xs
xsm
sm
md
lg

Money Tips : การขาดแคลนแรงงาน ปัญหาที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บัวหลวง Money Tips
โดยวรวรรณ ธาราภูมิ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง

การหดตัวของแรงงานหรือการลดลงของอัตราการเกิดเป็นปัญหาที่คุ้นเคยในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นในยุโรป และญี่ปุ่น แต่ปัญหาเหล่านี้เริ่มเห็นได้ชัดขึ้นในบางประเทศที่กำลังพัฒนา ไทยก็เช่นกัน สังเกตง่ายๆ ได้จากการหาคนมาเป็นแม่บ้าน คนขับรถบ้านได้ยากขึ้น และมักเป็นแรงงานต่างชาติ เวลารถเสีย แอร์เสียก็ซ่อมนาน ระยะเวลาในการรอผ้าซักแห้งก็ยาวขึ้น 1-2 วัน พยาบาลผู้ช่วยก็เป็นคนฟิลิปปินส์มากขึ้น

ปัจจุบันอัตราการเกิดของคนไทยลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อ 40 ปีก่อนผู้หญิง 1 คนมีลูกเฉลี่ย 7 คน แต่ปัจจุบันผู้หญิง 1 คนมีลูกโดยเฉลี่ย 1.6 คน ทำให้ไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาการหดตัวของตลาดแรงงานในขณะที่มีประชากรสูงอายุในสัดส่วนที่สูงขึ้น จีนก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่กำลังพัฒนาที่เจอปัญหานี้ โดยจำนวนประชากรที่มีอายุในช่วงทำงานลดลง 3.45 ล้านคนในปี 2555 และลดลง 2.45 ล้านคนในปี 2556 เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าจุดสูงสุดของจำนวนประชากรที่อยู่ในช่วงอายุทำงานของจีนได้ผ่านไปแล้ว ซึ่งจีนก็รู้ปัญหาและผลกระทบ จึงได้ผ่อนคลายกฎหมาย อนุญาตให้มีลูกเกินหนึ่งคนได้ในบางหัวเมือง

อัตราการเกิดที่ลดลงส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมของไทยในหลายด้าน เนื่องจากประชากรไทยในวัยทำงานน้อยลง ต้องพึ่งพิงแรงงานจากต่างชาติ แต่ในอนาคตเมื่อเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านขยายตัว เขาก็จะดึงคนของเขากลับบ้านด้วยต้นทุนค่าแรงสูงขึ้นน่าจูงใจ นอกจากนี้ เนื่องจากหาคนงานได้ยากขึ้นจึงทำให้อุตสาหกรรมหลายอย่างในเมืองไทยถูกย้ายออกไป โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก อย่างเช่นอุตสาหกรรมสิ่งทอก็ย้ายฐานผลิตไปในประเทศที่ค่าแรงถูกกว่าเช่นกัมพูชา

ส่วนเวียดนามมีแรงงานฝีมือจำนวนมากกว่าก็เลยดึงเม็ดเงินลงทุนด้านอุตสาหกรรมให้เข้าไปลงทุนในเวียดนามมากขึ้น และด้วยปัญหาขาดแคลนแรงงาน วิถีชีวิตครอบครัวในอนาคตก็จะต้องปรับตัว โดยผู้คนต้องพึ่งตนเองและเทคโนโลยีมากขึ้น ผู้สูงอายุ คนชรา จะมีชีวิตที่ยากลำบากขึ้นเพราะไม่มีลูกหลานเลี้ยงดู อย่างไรก็ตาม ถ้ามองอีกด้านของเหรียญ เราก็เห็นโอกาสของธุรกิจถ้าเขารู้จักปรับสินค้าและบริหารไปสนองตอบต่อกลุ่มผู้สูงอายุที่จะมีสัดส่วนมากขึ้นได้

เรามองเห็นปัญหานี้มาหลายปีแล้ว แต่ยังขาดการแก้ไขอย่างจริงจัง ซึ่งมองว่ารัฐบาลและหน่วยราชการจะต้องใส่ใจและกำหนดนโยบายใน 3 ด้าน คือ 1) เรื่องเพิ่มอัตราการเกิดของประชากร 2) เรื่องปรับระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการในอนาคต และ 3) เรื่องเตรียมพร้อมการรองรับผู้สูงอายุที่จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สหประชาชาติกล่าวว่า มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทั่วโลกในอัตราที่เร็วกว่าที่หลายๆ ฝ่ายคาด โดยประเทศที่พัฒนาแล้วต่างก็มีอัตราการเกิดที่ลดลงเรื่อยๆ เพราะการที่ประชากรย้ายถิ่นฐานไปอยู่เมืองใหญ่ซึ่งมีค่าครองชีพสูงทำให้มีลูกน้อยลงเพื่อคุมค่าใช้จ่าย ถ้ารัฐบาลใดไม่มีแผนหรือนโยบายที่จะรับมือกับเหตุการณ์นี้ได้ทัน ก็อาจจะเจอกับวิกฤตแรงงานและเศรษฐกิฐ โดยอัตราการเกิดที่สหประชาชาติเห็นว่าเพียงพอที่จะรักษาระดับประชากรไม่ให้ลดลงคือ ผู้หญิง 1 คนควรมีลูก 2.1 คน (คำนึงถึงอัตราการอยู่รอดของทารกแล้ว)

ดังนั้น เราต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งในแง่ของประชาชนคนทำงานก็ต้องเตรียมการไว้ทั้งก่อนเกษียณและหลังเกษียณตั้งแต่เนิ่นๆ เตรียมให้สามารถพึ่งพาตนเองได้มากที่สุดในยามเกษียณ โดยต้องเน้นเรื่องการรักษาพยาบาลกับเรื่องถิ่นที่อยู่ที่ใกล้สถานพยาบาลประจำของตน และในส่วนที่ยังมีกำลังวังชาก็ช่วยกันมีบุตรให้มากขึ้น และเตรียมแผนการเงินสำหรับบุตรไว้แต่เนิ่นๆ เพราะประเทศที่ขาดแคลนเด็กเป็นประเทศที่ไร้อนาคต เพราะจะไม่มีกำลังวังชาในการเติบโต

และอย่างสุดท้าย ในฐานะประชาชนผู้มีสิทธิเลือกผู้บริหารประเทศ เราก็ต้องแสวงหารัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ในเรื่องพวกนี้ แล้วช่วยกันเลือกมาเป็นผู้บริหารประเทศด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น