สปส. เผย “รพ.ตำรวจ - ราชวิถี - เลิดสิน” ตอบรับโอนย้ายผู้ประกันตนจาก รพ.เดชา 4 หมื่นราย เร่งให้ใช้สิทธิได้ใน 16 พ.ค. นี้ พบติดหนี้ รพ.จุฬาฯ 23 ล้านบาท ค้างจ่ายเงินสมทบ 8 ล้านบาท รวมกว่า 32 ล้านบาท จ่อพิจารณาเลิกเป็นคู่สัญญา ด้าน กสร. เร่งทวงนายจ้างจ่ายเงินพนักงาน
จากกรณีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) สั่งปิดโรงพยาบาลเดชาชั่วคราวเป็นเวลา 60 วัน เนื่องจากไม่สามารถบริหารจัดการให้มีบุคลากรปฏิบัติงานเต็มเวลาได้ตามมาตรฐานโรงพยาบาลขนาด 100 เตียง ตามที่ขออนุญาต จนกว่าจะมีการปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ ยังมีปัญหา บริษัท ศรีอยุธ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เช่าและบริหารโรงพยาบาลเดชา ค้างจ่ายเงินเดือนบุคลากรมากว่า 4 เดือนแล้ว จนมีบุคลากรออกมาเรียกร้องและยื่นเรื่องต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ให้ความช่วยเหลือนั้น
ล่าสุด วันนี้ (13 พ.ค.) มีการแถลงข่าวมาตรการเยียวยาผู้ประกันตน 40,027 คน หลังกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) สั่งปิดโรงพยาบาลเดชา โดย นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้กรมการจัดหางาน (กกจ.) ได้เร่งหาตำแหน่งงานว่างให้แก่ลูกจ้าง รพ.เดชา โดยจากการประสานงานกับภาคเอกชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะงานธุรการ บัญชี รวมถึงตำแหน่งงานอื่น ๆ ในโรงพยาบาล 2 แห่ง ได้รับแจ้งว่าสามารถรับบุคลากรทางการแพทย์ได้รวมกว่า 300 คน
นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการ สปส. กล่าวว่า ขณะนี้มีโรงพยาบาลรัฐ 3 แห่ง ได้ตอบรับโอนย้ายผู้ประกันตนจากโรงพยาบาลเดชา คือ โรงพยาบาลตำรวจ รับโอนย้าย 1 หมื่นคน ส่วนที่เหลืออีกกว่า 3 หมื่นคน จะเฉลี่ยโอนไปยังโรงพยาบาลเลิดสิน และโรงพยาบาลราชวิถี ซึ่ง สปส. จะเร่งออกบัตรรองรับสิทธิ และให้ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. นี้ โดยผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบทางเว็บไซต์ของ สปส. www.sso.go.th หรือสายด่วน 1506 รวมทั้งจะมีการแจ้งไปยังสถานประกอบการด้วย และระหว่างวันที่ 12 - 15 พ.ค. นี้ ผู้ประกันตนที่มีบัตรรับรองสิทธิโรงพยาบาลเดชา สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หรือหากเข้ารักษาที่รพ.รัฐแห่งอื่น ๆ ก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่หากเข้ารักษา รพ.เอกชน สปส. ก็จะจ่ายค่ารักษาตามเกณฑ์ที่กำหนด
นายโกวิท กล่าวว่า รพ.เดชา เป็นคู่สัญญากับ สปส. ตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งจะมีการต่อสัญญาปีต่อปี โดยการต่อสัญญา รพ.เดชา ในปี 2559 นั้น ได้มีการประเมินแล้วว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานในการให้บริการทางแพทย์ โดยมีเตียง 100 เตียง แพทย์ไม่น้อยกว่า 12 สาขา แพทย์ประจำไม่น้อยกว่า 4 สาขา และไม่เคยมีปัญหาถูกร้องเรียนในเรื่องการให้บริการทางการแพทย์ ส่วนเรื่องสถานะทางการเงิน สปส. ไม่เคยเข้าไปตรวจสอบ รพ.เอกชน ที่จะเข้ามาเป็นคู่สัญญา แต่ในช่วงต้นปี 2559 ได้มีหนังสือจาก รพ.จุฬาฯ ซึ่งเป็น รพ. รับส่งต่อผู้ป่วยจาก รพ.เดชา แจ้งทวงเงินค่ารักษามายัง สปส. เป็นเงิน 23 ล้านบาท และ รพ.เดชา ยังติดค้างเงินสมทบ สปส. อีกกว่า 8 ล้านบาท ซึ่งน่าจะค้างจ่ายประมาณ 1 ปี รวมเป็นยอดหนี้ทั้งหมด 32 ล้านบาท
“ปกติแล้วเมื่อผู้ป่วยเกินความสามารถโรงพยาบาล จะต้องส่งโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า ซึ่ง รพ.เดชา จะส่งต่อไปยัง รพ.จุฬาฯ ที่ผ่านมา รพ.เดชา ก็มีการตามจ่ายเงินค่ารักษาบริการทางการแพทย์ตรงนี้ให้แก่ รพ.จุฬาฯ แต่ภายหลัง รพ.เดชา ไม่ได้จ่ายเงินให้ รพ.จุฬาฯ เลย ทำให้เกิดเป็นหนี้จำนวนมากถึง 23 ล้านบาท ซึ่งปัญหาการไม่จ่ายเงิน รพ.จุฬาฯ หรือการค้างจ่ายเงินสมทบนั้น อาจเกิดจากปัญหาขาดสภาพคล่องภายในของ รพ.เดชา เอง ทั้งนี้ สปส. จะหารือกันว่าจะมีการต่อสัญญากับ รพ.เดชา หรือไม่ หาก รพ.เดชา จะมาเป็นคู่สัญญาอีก ก็ต้องมาสมัครเพื่อรับการประเมินใหม่ นอกจากนี้ จะนำเรื่องของสถานะทางการเงินของ รพ. ที่จะเข้ามาเป็นคู่สัญญา มาเป็นส่วนหนึ่งประกอบการพิจารณาการทำสัญญาด้วย อย่างไรก็ตาม ตอนนี้จะต้องเยียวยาผู้ประกันตนก่อนโดยโอนย้ายไปยัง 3 โรงพยาบาลดังวกล่าว” เลขาธิการ สปส. กล่าว
นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ รองอธิบดี กสร. กล่าวว่า กสร. ได้มีแนวทางช่วยเหลือลูกจ้าง รพ.เดชา ทั้ง 206 คน ให้ได้รับค่าจ้าง ซึ่งนายจ้างค้างจ่าย โดยเจรจากับนายจ้าง และขอให้นำหลักฐานการค้างจ่ายค่าจ้างมาชี้แจง แต่ขณะนี้ผู้บริหาร รพ.เดชา ยังไม่รับนัดหมาย ขณะเดียวกัน ก็ใช้มาตรการทางกฎหมายควบคู่ไปด้วย โดยสัปดาห์หน้าจะออกหนังสือคำสั่ง ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง หากไม่ปฏิบัติตามภายใน 30 วัน กสร. จะแจ้งความดำเนินคดี และจะนำเรื่องฟ้องร้องต่อศาล เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย ขณะเดียวกัน กสร. จะสามารถนำเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง มาช่วยเหลือลูกจ้าง รพ.เดชา ได้ แต่ช่วยเหลือรายละไม่เกิน 18,000 บาท ทั้งนี้ ทราบว่า รพ. กำลังหาผู้ลงทุนรายใหม่ หากตกลงกันได้ ก็จะทำให้ลูกจ้างได้ค่าจ้าง
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่