xs
xsm
sm
md
lg

อาชีพ "นักบัญชี" น่าห่วง! สู้เพื่อนบ้านไม่ได้หลังเปิดเออีซี เหตุโครงสร้าง-เทคโนโลยีล้าหลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิจัยชี้เคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือเสรี 8 สาขา หลังเปิดเออีซี อาชีพบัญชีน่าห่วง โครงสร้างวิชาชีพ - เทคโนโลยีล้าหลัง คาดประเทศพัฒนาแล้วได้เปรียบกว่า ภาคบริการกระทบหนักสุดขาดแรงงาน ผู้ประกอบการหวั่นปัญหาสมองไหล

ดร.ดนุพล อริยสัจจากร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ตน และ ผศ.ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯได้ร่วมกันทำวิจัยเรื่อง “ผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือระหว่างประเทศจากการวมกลุ่มทางเศรษฐกิจเออีซี” โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งผลวิจัยโดยการวิเคราะห์ข้อมูลและสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ บุคคลสาขาวิชาชีพต่างๆ พบว่า จากการที่ประเทศสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) 10 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ไทย พม่า มาเลเซีย กัมพูชา ลาว สิงคโปร และบูรไน ได้มีข้อตกลงในการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมืออย่างเสรีใน 8 กลุ่มสาขาอาชีพ คือ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกรนักสำรวจ สถาปนิก นักบัญชี รวมทั้งด้านท่องเที่ยวและบริการในปี 2558 นั้น การเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรียังคงมีปัญหาในหลายด้านทั้งเรื่องกฎระเบียบในการอนุญาตให้เข้าไปทำงานในแต่ละประเทศ ภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

ดร.ดนุพล กล่าวอีกว่า ส่วนจุดแข็งของประเทศไทยอยู่ที่กลุ่มสาขาวิชาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกรและการท่องเที่ยวและบริการ แต่สาขาวิชาชีพที่น่าห่วงของไทยคือ นักบัญชี เนื่องจากยังมีปัญหาด้านโครงสร้างและมีความล้าหลังของการใช้เทคโนโลยีในการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ เมื่อถึงวิเคราะห์ถึงผลกระทบในแง่บวกพบว่าผู้ประกอบการมีโอกาสมากขึ้นในการคัดเลือกแรงงานที่มีคุณภาพ และย้ายฐานการผลิต รวมทั้งการเกื้อกูลด้านการพัฒนาบุคลากรและและวิชาการ และความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างประเทศสมาชิกขณะที่ผลกระทบในแง่ลบนั้นแรงงานไทยมีจุดอ่อนด้านทักษะภาษาต่างประเทศและการใช้เทคโนโลยีและผู้ประกอบการเกรงปัญหาสูญเสียแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพให้แก่ประเทศอื่นๆในอาเซียนที่จ่ายค่าตอบแทนสูงกว่า หรือปัญหาสมองไหล

จากการวิเคราะห์โดยภาพรวมใน 10 ประเทศผลประโยชน์ที่ได้รับจากนโยบายการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีเป็นไปอย่างไม่เท่าเทียมกันซึ่งประเทศที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุด คือ ประเทศที่พัฒนาแล้ว ขณะที่ประเทศที่พัฒนาต่ำกว่าได้ผลรับประโยชน์น้อยกว่าหรือเสียประโยชน์โดยอุตสาหกรรมและธุรกิจที่ใช้แรงงานเป็นหลักคือ ภาคบริการได้รับผลกระทบด้านแรงงานมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคเกษตรและอุตสาหกรรมโดยเฉพาะหากมีการเปิดให้แรงงานด้อยฝีมือเคลื่อนย้ายอย่างเสรี จะทำให้ทุกประเทศสมาชิกเออีซีต่างได้รับผลกระทบด้านแรงงาน” ดร.ดนุพล กล่าว

ดร.ดนุพล กล่าวด้วยว่า ผลวิจัยนี้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาลโดยควรสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพแรงงานฝีมือในทุกสาขาวิชาชีพโดยเฉพาะสาขาขาดแคลน มีการออกกฎระเบียบหรือรักษากฎระเบียบที่มีอยู่เพื่อรักษามาตรฐานทางวิชาชีพและสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาในกลุ่มวิชาชีพที่ไทยมีมาตรฐานสูงเช่น ด้านบริการสุขภาพ เช่น แพทย์ทันตแพทย์ พยาบาล และด้านท่องเที่ยวและบริการ นอกจากนี้ จะต้องลดจุดอ่อนของแรงงานไทยโดยเร่งพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศและการใช้เทคโนโลยี ยกระดับรายได้และสวัสดิการของแรงงานในวิชาชีพต่างๆ รวมทั้งมีการวางกรอบนโยบายและการจัดระเบียบอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะแรงงานด้อยฝีมือ

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น