คอลัมน์ : ใต้แสงหวัน
โดย..ณขจร จันทวงศ์
การล้มเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ของชาวบ้านใน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ยังคงเดินหน้าผลักดันโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางเสียงคัดค้านอย่างไม่ลดละของชาวบ้านในพื้นที่
ทั้งนี้ตามแผนการของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่กำหนดให้พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย เป็นพื้นที่รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมหนักจากภาคตะวันออก โดยมีโครงการขนาดใหญ่ตามแผนยุทธศาสตร์สะพานเศรษฐกิจสงขลา - สตูล หรือแลนด์บริดจ์ ประกอบด้วยการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ จ.สตูล และ จ.สงขลา พร้อมด้วยเส้นทางขนส่งสินค้าและพลังงานทั้งระบบรางและถนนมอเตอร์เวย์
สิ่งที่จะตามมากับโครงการนี้คือนิคมอุตสาหกรรมปริโตรเคมีขนาดใหญ่ ลักษณะเดียวกับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งจำเป็นจะต้องมีแหล่งน้ำปริมาณมหาศาลไว้รองรับการเกิดของนิคมอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับพลังงานไฟฟ้าที่จะป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ตามมา การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานถ่านหินจึงถูกกำหนดขึ้น เนื่องจากถ่านหินเป็นพลังงานที่ยังมีเหลืออยู่เป็นจำนวนมากทั่วโลกและยังมีราคาถูก เนื่องจากปัจจุบันประชาชนของประเทศที่พัฒนาแล้วต่างคัดค้านไม่ให้รัฐบาลของตนผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านหินเพราะส่งผลเสียมากกว่าผลดี โดยเฉพาะมลพิษที่ปะปนอยู่ในอากาศซึ่งก่อผลกระทบมาแล้วทั่วโลก
ขณะเดียวกันแผนพัฒนาภาคใต้ ที่มุ่งไปทางพัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรม ได้ปลุกประชาชนในพื้นที่ให้ตื่นตัวกับผลกระทบที่จะตามมาในอนาคต ล่าสุดคือการออกแถลงการณ์ของชาวบ้านเครือข่ายทุ่งตำเสารักษ์ถิ่น ต.ทุ่งตำเสา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ที่อยู่ในเส้นทางผ่าของโครงการแลนด์บริดจ์ สงขลา - สตูล เรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ยุติโครงการดังกล่าวแล้วหันมาพัฒนาการเกษตรและการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านมากกว่า
ขณะที่ก่อนหน้านี้เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน ก็ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ คสช.ยุติโครงการที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมทั้งหมดในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อรักษา 2 ฝั่งทะเลไว้เป็นแหล่งผลิตอาหารให้กับคนไทยทั้งประเทศ พร้อมระบุว่าสิ่งที่ชาวบ้านต้องการคือการพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและการเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งประเด็นเหล่านี้ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องมาแล้วเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 30 ปี
นอกจากออกแถลงการณ์สื่อสารโดยตรงกับผู้มีอำนาจแล้ว การต่อสู้ของเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะประเด็นการปกป้องทะเลไว้เป็นแหล่งผลิตอาหาร ล่าสุดมีการใช้ศิลปะบทเพลงเพื่อชีวิตเป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อสื่อสารกับสังคมวงกว้าง โดยมีศิลปินในพื้นที่และส่วนกลาง ประกอบด้วยศิลปิน แสง ธรรมดา, วสันต์ สิทธิเขตต์, ซูซู, จ๊อบ บรรจบ, ตุด นาคอน, ภู-เล,ฅ.ฅน,ใต้สวรรค์, กอและแฟมิลี่, พิมพ์นิยม และศิลปินรุ่นใหม่อีกจำนวนหนึ่ง
ร่วมกันสร้างสรรค์บทเพลงในอัลบั้ม “บอกรักทะเล” เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ท้องทะเลไทยให้เป็นแหล่งผลิตอาหารให้ลูกหลานต่อไป โดยอัลบั้ม “บอกรักทะเล” จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม นี้
อย่างไรก็ตามการสื่อสารกับสังคมในยุคโซเชี่ยลมีเดีย ส่งผลให้ศิลปินต้องพัฒนาผลงานของตนเองเพื่อประโยชน์สูงสุดในการสื่อสารกับสาธารณชน คอลัมน์” ใต้แสงหวัน” เป็นพื้นที่ในการนำเสนอบทเพลงอัลบั้ม “บอกรักทะเล” ที่ผลิตในรูปแบบวีดีโอคลิป มิวสิควีดีโอ และจะทยอยมานำเสนอให้ได้รับฟังทั่วกันทุกๆ บทเพลง
ประเดิมด้วยเพลง “ไม่ผ่านถ่านหิน” แต่งคำร้อง,ทำนอง และขับร้องโดย “แสง ธรรมดา” เนื้อหาในบทเพลงเป็นอย่างไรคลิกไปชมได้จากคลิปวีดีโอ