xs
xsm
sm
md
lg

ก.แรงงานยัน รปภ.ไม่จบ ม.3 กว่า 2.7 แสนรายไม่ตกงานแน่! ผนึกหลายองค์กรเร่งปรับวุฒิการศึกษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ก.แรงงาน ผนึกหลายองค์กร “ปรับวุฒิการศึกษา” ช่วย รปภ.ไม่จบ ม.3 กว่า 2.7 แสนรายที่ได้รับกระทบจาก พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย ปี 58 ย้ำ ไม่ตกงานแน่ “กศน.” วาง 2 ทางเลือก เทียบโอน 6 เดือนและเพิ่มวุฒิ ด้าน “สตช.” เปิด 20 สถานที่ฝึกอบรมฟรี

วันนี้ (8 มิ.ย.) นายสุวิทย์ สุมาลา รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการประชุมหาแนวทางการจัดการศึกษาให้กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ที่ได้รับผลกระทบจากพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 ตามนโยบายรัฐบาลให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของ รปภ.ซึ่งไม่จบ ม.3 กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ว่า ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 ควบคุม รปภ.ที่ทำงานอยู่เดิมในส่วนของผู้ที่ไม่สำเร็จการศึกษา ม.3 ประมาณ 2.7 แสนคนไม่มีผลกระทบต่อการทำงาน ยังสามารถทำงานต่อไปได้

“วันนี้เรามีความเห็นร่วมกันว่าเราจะช่วยประเทศชาติโดยการยกระดับความรู้ของคนไทยที่เป็น รปภ.2.7 แสนคนที่มีวุฒิต่ำกว่า ม.3 ให้ได้มีโอกาสปรับวุฒิการศึกษาตามที่กฎหมายกำหนด โดยความร่วมมือของกระทรวงแรงงาน กศน. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นายจ้าง ลูกจ้าง เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้คนเหล่านั้นได้มีการเทียบวุฒิการศึกษา โดยนำมาตรฐานวิชาชีพเป็นองค์ประกอบในการที่จะไปเทียบโอน”

ทั้งนี้ การสำเร็จการศึกษาวุฒิ ม.3 นั้น สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กำหนดให้มี 2 ทางเลือก ได้แก่ (1) การเทียบระดับชั้น (เทียบโอน) ในหลักสูตรเร่งรัด 6 เดือน จะมีค่าใช้จ่ายจำนวน 3,000 บาท ซึ่งต้องผ่านการประเมินประสบการณ์ การประเมินความรู้ความคิด การสอบข้อเขียน และการสัมมนาวิชาการ (2) การเรียนเพิ่มวุฒิแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย ใช้เวลาเรียนไม่น้อยกว่า 2 ปี

อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงาน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน. ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ในระบบเข้ารับการศึกษานอกโรงเรียนจาก กศน. ซึ่งนายจ้างยินดีให้การสนับสนุนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย สำหรับกระทรวงแรงงานจะมีการวางโรดแมปการดำเนินงานและให้เสร็จสิ้นภายในสัปดาห์นี้เพื่อให้เป็นไปตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานต่อไป

สำหรับสถานที่การฝึกอบรม ในระยะเริ่มแรกหากสถานที่ฝึกอบรมไม่เพียงพอ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เตรียมสถานที่ฝึกอบรมหลักสูตรรักษาความปลอดภัย ทั้งหมด 20 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ กองบังคับการฝึกอบรมตำรวจกลางที่ศาลายา ศูนย์ฝึกอบรมภาค 1-8 ศูนย์ฝึกอบรม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในส่วนของตำรวจตระเวนชายแดนกองกำกับ 1-9 ของกองกำกับการพิเศษ จำนวน 9 แห่ง รวมเป็น 20 แห่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น