xs
xsm
sm
md
lg

เช็กยิบ“สมเด็จช่วง”ก่อนชงนายกฯทูลเกล้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360 - "สุวพันธุ์" เผยได้รับหนังสือ มส. เสนอ "สมเด็จช่วง" เป็นสังฆราชแล้ว เตรียมถก "พศ.-คณะสงฆ์-วิษณุ" หาข้อมูลรอบด้าน ก่อนชงนายกฯ ไม่ขีดเส้นเวลาเสร็จเมื่อใด ด้าน"วิษณุ" ย้ำหากยังขัดแย้งไม่ทูลเกล้าฯ เด็ดขาด ยกตัวอย่างในอดีต เคยว่างเว้นสังฆราชเป็นสิบปี แต่ต้องประเมินผลกระทบด้วย เผย “สมเด็จช่วง” ไม่เข้าประชุมลับ มส. เหตุมีส่วนได้เสีย ระบุ “สมเด็จพระวันรัต” เป็นผู้เสนอชื่อ ก่อนมีมติเลือกเอกฉันท์ ด้าน “พระเมธีธรรมาจารย์” ขู่ รบ.ดองเรื่องเจอม๊อบสงฆ์ทั้งแผ่นดินแน่

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยว่า พศ.ได้รับมติของกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ที่เห็นชอบนามของ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เพื่อส่งถึงรัฐบาลนำความกราบบังคมทูลฯสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 เรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้ตนได้รับเรื่องจากทาง พศ.แล้ว ซึ่งมติของ มส.เป็นมติที่เห็นชอบร่วมกันของกรรมการ มส.ทุกรูป ไม่มีประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้ง หรือมีปัญหาใน มส. หลังจากนี้ตนต้องดำเนินการตามขั้นตอนของรัฐบาล โดยเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่ก่อนที่ส่งให้นายกฯสิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติมคือ จะหารือเพิ่มเติมกับ พศ. คณะสงฆ์ และ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วน รอบด้าน เพียงพอที่นายกฯ จะพิจารณา

“เรื่องระยะเวลาคงบอกไม่ได้ ว่าจะนานแค่ไหน แต่จะทำไปตามกระบวนการ ตามประเด็นปลีกย่อย หรือประเด็นที่มีความจำเป็น ที่นายกฯ จะได้รับทราบ” นายสุวพันธุ์ กล่าว

** ข้อมูลต้องครบถ้วนก่อนส่งนายกฯ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนที่มีกระแสคัดค้าน สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ จะนำมาพิจารณาด้วยหรือไม่ นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า ข้อมูลที่จะถึงนายกฯ จะมีทุกประเด็น เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เพราะทุกเรื่องที่เกี่ยวกับขั้นตอนก่อนกราบบังคมทูลฯ จะต้องมีข้อมูลรอบด้าน ส่วนจะส่งเรื่องถึงนายกฯ เมื่อใด ยังตอบไม่ได้ แต่ตอนนี้ความรับผิดชอบอยู่ที่ตน ที่ต้องดูว่าข้อมูลครบถ้วน รอบด้านแล้วหรือยัง ซึ่งหากตนอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติม อาทิ จะไปพบกับใคร ควรจะเก็บประเด็นใดอีก ก็จะทำไปจนกว่าจะครบถ้วน และทุกอย่างจะทำอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา หารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อะไรที่พูดได้จะเล่าให้สังคมฟัง เพราะต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงทั้งหมด ไม่คลุมเครือ

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่า หลังจากนี้กระแสต่อต้านจะมีมากขึ้น นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า รอประเมินเป็นระยะ ซึ่งจากประสบการณ์ที่เป็นผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติมา พอรู้ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง สำหรับเจตนาของตนมีอย่างเดียวเท่านั้น คือ ทำให้พระพุทธศาสนารุ่งเรือง ยั่งยืน มั่นคง อยู่กับสังคมไทย ไม่มีความเสียหาย

