภท และหากเป็นโครงการหรือกิจการที่เข้าข่ายมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างรุนแรง 11 ประเภท รายงานดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจาก คชก.ในกรณีเป็นโครงการของภาคเอกชน และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกรณีเป็นโครงการของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ
เมื่อโครงการได้รับความเห็นชอบรายงานแล้ว มาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมในรายงานต้องถูกกำหนดเป็นเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตเพื่อนำไปปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ระบบการจัดทำและพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยถูกตำหนิจากภาคประชาสังคมว่าควรได้รับการปฎิรูป ดังนี้
1. การจัดทำและพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมมีลักษณะเป็นการพิจารณาโครงการต่อโครงการ ไม่ได้มองภาพรวมของพื้นที่อย่างทั่วถึง ทำให้เกิดโครงการในบางพื้นที่มากเกินกว่าที่ประชาชนจะยอมรับได้ เช่น โครงการคอนโดมิเนียมริมเส้นทางรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร จนเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง การขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมในเขต จ.ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และระยอง รุกล้ำไร่นาของประชาชน เนื่องจากไม่มีผังเมือง เป็นต้น
2. การพิจารณารายงานทั้งหมดดำเนินการที่ส่วนกลางเป็นหลักโดย คชก. ซึ่ง คชก.จะพิจารณาจากข้อมูลที่ปรากฏในรายงาน ที่เจ้าของโครงการ/ที่ปรึกษาส่งมาให้ โดยประชาชนในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วมในการเป็นคณะกรรมการด้วย นอกจากนี้ ประชาชนยังสงสัยที่มาของการเลือกบุคคลมาเป็น คชก. และ คชก.ได้รับการยอมรับจากภาคประชาสังคมหรือไม่อีกด้วย
3. ที่ปรึกษาที่จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้รับการว่าจ้างจากเจ้าของโครงการโดยตรง ทำให้เกิดข้อครหาว่าเป็นลูกจ้างเจ้าของโครงการ มีหน้าที่ต้องทำให้รายงานผ่านความเห็นชอบให้ได้ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วที่ปรึกษาต้องใช้หลักวิชาการทำรายงานด้วยความเป็นกลางทางวิชาการ
4. ประชาชนขาดการมีส่วนร่วมในการจัดทำรายงานอย่างแท้จริง เนื่องจากที่ผ่านมาเจ้าของโครงการจะมอบหมายให้ที่ปรึกษาชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ และจัดรับฟังความคิดเห็นตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ประชาชนส่วนใหญ่ขาดความรู้ความเข้าใจต่อโครงการเท่าที่ควร และอาจเกิดกลุ่มบุคคลสองกลุ่มที่ขัดแย้งกันในพื้นที่ คือ กลุ่มที่เอาโครงการ กับไม่เอาโครงการ
5. เนื่องจากสำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการของ คชก. เป็นระบบราชการภายใต้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ที่ผ่านมาถูกมองว่าอาจถูกกลุ่มการเมืองสั่งการให้เห็นชอบหรือไม่ก็ได้ รวมทั้งอาจไม่มีความเป็นอิสระทางวิชาการเท่าที่ควร ซึ่งจะเห็นได้ว่าข้อเสนอแนะของ คชก.บางชุดขัดแย้งกับความรู้สึกของประชาชนและนักวิชาการในพื้นที่อยู่บ่อยครั้ง
6. ปัจจุบันหน่วยงานเจ้าของโครงการหลายหน่วยงาน ได้รับการร้องเรียนว่าการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะโครงการของรัฐ รัฐวิสาหกิจ รัฐร่วมกับเอกชน เช่น รถไฟฟ้า ท่าเรือ สนามบิน โรงไฟฟ้า เขื่อน มีความล่าช้ามาก โดยเฉพาะ คชก.มีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงแก้ไขรายงานค่อนข้างมาก บางครั้งเพิ่มคำถามที่ต้องไปทำเป็นงานวิจัย ทำให้ต้องใช้เวลาแก้ไขค่อนข้างนาน รวมทั้งต้องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอีกครั้ง จึงก่อให้เกิดผลกระทบต่อการตั้งงบประมาณประจำปี รวมทั้งการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนล่าช้า
7. การจัดทำโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ที่อาจมีผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่อย่างรุนแรง เช่น สร้างถนนตัดผ่านพื้นที่อนุรักษ์ สร้างท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ เขื่อน รถไฟความร็วสูง การสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมทั้งบนบกและในทะเล การก่อสร้างนิคมอุสาหกรรม การถมทะเล การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน การก่อสร้างอาคารสูงพิเศษในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น
ที่ผ่านมาเจ้าของโครงการส่วนใหญ่เป็นภาครัฐและเอกชนรายใหญ่ ไม่ได้เสนอทางเลือกให้ประชาชนในพื้นที่มากนัก ไม่ได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างทั่วถึง และไม่นำข้อคิดเห็นจากภาควิชาการ (Technical Hearing) และภาคประชาชน (Public Hearing) มาใช้เป็นขอบเขตการศึกษาในการจัดทำรายงาน ทั้งหมดจะทำการจ้างที่ปรึกษาลงไปทำชุมชนสัมพันธ์ และรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชน เพียงมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมส่งให้ คชก.พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
8. กระบวนการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานอนุญาต ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าการติดตามตรวจสอบ และการบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมอ่อนแอมาก มีโครงการที่ได้รับความเห็นชอบรายงานแล้ว ไม่ปฏิบัติตามมาตรการจำนวนมาก หน่วยงานอนุญาตโดยเฉพาะที่ตั้งในจังหวัดต่างๆ ส่วนใหญ่มองว่ามาตรการกำหนดโดย คชก.ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จึงควรให้ สผ.เป็นผู้ตรวจสอบ เนื่องจากตนเองไม่มีความรู้เฉพาะด้าน หรือไม่ทราบที่มาของมาตรการที่กำหนดในรายงานฯ
นายสนธิกล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องยกเครื่องระบบการจัดทำและพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของประทศไทยอย่างจริงจัง โดยฟังเสียงภาคประชาสังคมรอบด้าน เพื่อให้โครงการที่ผ่านการอนุมัติได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนและประชาชน และเพื่อไม่ให้เกิดเหตุกรณีการคัดค้านจากประชาชน อย่างกรณีโครงการ Water Front Suites and Residence และโครงการขนาดใหญ่อื่นๆ อีกต่อไป