xs
xsm
sm
md
lg

Money Tips : ทำไมผู้เกษียณแล้วบางคนยังต้องการทำงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดยสันติ ธนะนิรันดร์
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
กลุ่มจัดการกองทุน
บลจ.บัวหลวง

หากถามว่าหลังเกษียณจะทำอะไร คำตอบส่วนใหญ่ก็คือ ไปเลี้ยงหลาน พักผ่อน ท่องเที่ยว แต่แนวโน้มที่เราเห็นมากขึ้นก็คือการทำงานต่อไปหลังเกษียณ

ในต่างประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ นั้น 1 ใน 3 ของผู้เกษียณเขายังคงทำงานต่อ โดยมีเหตุผลที่ต่างกันไปครับ

เหตุผลแรก คือ เรื่องเงินไม่พอใช้จ่ายในวัยเกษียณ อาจจะทั้งเนื่องจากการวางแผนทางการเงินที่ไม่ดีพอ เงินเก็บไม่เพียงพอ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เคยคิดไว้ทั้งที่เป็นข้าวของเครื่องใช้ และค่ารักษาพยาบาล อีกประเด็นหนึ่งคือคนเรามีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนขึ้นตามเทคโนโลยีการรักษาที่ดีขึ้น ทำให้ต้องใช้เงินในการดำรงชีวิตนานขึ้นและมากขึ้นด้วย

เหตุผลที่สอง คือ ไฟยังแรงอยู่ ยังอยากที่จะใช้ความรู้ ประสบการณ์ และความสามารถของตนเองให้เป็นประโยชน์ต่อองค์กร หรือต่อสังคม ตัวอย่างในบ้านเราอันหนึ่งคือ ข้าราชการหรือนักธุรกิจเก่งๆ ที่เกษียณแล้วมักจะผันตัวเองเข้ามามีตำแหน่งทางการเมืองก็ด้วยเหตุผลนี้ (แฮ่ม ....พวกที่มีผลประโยชน์แอบแฝงไม่เข้าข่ายนี้นะครับ แต่น่าจะเข้าข่ายเป็นประเภทมีเท่าไหร่ก็ไม่พอ)

เหตุผลที่สาม คือ ยังอยากมีสังคม เพราะจะได้พูดคุย ได้เมาท์ถึงละครตอนเมื่อคืนได้ ได้ไปงานสังสรรค์พบปะผู้คน และใครที่เป็นหัวหน้าก็จะได้ยังมีลูกน้องไว้สั่งการ นอกจากนี้ การที่สังคมเป็นเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ กับครอบครัวที่เล็กลงเรื่อยๆ ผนวกกับจำนวนคนโสดที่มากขึ้น ทำให้ที่ทำงานเป็นสถาบันสังคมที่สำคัญมาก

เหตุผลสุดท้าย คือ กลัวการเปลี่ยนแปลง เพราะแม้จะมีความพร้อมด้านการเงิน แต่ยังไม่ได้เตรียมพร้อมด้านจิตใจ เนื่องจากคุ้นเคยกับการทำงานหนักมาตลอดชีวิต จึงยังรับไม่ได้กับวิถีชีวิตที่จะเปลี่ยนไป หรืออาจจะยังไม่ได้วางแผนไว้ว่าจะทำอะไร จึงขอทำงานต่อไปก่อน

นั่นคือสาเหตุครับ คราวนี้ถ้าแบ่งกว้างๆ เป็นประเภทของงานหลังเกษียณ ก็แบ่งได้เป็น 3 ประเภทครับ

หนึ่ง ยังคงอยู่องค์กรเดิม มีความเป็นไปได้มากสำหรับบริษัทเอกชนที่จะต่ออายุผู้บริหารออกไปสักปีสองปี รวมถึงอาจขอให้ทำงานอยู่ในตำแหน่งงานอื่นที่ไม่ใช่งานประจำ เช่น ที่ปรึกษา เพื่อช่วยงานบริษัทต่อไป ในขณะที่การต่ออายุของผู้บริหารในภาครัฐมีโอกาสน้อยกว่า เนื่องจากกฎเกณฑ์ในการต่ออายุค่อนข้างเคร่งครัด บางทีก็เลยต้องเอาไปลงเป็นบุคคลที่มีตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจ แบบนี้ก็มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายตราบใดที่เขายังมีประโยชน์ในการทำหน้าที่ใหม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยนะครับ

สอง เปลี่ยนงานใหม่ กรณีนี้ผู้ใกล้เกษียณต้องมีการเตรียมตัวอย่างต่อเนื่อง โดยหมั่นติดต่อกับผู้คนในแวดวงธุรกิจที่เราอยากเข้าไปร่วมงาน ถ้าเป็นสาขาอื่นที่เราไม่เคยทำมาก่อนอาจต้องไปอบรม หาความรู้ หรือทักษะเพิ่มเติม เช่น ถ้าอยากเป็นนายหน้าขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ก็อาจต้องสอบใบอนุญาตตามที่กฎหมายกำหนด

สาม เป็นเจ้าของกิจการหรือทำงานอดิเรกให้เป็นอาชีพ อย่างนี้ก็ต้องมีการเตรียมพร้อมไว้ให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพร้อมทางการเงิน ไอเดีย และการวางแผนการทำธุรกิจ ทั้งนี้ มีงานอดิเรกบางอย่างที่สามารถทำเป็นอาชีพได้ดีในยามเกษียณ เช่น ปลูกต้นไม้ ถ่ายรูป เขียนหนังสือ สอนหนังสือ เป็นต้น

แต่ไม่ว่าการทำงานหลังเกษียณจะเกิดขึ้นเพราะจำเป็นต้องทำหรือเลือกทำเอง การเตรียมตัวย่อมเป็นสิ่งสำคัญ

เราจึงควรวางแผนล่วงหน้าก่อนที่วันนั้นจะมาถึง เริ่มจากการประเมินศักยภาพตนเอง กำหนดสิ่งที่อยากทำ และเตรียมความพร้อมเอาไว้

แต่สิ่งที่สำคัญที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะยังไม่ถึงเวลาเกษียณ หรือกำลังทำงานหลังเกษียณอยู่ก็ตาม สิ่งนั้นก็คือ การวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณ โดยต้องออมและลงทุนจากเงินที่ท่านหามาได้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการใช้จ่ายในอนาคต

เพราะไม่ช้าก็เร็ว ทุกคนก็ต้องเกษียณจริงๆ อยู่ดี

**ขอให้ทุกท่านโชคดีครับ***


กำลังโหลดความคิดเห็น