** “วิษณุ” แย้มต้องดูความคาดหวัง ปชช.ด้วย

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อทาง พศ.ส่งเรื่องมายังรัฐบาล นายสุวพันธุ์จะเป็นผู้รับไว้ ก่อนที่จะทำความเห็นเสนอมายังตน เพื่อให้ทำความเห็นส่งต่อไปยังนายกฯ ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยไม่มีการกำหนดกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ ส่วนการนำเรื่องการกราบบังคมทูลฯ ต้องดูความเหมาะสมหลายๆอย่าง แต่ยืนยันว่า รัฐบาลทำตามหน้าที่ ประกอบด้วย 3 ประการ คือ ตามกฎหมาย ตามประเพณี และตามความคาดหมายของประชาชน ซึ่งการทำหน้าที่ ก็ต้องแล้วแต่ความเหมาะสมนั้นๆ อาทิ หน้าที่ของคณะสงฆ์ จะต้องคำนึงถึงพระธรรมวินัยมาก่อนกฎหมาย แล้วจึงถึงจารีตประเพณี ซึ่งหาก มส.ด้ประชุมไปแล้ว และส่งมติมาแล้ว ก็ถือว่า มส.ทำหน้าที่เสร็จแล้ว จากนั้นจะเป็นหน้าที่รัฐบาล เมื่อเรื่องมาถึงรัฐบาล จะต้องใช้กฎหมาย ประเพณีที่เคยปฏิบัติ และใช้ความคาดหมายของประชาชนมาเป็นตัวประกอบ เนื่องจากรัฐบาลบริหารประเทศ ต้องคำนึงถึงความถูกต้อง ความพอใจ ความยอมรับของประชาชน ส่วนถ้าขัดกันแล้วสิ่งใดจะชนะนั้น กฎหมายย่อมชนะแน่นอน ทั้งนี้ขอย้ำว่า รัฐบาลไม่ได้ถือว่ากระแสคัดค้านมาเป็นหลัก แต่ต้องดูด้วยว่า ผลของการคัดค้านนั้น นำไปสู่สิ่งใด หากนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อย รัฐบาลจะต้องทำให้สงบเรียบร้อยเสียก่อน

"ไม่ว่ารัฐบาลใดก็ตาม จะไม่นำเรื่องที่เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม เป็นเรื่องที่มีคนยังวิพากษ์วิจารณ์ ต่อต้าน เกิดความไม่สงบขึ้นกราบบังคมทูลฯ เป็นอันขาด แต่เมื่อเกิดเรื่องขึ้นแล้วจะทำอย่างไร บางครั้งก็มีอยู่หลายวิธี ที่จะทำได้ ซึ่งผมไม่ขอพูดอะไรต่อไป" นายวิษณุ กล่าว

** ยกกรณีอดีตเคยว่างเว้น “สังฆราช”

นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของขั้นตอน เมื่อเรื่องมาถึงรัฐบาลแล้ว ไม่มีกรอบกำหนดว่าจะต้องนำขึ้นกราบบังคมทูลฯ เมื่อไร ซึ่งนายกฯได้พูดแล้วว่า จะต้องให้เรื่องสงบเสียก่อน ซึ่งตนกับนายกฯไม่ได้พูดขัดกันแต่อย่างใด โดยตนกับนายกฯได้พูดคุยกันถึงเรื่องนี้โดยละเอียดตลอดเวลา ทุกอย่างจะเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ได้หนักใจ

เมื่อถามว่า การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชนั้น ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาลหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า หากตนตอบคำถามดังกล่าวอาจถูกตีความเป็นอย่างอื่น ดังนั้นขอให้เป็นกุศโลบาย ซึ่งคำนี้มาจากคำว่า กุศล บวก อุบาย ซึ่งรัฐบาลจะต้องรู้สำหรับกุศโลบายนี้ เรื่องนี้เป็นไปได้ทุกอย่าง เพราะที่ผ่านมาในอดีตเมื่อครั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 7 ของไทยสิ้นพระชนม์ ได้ใช้เวลาห่างจากองค์ก่อนหน้านั้น 37 ปี และเมื่อผ่านไป 2 รัชกาล คือ รัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 6 จึงได้สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชวัดบวรนิเวศ และเมื่อท่านเป็นสมเด็จพระสังฆราชได้ 2 ปี ก็สิ้นพระชนม์ หลังจากนั้นทิ้งไปอีก 11 ปี จึงได้สถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ดังนั้น หากจะเอาตามประเพณีแล้วก็มีทุกแบบ จึงจะมาอ้างว่า ต้องเร็ว หรือช้า ไม่ได้ เพราะในทุกคราวต่างมีเหตุผลด้วยกันทั้งนั้น จึงต้องดูความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ดำรงรักษาการ สามารถปฏิบัติพระราชภารกิจทุกอย่างได้ทั้งหมด

"กรณีที่ยังมีกระแสคัดค้านนั้น จะต้องมีการหาทางแก้ปัญหาว่า ขัดข้องอะไร จำเป็นอะไรที่จะต้องตั้งหากยังมีความขัดแย้งอยู่ การรักษาการต่อไป แล้วจะเกิดปัญหาอย่างไร ถ้ารักษาการต่อไปจะเกิดความเข้าใจผิดหรือไม่ เมื่อเทียบกับการตั้งแล้วจะเกิดอะไร ทั้งหมดนี้ต้องนำมาดูแล้วทำความเข้าใจ ส่วนข้อคัดค้านสมเด็จวัดปากน้ำ ก็ต้องดูว่าเพราะอะไร ต้องดูหนังสือพระพุทธะอิสระที่ยื่นมาว่าตั้งข้อกล่าวหาอย่างไร ซึ่งรัฐบาลต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงในข้อกล่าวหานั้นเสียก่อน" นายวิษณุ กล่าว

** เผย มส.มติเอกฉันท์เลือก “สมเด็จช่วง”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมติ มส.วาระพิเศษ เมื่อวันที่ 5 ม.ค.59 ในการพิจารณาเสนอรายชื่อสมเด็จพระราชาคณะ เพื่อทูลเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ที่ทาง พศ.ส่งเรื่องไปยังรัฐบาลแล้วนั้น ในการประชุมวันดังกล่าวมีกรรมการ มส.เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 17 รูป โดยมี 3 รูป ไม่ได้เข้าร่วมประชุม คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เนื่องจากถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดสัมพันธวงศาราม และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสุทัศนเทพวราราม เนื่องจากอาพาธ ซึ่งในระหว่างการประชุม สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นผู้เสนอรายชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เพียงรูปเดียว และที่ประชุมก็มีมติเป็นเอกฉันท์.

** ขู่ “ม็อบพระ” มาแน่ถ้า รบ.ดองเรื่อง

ด้านพระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่มีผู้เรียกร้องให้รัฐบาลตีความขั้นตอนการเสนอรายชื่อสมเด็จพระราชาคณะ เพื่อทูลเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชว่า เป็นกระบวนการเพื่อสร้างเรื่องให้เกิดเงื่อนไข กวนน้ำให้ขุ่น เพื่อต้องการให้กระบวนการในการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต้องล่าช้า ทั้งที่ขั้นตอนต่างๆ ที่ทาง มส.ดำเนินการนั้น เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนเดียวกับเมื่อครั้งที่มีการเสนอรายชื่อสมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร ขึ้นทูลเกล้าฯสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

"หากพบว่ารัฐบาลมีการดองเรื่อง พระสงฆ์ทั่วประเทศก็พร้อมที่จะนัดรวมตัวกันแสดงสังฆามติ ให้รัฐบาลได้เห็น ซึ่งขณะนี้มีกระแสตอบรับจากพระสงฆ์จำนวนมาก เหมือนกับเมื่อครั้งที่จะนัดรวมตัวกันเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวทางของคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน" พระเมธีธรรมาจารย์ ระบุ

** ยื่นค้านชื่อเจ้าอาวาสวัดปากน้ำฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในส่วนของกระแสต่อต้านสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ปรากฎว่า นอกเหนือจากกลุ่มศิษยานุศิษย์องค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด ที่ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ถวายคืนพระราชอำนาจ ในการสถาปนาและปฏิบัติต่อสมเด็จพระสังฆราช เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ โดยระบุว่าเป็นความต้องการของเสียงประชามติ 1.7 ล้านรายชื่อไปเมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดได้มีกลุ่มพุทธศาสนิกชนคนปทุมธานี ได้เข้ายื่นหนังสือคัดค้านการเสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์เป็นสังฆราชองค์ใหม่ ถึงให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล พศ. เนื่องจากเห็นถึงความไม่เหมาะสมของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ที่มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกายด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น